SpaceX ทดสอบ Starship ล้มเหลวอีก เสียจรวดทั้ง 2 ท่อน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 28, 2025 14:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จรวดสตาร์ชิป (Starship) ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ประสบความล้มเหลวอีกครั้งเมื่อค่ำวันอังคาร (27 พ.ค.) นับเป็นการสูญเสียส่วนบนของยานสตาร์ชิปรุ่นอนาคตติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 และสร้างผลกระทบครั้งใหม่ต่อเป้าหมายการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารของบริษัท

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จรวดสตาร์ชิปความสูง 122 เมตร ทะยานขึ้นเมื่อเวลา 19.37 น. ของวันอังคาร ตามเวลาท้องถิ่น (10.37 น. ของวันพุธที่ 28 พ.ค. ตามเวลาไทย) จากฐานปล่อยจรวดสตาร์เบส (Starbase) ของสเปซเอ็กซ์ ใกล้เมืองโบคาชิกา รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐฯ

ทั้งจรวดส่วนขับดันซูเปอร์เฮฟวี (Super Heavy booster) และส่วนบนของยานสตาร์ชิปถูกทำลายระหว่างการทดสอบ ภารกิจนี้นับเป็นความพยายามครั้งแรกในการนำจรวดส่วนขับดันซูเปอร์เฮฟวีกลับมาใช้ซ้ำในโครงการสตาร์ชิป

"เราสูญเสียการควบคุมการทรงตัว" แดน ฮูโอต โฆษกสเปซเอ็กซ์ ประกาศระหว่างการถ่ายทอดสดของบริษัท ฮูโอตกล่าวว่า ยานอวกาศ "เกิดการรั่วไหลในระบบถังเชื้อเพลิงบางส่วนภายในยานสตาร์ชิป"

จรวดส่วนแรกซูเปอร์เฮฟวี ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เชื้อเพลิงมีเทน 33 เครื่อง ประสบความล้มเหลวอย่างรุนแรงขณะที่เครื่องยนต์จุดระเบิดซ้ำเพื่อลงจอดในอ่าวเม็กซิโก สเปซเอ็กซ์ได้ตั้งโปรแกรมโดยเจตนาให้จรวดส่วนขับดันดังกล่าวดำเนินการตามเส้นทางการลดระดับที่มีความเค้นสูงกว่าปกติ อันเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบเชิงทดลอง

ในเบื้องต้น ส่วนบนของยานสตาร์ชิปทำงานได้ดี อย่างไรก็ตาม ประตูห้องบรรทุกสัมภาระเปิดออกได้ไม่สุด ส่งผลให้ไม่สามารถปล่อยดาวเทียมสตาร์ลิงก์จำลอง 8 ดวง ซึ่งออกแบบมาเพื่อทดสอบขีดความสามารถในการปล่อยสัมภาระ

เมื่อยานอวกาศสูญเสียการควบคุมการทรงตัวอันเนื่องมาจากการรั่วไหลของระบบเชื้อเพลิง จึงไม่สามารถปรับทิศทางได้อย่างเหมาะสมเพื่อกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ในที่สุด ผู้ควบคุมภารกิจตัดสินใจ "passivate" อันหมายถึงการระบายเชื้อเพลิงขับเคลื่อนที่เหลือทั้งหมดออกไป เพื่อให้แน่ใจว่ายานจะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศอย่างควบคุมไม่ได้เหนือมหาสมุทรอินเดีย

ความล้มเหลวของเที่ยวบินทดสอบครั้งที่ 9 นี้ ยังคงเป็นรูปแบบที่น่ากังวลสำหรับการออกแบบยานสตาร์ชิป บล็อก 2 (Block 2) ของสเปซเอ็กซ์ ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้สร้างความท้าทายสำคัญต่อโครงการอาร์ทิมิส (Artemis program) ขององค์การนาซา ซึ่งต้องอาศัยยานสตาร์ชิปรุ่นปรับปรุงเพื่อนำนักบินอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ภายในปี 2570

ตามรายงานของเว็บไซต์สเปซไฟลต์นาว (Spaceflight Now) สเปซเอ็กซ์ "กำลังเผชิญแรงกดดันให้มีการปล่อยจรวดที่ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากยังไม่สามารถปฏิบัติภารกิจที่ประสบความสำเร็จด้วยจรวดสตาร์ชิปส่วนที่สอง รุ่นบล็อก 2 ได้เลย"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ