จีนเปิดฉาก "ประชุมสองสภา" เผยปัญหาเศรษฐกิจคือประเด็นหลักที่พรรคคอมมิวนิสต์กังวล

ข่าวต่างประเทศ Monday March 4, 2024 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุมสองสภาประจำปีของจีนเริ่มต้นขึ้นแล้วในวันนี้ (4 มี.ค.) โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนกล่าวว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการว่างงานในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวนับเป็นประเด็นที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่พวกเขาหารือเกี่ยวกับแผนการสำหรับปีนี้

อนึ่ง การประชุมสองสภาประจำปีของจีนประกอบด้วยการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติ (CPPCC) ซึ่งเริ่มต้นในวันนี้ และการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ซึ่งจะเริ่มต้นในวันนี้พรุ่งนี้ (5 มี.ค.)

เจ้าหน้าที่ตำรวจติดอาวุธและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรัฐประจำการอยู่ตามท้องถนนในกรุงปักกิ่ง เนื่องจากมีผู้เดินทางมาร่วมการประชุมเป็นจำนวนหลายพันคน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า การประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติเริ่มต้นขึ้นในเวลา 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง โดยนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดี และบรรดาผู้นำระดับสูงของพรรคพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เข้าร่วมพิธีเปิด ซึ่งการประชุมจะดำเนินไปจนถึงวันที่ 10 มี.ค.

ในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ (3 มี.ค.) นายหลิว เจียอี้ โฆษกการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติ ได้เน้นย้ำว่าประเด็นด้านเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญที่สมาชิกพรรคมากกว่า 2,000 คน มีความกังวลเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงสถานการณ์การจ้างงานของคนวัยหนุ่มสาว

"การจ้างงานของคนวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งจบการศึกษานั้น .. ตามข้อมูลของทางการพบว่าอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวอยู่ที่ประมาณ 15% ณ สิ้นปี 2566" นายหลิวกล่าว โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นตัวเลขที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวนแล้ว

รายงานระบุว่า การประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาตินับว่ามีความสำคัญน้อยกว่า เมื่อเทียบกับการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ

นายโหลว ฉินเจี่ยน โฆษกการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ กล่าวในการแถลงข่าวในวันนี้ว่า การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจะเริ่มต้นในวันพรุ่งนี้ (5 มี.ค.) และจะดำเนินไปจนถึงวันที่ 11 มี.ค.

ทั้งนี้ การประชุมสองสภาในปีนี้คาดการณ์ว่าจะไม่มีการเปิดเผยแผนการช่วยเหลือที่มีนัยสำคัญ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีการเติบโตอ่อนแอที่สุดในรอบหลายทศวรรษในปีที่แล้ว


แท็ก รัฐบาลจีน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ