ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI อ่อนตัววันนี้ กังวลอุปทานล้นตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 9, 2015 20:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ปรับตัวลงในวันนี้ จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานล้นตลาด

ณ เวลา 19.48 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนเม.ย. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลบ 35 เซนต์ หรือ 0.71%แตะ 49.26 ดอลลาร์/บาร์เรล สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 27 ก.พ. พุ่งขึ้น 10.3 ล้านบาร์เรล แตะ 444.4 ล้านบาร์เรล ขณะที่สต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคุชชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้น 500,000 บาร์เรล แตะ 49.2 ล้านบาร์เรล

นอกจากนี้ ราคาน้ำมัน WTI ยังได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ภายหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 295,000 รายในเดือนก.พ. หลังจากเพิ่มขึ้น 239,000 รายในเดือนม.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 5.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปีครึ่ง จากระดับ 5.7% ในเดือนม.ค.

ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 240,000 รายในเดือนก.พ. และอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ 5.6%

โกลด์แมน แซคส์ ออกรายงานระบุว่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลง สวนทางการพุ่งขึ้นในระยะนี้ เนื่องจากจะถูกกดดันจากปริมาณสต็อกน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงพุ่งสูง โดยคาดว่าราคาน้ำมันสหรัฐมีแนวโน้มดิ่งลงแตะระดับ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นเกือบ 1 ใน 3 ระหว่างเดือนม.ค.และก.พ. ขณะที่การผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางเผชิญภาวะชะงักงันจากความไม่สงบในภูมิภาค ขณะที่อุปสงค์เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว และโรงกลั่นมีมาร์จิ้นกำไรสูงขึ้น

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังระบุว่า การแข็งค่าของดอลลาร์เป็นสาเหตุสำคัญที่กดดันราคาน้ำมัน หลังจากที่ดอลลาร์พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 11 ปีครึ่ง จากการคาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเกินคาด จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้

นายอับดุลลาห์ อัล-บาดรี เลขาธิการกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) กล่าวว่า โอเปกไม่ควรลดกำลังการผลิตเพื่อไปชดเชยให้ Shale Oil ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า ซึ่งขณะนี้มีการผลิตเป็นจำนวนมากในอเมริกาเหนือ

ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมาจนถึงกลางปี 2014 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ในช่วงสูงกว่า 100 ดอลลาร์เกือบตลอดเวลา ทำให้ผู้ผลิต Shale Oil ฟันกำไรจากส่วนต่างของต้นทุนและราคาได้ประมาณ 35-45 ดอลลาร์ได้อย่างเต็มที่เสมอมา เป็นผลให้ปริมาณการผลิต Shale Oil ของโลก โดยเฉพาะจากสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 4-5 ปีมานี้ และได้มีอิทธิพลต่อตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ

การผลิตน้ำมันจาก Shale Oil มีราคาต้นทุนสูงกว่าการผลิต Crude Oil โดยอยู่ที่ 40-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ต้นทุนของ Crude oil อยู่ที่ 20-30 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งโอเปกก็รู้ถึงจุดอ่อนของ Shale Oil นี้ดี จึงเป็นที่มาของการนิ่งเฉยปล่อยให้ราคาน้ำมันดิ่งลงเรื่อยๆ โดยหวังว่าจะทำให้บริษัทที่ผลิต Shale Oil ขาดทุน และออกจากตลาด เหลือเพียงโอเปกเป็นเจ้าครองตลาดน้ำมันโลกต่อไป

และจากการที่โอเปกต้องการทุบ Shale Oil ให้ปิดฉากการผลิต จึงคาดว่าโอเปกจะต้องรักษาสภาวะน้ำมันล้นตลาดต่อไป เพื่อกดราคาน้ำมันในตลาดโลกให้ต่ำไปอีกระยะหนึ่ง หลังจากนั้น จึงจะกลับมาหาทางกระตุ้นราคาน้ำมัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ