ไบเดนต้องคิดใหม่กรณีอนาคตสหรัฐในฐานะผู้นำศก.เอเชีย หลังชวดข้อตกลงสำคัญ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 24, 2020 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ริชาร์ด ฟอนเทน อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศซึ่งเคยทำหน้าที่ในกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า รัฐบาลชุดใหม่ของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจจะต้องคิดใหม่เรื่องอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากรัฐบาลของเขาจะก้าวเข้าสู่ยุคที่สหรัฐไม่ได้มีส่วนในข้อตกลงการค้าเสรีที่สำคัญใดๆ เลย ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกนั้นหันมาร่วมมือกันเอง

ความคิดเห็นดังกล่าวมีขึ้น หลังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ลงนามในข้อตกลงการค้าสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

แต่เดิมนั้น รัฐบาลสหรัฐสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา เคยมีส่วนในการเจรจาข้อตกลง TPP แต่ไม่เคยได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรส และหลังจากนั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้นำสหรัฐออกจากข้อตกลงดังกล่าว ทำให้อีก 11 ชาติสมาชิกที่เหลือของข้อตกลง TPP ได้ลงนามในข้อตกลง Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) แทน

ข้อตกลง CPTPP ซึ่งครอบคลุมเศรษฐกิจโลกประมาณ 13% มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดกำแพงภาษีสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ผ่อนคลายข้อจำกัดการลงทุน และยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดย 11 ชาติสมาชิกข้อตกลงที่ว่านี้ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม

และเมื่อไม่นานมานี้ ผู้นำกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งมีสมาชิก 10 ประเทศ และคู่เจรจา 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ลงนามในความตกลง RCEP โดยเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมประชากร 2.2 พันล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรทั้งโลก อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกันถึง 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30% ของ GDP โลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ