บราซิลจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด BRICS ครั้งที่ 17 ที่นครรีโอเดจาเนโร ในวันที่ 6-7 ก.ค. แต่จะไม่มีผู้นำของจีนและรัสเซียเข้าร่วมการประชุมแต่อย่างใด
นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย จะไม่เข้าร่วมการประชุม BRICS โดยตรง แต่จะเข้าร่วมการประชุมผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
"รีโอเดจาเนโรจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด BRICS ในวันที่ 6-7 ก.ค. และท่านประธานาธิบดีจะเข้าร่วมการประชุมเต็มคณะผ่านระบบวิดีโอลิงก์ในวันที่ 6 ก.ค." นายเพสคอฟกล่าวนอกจากนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน จะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอด BRICS ในครั้งนี้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ปธน.สีไม่ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีดังกล่าวนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2556 หรือเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี
นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน จะเป็นผู้นำคณะผู้แทนจีนเข้าร่วมการประชุม BRICS ในครั้งนี้ หลังจากที่เขาเคยเป็นตัวแทนของจีนในการประชุม G20 ที่กรุงนิวเดลีในปี 2566
ทางการจีนแจ้งสาเหตุของการที่ปธน.สีไม่สามารถเข้าร่วมการประชุม BRICS ในครั้งนี้เนื่องจากติดภารกิจอื่น อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่บราซิลมองว่าอาจมีเหตุผลอื่นอยู่เบื้องหลัง โดยมีการมองว่าการที่บราซิลเชิญนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำแบบรัฐพิธี อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ปธน.สีตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพราะการที่ประธานาธิบดีลูอิซ อีนาซีโอ ลูลา ดา ซิลวา ผู้นำบราซิล และนายโมดีได้รับความสนใจในการประชุมครั้งนี้ อาจทำให้ปธน.สีกลายเป็นเพียง "ตัวประกอบ" ในการประชุม
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่บราซิลแสดงความไม่พอใจต่อการที่ปธน.สีตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุม โดยแหล่งข่าวระดับสูงในกรุงบราซิเลียเปิดเผยว่า ปธน.ลูลาได้เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาเพื่อแสดงไมตรีจิต และคาดหวังว่าปธน.สีจะตอบรับด้วยการเข้าร่วมประชุม BRICS ที่นครรีโอเดจาเนโรด้วยตนเอง
ด้านเจ้าหน้าที่จีนระบุว่า ปธน.สีและปธน.ลูลาได้พบปะกันมาแล้วถึง 2 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา จากการที่ปธน.สีได้เยือนกรุงบราซิเลียในเดือนพ.ย.2566 และในการประชุม China-CELAC ที่กรุงปักกิ่งในเดือนพ.ค.2567 ทำให้จีนมองว่าการพบกันตัวต่อตัวระหว่างปธน.สีและปธน.ลูลาอีกครั้งอาจไม่มีความจำเป็น
อย่างไรก็ตาม บราซิลยังคงมองว่าการไม่เข้าร่วมของปธน.สีถือเป็นการไม่ให้ความสำคัญของจีน โดยนายเซลโซ อาโมริม ที่ปรึกษาพิเศษด้านกิจการระหว่างประเทศของปธน.ลูลา ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาหารือกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา โดยนายอาโมริมกล่าวว่า "BRICS ที่ไม่มีจีน ก็ไม่ใช่ BRICS และในการประชุม BRICS ปี 2553 ปธน.หู จิ่นเทา ก็ยังเข้าร่วมการประชุม แม้จะอยู่แค่วันเดียว แต่เขาก็ยังมา"
สื่อรายงานว่า การไม่ปรากฎตัวของปธน.สีในครั้งนี้อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของความแตกแยกภายใน BRICS โดยเฉพาะในขณะที่จีนและอินเดียต่างกำลังแสดงบทบาทผู้นำระดับโลก และบราซิล ซึ่งต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย ก็เริ่มรับรู้ถึงแรงกดดันดังกล่าว
ทั้งนี้ บราซิลจะเป็นประธานจัดการประชุมสุดยอด BRICS ครั้งที่ 17 โดยมีวาระสำคัญเกี่ยวกับประเด็นสาธารณสุข การค้า การลงทุน การเงิน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การจัดการด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงประเด็นสันติภาพและความมั่นคง
กลุ่ม BRICS ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 โดยขณะนี้มีสมาชิกรวม 10 ชาติ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินโดนีเซีย