ทรัมป์พร้อมเผชิญหน้าพันธมิตร G7 ที่แคนาดาเดือนหน้า สางปมสงครามการค้า-สัมพันธ์สั่นคลอน

ข่าวต่างประเทศ Friday May 23, 2025 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาวแถลงเมื่อวันพฤหัสบดี (22 พ.ค.) ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1517 มิ.ย.นี้ ณ เมืองคานานาสคิส รัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา

ก่อนหน้าการประชุมระดับผู้นำครั้งนี้ รัฐมนตรีคลังของชาติสมาชิก G7 รวมถึงสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ได้พบปะประชุมกันที่แคนาดาในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับความเสี่ยงจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการภาษีตอบโต้ระหว่างประเทศ

การเยือนแคนาดาของทรัมป์ในครั้งนี้จะถูกจับตาอย่างมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ทรัมป์เคยเสนอแนวคิดให้แคนาดาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ และใช้นโยบายกำแพงภาษีที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าที่มีมูลค่าการซื้อขายสินค้าและบริการรวมกันกว่า 9.16 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567

ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ จะเป็นประเด็นสำคัญในการหารือครั้งนี้ ซึ่งชาติพันธมิตรหลายประเทศเตรียมใช้เวทีนี้ต่อรองเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีที่อาจกระทบเศรษฐกิจของตน

แม้ว่าในเดือนนี้ สหรัฐฯ ประกาศข้อตกลงการค้ากับสหราชอาณาจักร แต่รายละเอียดกลับไม่เป็นไปตามที่ทรัมป์อ้างว่าเป็น "ข้อตกลงที่ครอบคลุมและสมบูรณ์" ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ กับจีนก็ตกลงชะลอการเก็บภาษีตอบโต้ระหว่างกันชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้การเจรจาดำเนินต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า เขาจะลดการเจรจากับหลายประเทศ และจะใช้วิธีการกำหนดระดับภาษีเองฝ่ายเดียว ซึ่งแนวทางนี้ก่อให้เกิดความกังวลว่าอาจซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจโลกให้ทรุดตัวลง

นอกจากความขัดแย้งทางการค้าแล้ว การประชุม G7 ครั้งนี้ยังเกิดขึ้นท่ามกลางความพยายามของสหรัฐฯ ในการยุติสงครามที่รัสเซียก่อขึ้นในยูเครน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างความตึงเครียดกับพันธมิตรชาติตะวันตกของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่ม G7 ประกอบด้วย สหรัฐฯ แคนาดา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น โดยการประชุมในเดือนมิ.ย.นี้จะเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งที่ 3 ของทรัมป์นับตั้งแต่เขากลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งเมื่อต้นปีนี้

สำหรับจุดร่วมที่เป็นไปได้ระหว่างผู้นำ G7 คือการเผชิญหน้ากับจีนในเวทีการค้า โดยหลายประเทศเริ่มใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นต่อจีน เพื่อให้สอดรับกับแนวนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการจำกัดอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในเวทีโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ