Analysis: ผู้เชี่ยวชาญชี้"โดนัลด์ ทรัมป์"ไม่มีอิทธพลยุบนาโต้ แม้ได้นั่งปธน.สหรัฐ

ข่าวการเมือง Thursday March 31, 2016 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่า แม้ว่าทรัมป์ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี ก็ไม่ได้มีอำนาจมากมายที่จะยุบองค์กรแห่งนี้ซึ่งยืนหยัดมานานเกือบ 70 ปี

นายทรัมป์ได้ปรากฎตัวในรายการ "This Week" ของสถานีโทรทัศน์ ABC ของสหรัฐ โดยได้แสดงความคิดเห็นว่า องค์กรยุคสงครามเย็นอย่างนาโต้ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียมนั้น "เป็นองค์กรที่ล้าสมัยแล้ว" หลังเกิดเหตุก่อการร้ายสุดสะเทือนใจในบรัสเซลส์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มหาเศรษฐีจากนิวยอร์กผู้นี้เสริมว่า นาโต้ไม่ได้ดูแลด้านก่อการร้าย และไม่มีประเทศสมาชิกที่แข็งแกร่งพอที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้

"นาโต้ถือกำเนิดขึ้นในยุคสหภาพโซเวียต ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ารัสเซียในวันนี้หลายเท่า ผมไม่ได้บอกว่ารัสเซียไม่ใช่ภัยคุกคาม แต่เรามีภัยคุกคามอื่นด้วย เรามีภัยคุกคามก่อการร้าย" นายทรัมป์กล่าวในรายการ "This Week"

การแสดงความเห็นครั้งนี้ของนายทรัมป์มีขึ้นหลังเกิดเหตุก่อการร้ายครั้งรุนแรงที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 35 คน โดยผู้ก่อการร้ายได้กดระเบิดเนลบอมบ์ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน 3 ลูกในกรุงบรัสเซลส์ ซึ่งทางกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ได้ออกมาแสดงตัวอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้

นายทรัมป์ได้มาออกมาโจมตีประธานาธิบดีบารัค โอบามา โดยระบุว่าการโต้ตอบกลุ่ม IS เป็นไปอย่างอ่อนแอ ซึ่งสอดคล้องกับสมาชิกพรรครีพับลิกันหลายรายที่มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า ปธน.โอบามาด้อยความสามารถในการโต้ตอบภัยคุกคาม

ทั้งนี้ นายทรัมป์ได้รับคะแนนนิยมจากบรรดาผู้สนับสนุนแนวคิดต่อต้านก่อการร้าย ในขณะที่กลุ่ม IS กำลังผงาดขึ้นมาพิสูจน์ศักดาการโจมตีนอกตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม มีข้อกังขาว่านายทรัมป์จะจริงจังกับสิ่งที่พูดออกไปหรือไม่ เพราะนักธุรกิจผู้มีบุคลิกโฉ่งฉ่างผู้นี้ มักพูดสิ่งที่คิดออกมาทันทีโดยไม่ได้ไตร่ตรองเป้าหมายนโยบายในระยะยาว

"ประธานาธิบดีไม่ได้มีอำนาจเพียงฝ่ายเดียวที่จะล้มเลิกข้อตกลงทางทหารที่สำคัญ แต่แน่นอนสิ่งที่ทำได้คือการลดพลังและคุณค่าข้อตกลงเหล่านั้น" ดาร์เรล เวสท์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันบรูคคิงส์เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัว "ไม่ว่าจะด้วยมติด้านงบประมาณหรือบุคลากร ประธานาธิบดีสามารถใช้อิทธิพลเพื่อกำหนดทิศทางว่าสหรัฐจะมีความเกี่ยวข้องกับประเทศอื่นๆในแนวทางใดและประเทศใดบ้างที่มีความสำคัญลำดับแรกๆ เขาสามารถระดมกำลังในแนวทางที่ตนและผู้บัญชาการทหารเห็นควรว่าเหมาะสม

"การยุบนาโต้ถือเป็นการส่งสัญญาณเชิงลบอย่างมากต่อโลก เนื่องจากเป็นการสะท้อนว่าสหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรที่พึ่งพาไม่ได้ ในขณะที่ประเทศต่างๆก็ไม่สามารถคาดหวังการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากสหรัฐได้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ"

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม คาดว่าสภาคองเกรสสหรัฐอาจจะไม่อนุมัติเงินสนับสนุนในกรณีที่มีการเปลี่ยแปลงขนานใหญ่ในองค์การนาโต้

"การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในนาโต้นั้น จะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส ซึ่งก็ไม่น่าเป็นไปได้ที่คองเกรสจะทำแบบนั้น ไม่ว่าผู้กุมอำนาจในสภาคองเกรสจะเป็นฝั่งรีพับลิกันหรือเดโมแครตก็ตาม" เวสท์กล่าว

บทวิเคราะห์โดยแมทธิว รัสลิง จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ