"แมร์เคิล" เผยผู้นำ EU อาจคว้าน้ำเหลวตั้งกองทุนฟื้นฟู ขณะการประชุมเข้าสู่วันที่ 3

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday July 19, 2020 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เปิดเผยในวันนี้ว่า ผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) อาจไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องการจัดตั้งกองทุนเยียวยาเศรษฐกิจวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร (8.55 แสนล้านดอลลาร์) ในการประชุมวันนี้ เนื่องจากชาติสมาชิกยังมีความขัดแย้งกันอย่างมากเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว

"ดิฉันไม่สามารถบอกได้ว่าที่ประชุมจะพบทางออก มีความตั้งใจดีมากมาย แต่ก็มีความแตกต่างด้วยเช่นกัน ฉันจะพยายามอย่างเต็มที่ แต่เป็นไปได้ที่จะไม่มีการบรรลุข้อตกลงในวันนี้" นายกฯ เยอรมนีกล่าวกับนักข่าวก่อนที่การประชุมวันที่ 3 จะเริ่มต้นขึ้น

รายงานข่าวระบุว่า นางแมร์เคิลจะร่วมกับประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และนายชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป และเจ้าภาพจัดการประชุม ในการจัดเตรียมข้อเสนอใหม่เพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง หลังจากที่นายกรัฐมนตรี มาร์ก รุตเตอ และชาติพันธมิตร ขัดขวางการทำข้อตกลง

ทั้งนี้ ผู้นำ 27 ชาติของสหภาพยุโรปประชุมร่วมกันต่อเป็นวันที่ 3 ในวันนี้ หลังจากที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร เพื่อช่วยเยียวยาเศรษฐกิจ EU จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากประเทศสมาชิกบางประเทศมองว่าวงเงินช่วยเหลือมีขนาดใหญ่เกินไป และไม่เห็นด้วยกับการให้เปล่า แต่ควรให้ในรูปแบบเงินกู้มากกว่า

บรรดาผู้นำชาติสมาชิก EU ได้เดินทางไปรวมตัวกันที่กรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม เพื่อจัดการประชุมสุดยอดเป็นเวลา 2 วันในวันศุกร์และเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมแบบเผชิญหน้ากันครั้งแรกนับตั้งแต่ที่รัฐบาลประเทศต่างๆ เริ่มประกาศล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เมื่อเดือนมี.ค.

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับแผนฟื้นฟู จึงตัดสินใจประชุมต่ออีก 1 วันในช่วงเที่ยงวันอาทิตย์นี้ ตามเวลาท้องถิ่น

เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของ EU ได้เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร โดยประกอบด้วยเงินให้เปล่าจำนวน 5 แสนล้านยูโร และเงินกู้ 2.5 แสนล้านยูโรสำหรับชาติสมาชิก EU ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ดี สมาชิก EU ยังคงมีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขในการรับความช่วยเหลือจากกองทุนดังกล่าว รวมถึงการจัดสรรเงินช่วยเหลือ และการกำกับดูแลการใช้เงิน

โดยเงินส่วนหนึ่งของกองทุนดังกล่าวจะถูกจัดสรรให้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากวิกฤตการระบาดโดยไม่ต้องชำระคืน และที่เหลือเป็นเงินกู้ ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 เช่น อิตาลี และ สเปน จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากแผนฟื้นฟูดังกล่าว

ขณะที่เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และออสเตรีย หรือ Frugal Four (สี่ตระหนี่) คัดค้านการให้เงินแบบให้เปล่า และขอให้ประเทศที่ได้รับเงินกู้จะต้องทำการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อแลกกับการได้รับเงินกู้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ