"เจพีมอร์แกน" คาดสกุลเงินเอเชียอาจอ่อนค่าปีนี้ แม้เฟดมีแนวโน้มหั่นดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 14, 2024 10:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางจูเลีย หวัง กรรมการบริหารและนักกลยุทธ์ตลาดโลกของบริษัทเจพีมอร์แกน ไพรเวท แบงก์ คาดการณ์ว่า สกุลเงินต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียอาจจะอ่อนค่าลงในปีนี้ แม้มีสัญญาณบ่งชี้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเร็ว ๆ นี้ก็ตาม

ที่ผ่านมานั้น สกุลเงินของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่มักจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยและสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง แต่นางหวังกล่าวว่า สถานการณ์เช่นนั้นอาจจะไม่เกิดขึ้นในปีนี้ เนื่องจากคาดว่าดอลลาร์อาจจะได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือซอฟต์แลนดิ้ง มากกว่าที่จะเผชิญกับภาวะถดถอย

"มีความเป็นไปได้ว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอาจจะยังคงอยู่ในภาวะฟื้นตัว" นางหวังให้สัมภาษณ์ในรายการ "Squawk Box Asia" ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซีเมื่อวานนี้ (13 มี.ค.)

ขณะที่นายแซคเตียนดี ซูแพท หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ด้านปริวรรตเงินตราของเมย์แบงก์แสดงความเห็นว่า "การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนอาจจะเป็นปัจจัยสนับสนุนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปีนี้ ผมคาดว่าสกุลเงินในภูมิภาคเชียนั้นจะไม่แข็งค่าขึ้น แต่คาดว่าดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าตามทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐที่ทำผลงานได้ดีในขณะนี้ เนื่องจากนักลงทุนกลุ่มที่คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยนั้น ต่างก็มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะอยู่ในภาวะซอฟต์แลนดิ้งมากกว่าจะถดถอย"

อย่างไรก็ดี นายซูแพทระบุว่า สกุลเงินเอเชียแข็งค่าขึ้นอย่างมากในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดกระแสคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง

ด้านนักวิเคราะห์หลายรายกล่าวว่า สกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย เช่น เงินหยวนของจีนและเงินรูปีของอินเดียนั้น อาจจะแข็งค่าขึ้นจากการที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ และคาดว่าเงินวอนของเกาหลีใต้จะเป็นหนึ่งในสกุลเงินเอเชียที่แข็งค่ามากที่สุด โดยไซมอน ฮาร์วีย์ หัวหน้านักวิเคราะห์ด้านปริวรรตเงินตราจากบริษัทโมเนกซ์คาดการณ์ว่า เงินวอนจะแข็งค่าขึ้นราว 5% - 10% หากสหรัฐปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างมาก และคาดว่าเงินวอนอาจจะแข็งค่าขึ้นเพียง 3% หากสหรัฐปรับลดดอกเบี้ยลงไม่มากนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ