In Focusผวาอาวุธเคมีซีเรีย จับตาสหรัฐกับบทบาทหนังหน้าไฟในตะวันออกกลาง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 28, 2013 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นาทีนี้คงไม่มีข่าวไหนที่จะสร้างความหวั่นใจให้กับประชาคมโลกได้มากไปกว่าข่าว "อาวุธเคมีซีเรีย" ซึ่งนอกจากจะกระตุกต่อมหวาดผวาได้อย่างชะงัดแล้ว ยังได้ฉุดตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหวระเนระนาดไปตามๆกัน เมื่อตลาดหุ้นร่วงหนัก นักลงทุนก็พากันทุ่มซื้อสินทรัพย์ที่อ่อนไหวต่อสงคราม รวมถึงสัญญาน้ำมันดิบและสัญญาทองคำ ส่งผลให้สัญญาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งสองประเภทพุ่งฉิวอย่างไม่ลืมหูลืมตาในการซื้อขายเมื่อคืนที่ผ่านมา

การสังหารประชาชนชาวซีเรียกว่า 1,300 คนอย่างโหดเหี้ยมด้วยอาวุธเคมีเมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ "ตำรวจโลก" ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ โดยเฉพาะภาพของร่างอันไร้วิญญาณของเด็กๆ ที่ถูกวางเรียงเป็นแถวในพื้นที่ใกล้กรุงดามัสกัส ซึ่งทำให้โอบามารู้สึกเจ็บปวดไปถึงขั้วหัวใจ เพราะเขายังไม่ลืมภาพเหตุการณ์ที่คนร้ายควงปืนบุกเข้าไปโรงเรียนประถมแซนดี้ ฮุก เมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเน็กติกัต แล้วกราดยิงเด็กเล็กๆเสียชีวิต 20 คน และผู้ใหญ่ 6 คน เมื่อช่วงปลายเดือนธ.ค. 2555 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เราได้เห็นโอบามาออกแถลงการณ์ทั้งน้ำตา นับเป็นภาพข่าวที่โด่งดังไปทั่วโลกในช่วงเวลานั้น

ทันทีที่ข่าวการสังหารหมู่กว่า 1,300 ศพในซีเรียถูกเผยแพร่ออกไป สหรัฐซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของชาติมหาอำนาจก็นั่งไม่ติดเก้าอี้ เร่งระดมความเห็นของบรรดาประเทศพันธมิตรเพื่อหยั่งเชิงว่า ศึกตอบโต้ซีเรียครั้งนี้มีใครจะเอาด้วย ขณะที่เพื่อนรักตลอดกาลของสหรัฐอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และออสเตรเลีย ต่างก็เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน เพื่อประเมินสถานการณ์และตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึกว่า ประธานาธิบดีบาซาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรีย เป็นคนสั่งฆ่าประชาชนหรือไม่ ด้านนายอัล-อัสซาด ออกมาปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่รู้ไม่เห็น แถมยังขู่สำทับว่า นี่เป็น "เรื่องภายใน" ของซีเรีย "คนนอก" อย่าเข้ามายุ่ง ถ้าไม่อยากเดือดร้อน

* 21 ส.ค.2556 วันแห่งความเจ็บปวดที่ชาวซีเรียไม่มีวันลืม

เช้าตรู่ของวันที่ 21 ส.ค.2556 ในขณะที่ประชาชนในแถบชานกรุงดามัสกัสกำลังหลับสบาย โดยเฉพาะในหมู่บ้านซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาล มีผู้เห็นเหตุการณ์ที่สารเคมีที่มีพิษร้ายแรงพวยพุ่งออกมาจากจรวดที่ยิงตกลงมาหลายลูก ส่งผลให้เด็กเล็กและผู้หญิงเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เพราะหนีไม่ทัน มีเสียงกรีดร้องระงมไปทั่วบริเวณที่เกิดเหตุ โรงพยาบาลหลายแห่งแน่นขนัดไปด้วยร่างของผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ การที่อุปกรณ์ทางการแพทย์มีไม่เพียงพอยังทำให้ผู้ที่น่าจะมีโอกาสรอด กลับต้องเสียชีวิตลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งคาดว่ายอดผู้เสียชีวิตในครั้งนี้มีไม่ต่ำกว่า 1,300 คน ในจำนวนนี้มีเด็กเสียชีวิตจำนวนมาก และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างมากมายเช่นกัน

ในธรรมเนียมของการทำศึกนั้น การใช้อาวุธเคมีในสงครามถือเป็นกลยุทธ์ที่โหดเหี้ยม เลวร้าย และไร้ศักดิ์ศรี โดยที่ผ่านมาส่วนใหญ่อาวุธเคมีถูกใช้ในสงครามทำลายล้างระหว่างประเทศ หรือผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ มากกว่าที่จะนำมาใช้เข่นฆ่าเพื่อนร่วมแผ่นดินเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองกังวลว่า หากมีพฤติกรรมเลียนแบบการใช้อาวุธเคมี สงครามกลางเมืองในหลายประเทศอาจกลายเป็นสงครามล้างเผ่าพันธุ์ที่ร้ายแรงไปโดยปริยาย

ในเบื้องต้น ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่า สารเคมีที่ใช้ในการสังหารหมู่ครั้งนี้น่าจะเป็นสารซาริน (Sarin) เมื่อดูจากสภาพของผู้เสียชีวิตหมู่มากที่ตายพร้อมกันทันทีด้วยระบบหายใจล้มเหลวและไม่มีบาดแผล

ทั้งนี้ สารซาริน เป็นสารทำลายประสาท ลักษณะเป็นของเหลว ไร้สี ไร้กลิ่นสามารถเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีการดูดซึมทางลมหายใจหรือผิวหนัง ความเร็วในการออกฤทธิ์รวดเร็วและรุนแรง หากสูดดมเข้าไปโดยตรง เพียงแค่ 70 มิลลิกรัม ก็ทำให้เสียชีวิตได้ หากผู้เคราะห์ร้ายบางคนได้รับเข้าไปไม่มาก อาจจะรอดชีวิตแต่จะกลายเป็นอัมพาตในที่สุด

*จับตาท่าทีสหรัฐ จะลุย หรือ รามือ!

อันที่จริง ซีเรียติดกลุ่มประเทศโลกอาหรับที่สหรัฐอยากกำราบให้อยู่หมัดมานานหลายทศวรรษ โดยเฉพาะเมื่อช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองในซีเรียเมื่อเดือนมี.ค.2554 หลังจากที่ประชาชนจำนวนมากพากันเดินขบวนเพื่อขับไล่นายอัล-อัสซาด ลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะไม่สามารถทนการกดขี่ข่มเหงของผู้นำจอมเผด็จการคนนี้ได้ วิกฤตสงครามกลางเมืองในซีเรียยังคงยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน และเข้าสู่ภาวะตึงเครียดอย่างหนักอีกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์โจมตีด้วย “อาวุธเคมี" ที่ชานกรุงดามัสกัส เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,300 คน ซึ่งฝ่ายรัฐบาลและกบฏซีเรียต่างออกมากล่าวโทษซึ่งกันและกัน แต่ดูเหมือนประชาคมโลกจะพุ่งเป้าไปที่รัฐบาลของนายอัล-อัสซาดมากกว่า

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐได้ออกมาส่งสัญญาณอย่างไม่ขาดสายว่า สหรัฐพร้อมแล้วที่จะลุยซีเรียให้ราบคาบ โดยล่าสุดสดๆร้อนๆเมื่อวานนี้ นายชัค ฮาเกล รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ กล่าวกับบีบีซีว่า สหรัฐพร้อมเปิดฉากโจมตีซีเรีย หากประธานาธิบดีโอบามาสั่งการลงมา

เหตุการณ์ที่ทำให้สหรัฐมีอาการ "ควันออกหู" ครั้งหลังสุดก็คือ รัฐบาลซีเรียยอมเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เข้าไปในเขตอัล-โกตา กรุงดามัสกัส เพื่อตรวจสอบว่าซีเรียใช้อาวุธเคมีตามที่มีการกล่าวหาจริงหรือไม่ แต่ปรากฎว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ยูเอ็นลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่จริง กลับมีมือมืดใช้ปืนสไนเปอร์ถล่มทีมเจ้าหน้าที่จนแตกกระเจิง แม้จะโชคดีที่ไม่มีใครได้รับอันตราย แต่การกระทำของมือปืนผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ก็ทำเอาทุกฝ่ายอกสั่นขวัญหายไปตามๆกัน

เมื่อถูกลูบคมทั้งต่อหน้าและลับหลัง โอบามาก็เริ่มชั่งใจว่า จะใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตีซีเรียหรือไม่ หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์รายงานล่าสุดว่า โอบามากำลังตัดสินใจที่จะใช้กำลังทางทหารในวงจำกัดต่อซีเรีย พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าโอบามาอาจจะตัดสินใจโดยอิงกับ 3 ปัจจัย ประการแรกคือการประเมินข่าวกรองอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับความผิดของรัฐบาลซีเรียในการใช้อาวุธเคมีสังหารประชาชนเมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ประการที่สองคือการปรึกษาหารืออย่างต่อเนื่องกับประเทศพันธมิตรและสภาคองเกรส และประการที่สามคือการประเมินเหตุผลภายใต้กฎหมายสากล

นอกจากนี้ ยังมีข่าวเล็ดรอดออกมาอีกว่า เรือพิฆาตของกองทัพเรือสหรัฐเตรียมเคลื่อนพลเข้าไปประชิดน่านน้ำซีเรียแล้ว รอเพียง “ไฟเขียว" จากประธานาธิบดีโอบามาเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในวันนี้ นายเจย์ คาร์นีย์ โฆษกทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ว่า ประธานาธิบดีโอบามาจะประกาศการตัดสินใจอย่างเป็นทางการภายในสัปดาห์นี้ว่า สหรัฐจะใช้กำลังทางทหารเพื่อจัดการกับซีเรียหรือไม่ พร้อมกับกล่าวว่า ขณะนี้มีหลักฐานเพียงพอที่ทำให้โอบามาเชื่อมั่นว่า รัฐบาลซีเรียของนายอัล-อัสซาดเป็นผู้สั่งการให้ใช้อาวุธเคมีสังหารประชาชน เนื่องจากกลุ่มกบฏต่อต้านนายอัล-อัสซาดไม่มีความสามารถมากพอที่จะทำเช่นนั้นได้

* ย้อนรอยสงครามกลางเมืองซีเรีย

สงครามกลางเมืองซีเรียถือเป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในโลกอาหรับ หรือ "อาหรับสปริง" (Arab Spring) อย่างแท้จริง แต่สงครามชนชาติเดียวกันเข่นฆ่ากันเองในซีเรียนั้น ดูจะเป็น "ดราม่าอาหรับสริง" ที่ซับซ้อนกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน สงครามกลางเมืองซีเรียปะทุขึ้นตั้งแต่เดือนมี.ค. 2554 เมื่อประชาชนจำนวนมากพากันเดินขบวนเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ลงจากตำแหน่ง และเพื่อยุติการยึดอำนาจในรัฐสภาของพรรคบาธของอัล-อัสซาด ซึ่งนำโดยนายอัล-อัสซาด ที่ครองเสียงข้างมากมานานกว่า 4 ทศวรรษ

ต่อมาในเดือนเม.ย. 2554 รัฐบาลของนายอัล-อัสซาดได้ใช้กำลังกองทัพทหารเพื่อปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง โดยมีรายงานว่าทหารได้รับคำสั่งให้เปิดฉากยิงใส่ผู้ชุมนุม หลังจากที่มีการปิดล้อมมาเป็นเวลานานหลายเดือน การประท้วงได้บานปลายกลายเป็นจลาจล โดยกลุ่มผู้ประท้วงได้ลุกขึ้นจับอาวุธ และมีการจัดตั้งกองกำลังฝ่ายค้าน ซึ่งประกอบด้วยทหารที่แปรพักตร์จากรัฐบาลและอาสาสมัครพลเรือน รัฐบาลซีเรียระบุว่าการก่อกบฏครั้งนี้เป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธและทหารรับจ้างต่างด้าว

เหตุการณ์ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนสันนิบาตอาหรับ สหรัฐ สหภาพยุโรป และอีกหลายประเทศได้ออกมาประณามการใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วง จากนั้นสันนิบาตอาหรับได้ระงับสมาชิกภาพของซีเรีย กระทั่งในเดือนก.ค 2555 กาชาดสากลประเมินความขัดแย้งซีเรียว่าเป็น "การขัดแย้งกันด้วยอาวุธระหว่างประเทศ" จึงได้มีการบังคับใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาเจนีวาต่อซีเรีย

สหประชาชาติประเมินว่า สงครามกลางเมืองในซีเรียได้คร่าชีวิตผู้คนไม่ต่ำกว่า 100,000 คน มีผู้สูญหาย 28,000 คน รวมถึงพลเรือนที่ถูกลักพาตัวด้วยกำลังทหาร นับเป็นเหตุการณ์สูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อที่รุนแรงมากเหตุการณ์หนึ่งในสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นทั่วโลก

สงครามได้ยืดเยื้อมาจนกระทั่งถึงวันที่ 21 ส.ค.2556 ซึ่งถือเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้ทั่วโลกหันมาจับตาซีเรียอีกครั้ง เมื่อสื่อต่างประเทศรายงานว่า มีการใช้อาวุธเคมีสังหารหมู่ประชาชนนอกกรุงดามัสกัสกว่า 1,300 คน

* รู้จักประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย ประเทศเล็กๆ บนคาบสมุทรอาหรับ

อาจกล่าวได้ว่า ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด กลายเป็นผู้นำที่ทั่วโลกกล่าวขานถึงมากที่สุดตลอดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมของประชาชนที่ต้องการโค่นเขาลงจากอำนาจ ได้บานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง อัล-อัสซาดเกิดเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2508 ที่กรุงดามัสกัส เป็นบุตรคนที่ 3 จากทั้งหมด 5 คน ของนายพลฮาเฟซ อัล-อัสซาด ซึ่งปกครองซีเรียมานานเกือบ 30 ปี จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในตำแหน่งเมื่อปี 2543

ตอนแรกนั้น อัล-อัสซาดไม่ได้รับการวางตัวจากบิดาให้เป็นผู้สืบทอดอำนาจ แต่เนื่องจากพี่ชายคือ บาสเซล เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ และเนื่องจากบุตรคนแรกของครอบครัวเป็นบุตรสาว นายอัล-อัสซาด จึงลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแบบพอเป็นพิธี เนื่องจากการแข่งขันครั้งนี้ไม่มีใครกล้าลงแข่งด้วย ซึ่งก็แน่นอนว่า นายอัล-อัสซาดได้รับคะแนนจากประชาชนไปอย่างท่วมท้น

นายอัล-อัสซาดสมรสกับ อัสมา อัล-อัคห์ราส ชาวอังกฤษเชื้อสายซีเรีย เมื่อปี 2543 และมีบุตรร่วมกัน 3 คน นายอัล-อัสซาดนอกจากจะพูดภาษาอาหรับแล้ว เขายังสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว และสามารถสนทนาภาษาฝรั่งเศสระดับพื้นฐานได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมา องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง และสื่อต่างชาติอีกหลายสำนัก ได้นำเสนอรายงานตีแผ่เรื่องราวที่นายอัล-อัสซาด ตั้งหน่วยตำรวจลับเพื่อจับกุมผู้ที่แสดงตนว่าต่อต้านรัฐบาลมาจำคุก ทรมานร่างกาย หรือสังหารอย่างเหี้ยมโหด ทำให้หลายฝ่ายเริ่มจับจ้องมายังซีเรีย แม้ว่านายอัล-อัสซาด จะออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดก็ตาม

นายอัล-อัสซาดถูกประชาคมโลกจับตาอย่างไม่ลดละ บ้างก็อยากให้ผู้นำคนนี้แอ่นอกยอมรับอย่างลูกผู้ชายว่าเป็นผู้บงการสังหารประชาชนจริง บ้างก็อยากเห็นเขารับผลแห่งการกระทำของตนเอง ในตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์เอบีซีของสหรัฐ เมื่อ 2 ปีก่อน นายอัล-อัสซาดยืนยันว่า รัฐบาลซีเรียไม่ได้เข่นฆ่าประชาชนของตัวเองอย่างแน่นอน เว้นเสียแต่ว่าผู้นำคนนั้นจะเป็น "คนบ้า" ... ออกโรงปกป้องตัวเองอย่างแข็งขันขนาดนี้ คงต้องรอดูหลักฐานในภายภาคหน้าว่า จะเป็นไปตามคำกล่าวอ้างหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ