In Focus:“สโนว์เดน"แฉทุกความเคลื่อนไหวการสอดแนม นานาชาติตื่นตัวเรียกทูตชี้แจง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 6, 2013 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ย้อนไปเมื่อกลางปีที่แล้ว “เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน" อดีตพนักงานสัญญาจ้างของหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) และสำนักงานความมั่นคงแห่งสหรัฐ (NSA) ได้หลบมาอยู่ที่รัสเซียหลังได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี ภายหลังเขาเปิดโปงโครงการ “PRISM" ซึ่งเป็นโครงการสอดแนมระดับพระกาฬของสหรัฐและเป็นความลับสุดยอด ที่ถึงกับทำให้สหรัฐอยู่นิ่งไม่ได้และพยายามทำทุกทาง เพื่อติดตามสโนว์เดนมารับโทษข้อหาจารกรรมที่บ้านเกิด ซึ่งแน่นอนว่าสหรัฐก็คงต้องรอไปอีกครึ่งปีเพื่อให้สถานะลี้ภัยชั่วคราวสิ้นสุดลง

ในระหว่างนี้ชีวิตใหม่ในแดนหมีขาวของสโนว์เดนก็ไม่ได้ราบรื่นมากนัก เพราะทนายของเขาในรัสเซียระบุว่า สโนว์เดนแทบจะไม่มีเงินเหลือ และต้องดิ้นรนหางานทำจนในที่สุดได้งานเป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาเว็บไซต์รายใหญ่แห่งหนึ่งในรัสเซียซึ่งเริ่มงานไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนนี้ ทว่าบทบาทการทำงานของเขาดูเหมือนจะไม่ได้รับการเปิดเผยมากนัก เมื่อเทียบกับกระแสการเปิดโปงการสอดแนมของสหรัฐที่เขาเปิดเผยให้แก่สื่อต่างๆทั่วโลกอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนทั้งในทวีปยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

*สโนว์เดนเปิดใจหน่วยสอดแนมสหรัฐ, อังกฤษมีพฤติกรรมแย่สุด

นิตยสารแดร์ สปีเกลของเยอรมนีได้เปิดเผยจดหมาย"แถลงการณ์ข้อเท็จจริง" ของสโนว์เดนเมื่อวันที่ 4 พ.ย. โดยมีใจความว่า สำนักงานความมั่นคงสหรัฐ (NSA) และหน่วยความมั่นคงแห่งชาติของอังกฤษ (GCHQ) เป็นหน่วยงานสอดแนมที่มีพฤติกรรมแย่ที่สุด เพราะสอดแนมโดยไม่มีกรอบการควมคุมใดๆ ซึ่งจดหมายของเขามีการเผยแพร่ ภายหลังจากที่นสพ.เดอะการ์เดียนเปิดเผยข้อมูลลับที่ได้รับจากนายสโนว์เดนว่า GCHQ ร่วมมือทางเทคนิคกับหน่วยข่าวกรองของพันธมิตรชาติยุโรปได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส สวีเดน และสเปนมานานกว่า 5 ปี เพื่อทำการสอดแนมผ่านการดักจับข้อมูลจากเครือข่ายใยแก้วนำแสงโดยตรง ตลอดจนข้อมูลลับที่ระบุว่า NSA ทำการดักฟังผู้นำประเทศ 35 รายซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป รวมถึงนางแองเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้การสอดแนมของสหรัฐกลับมาอยู่ในสปอตไลท์อีกครั้ง

*ผู้นำเยอรมนี, บราซิลฉุนสหรัฐสอดแนมข้อมูลส่วนตัว

เมื่อปลายเดือนที่แล้ว นสพ.บิลด์อัมซอนทักของเยอรมนีเปิดเผยรายงานลับ โดยอ้างอิงหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐว่า สหรัฐสอดแนมโทรศัพท์มือถือของนางแมร์เคลมาเป็นเวลา 10 ปีย้อนไปตั้งแต่ปี 2545 สมัยที่นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ และนางแมร์เคลยังเป็นฝ่ายค้านของเยอรมนีอยู่ รายงานยังระบุว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้รับแจ้งเรื่องการสอดแนมนางแมร์เคลมาตั้งปี 2553 จากพล. อ. คีธ อเล็กแซนเดอร์ ผู้อำนวยการ NSA แต่ไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติการดังกล่าว เนื่องจากนางแมร์เคลถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของยูโรโซน

ภายหลังข่าวดังกล่าวแพร่สะพัดออกไป ก็ทำให้นางแมร์เคลถึงกับฉุนขาด ต่อสายตรงไปยังปธน.โอบามาเพื่อขอคำอธิบายเกี่ยวกับข่าวที่ออกมาดังกล่าว พร้อมกับตำหนิโอบามาด้วยความโกรธ และแสดงความฉุนเฉียวที่สหรัฐตอบคำเรื่องกรณีสุดฉาวของ NSA ได้อย่างล่าช้า นับตั้งแต่ที่ได้มีการเปิดโปงเรื่องการสอดแนมของ NSA โดยสโนว์เดน

ต่อมาเยอรมนีได้เรียกเอกอัครราชทูตสหรัฐเข้าพบเพื่อขอคำอธิบาย และส่งเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านหน่วยงานข่าวกรองเพื่อไปขอคำอธิบายถึงสหรัฐ ขณะที่ฝั่งสหรัฐเอง นางไดแอน ไฟน์สไตน์ ประธานคณะกรรมการหน่วยข่าวกรองของวุฒิภาสหรัฐได้ออกมาแจงว่า ปธน.โอบามาไม่เคยรู้ว่าสหรัฐเก็บข้อมูลของผู้นำประเทศพันธมิตร รวมถึงนางแมร์เคล พร้อมระบุว่าทำเนียบขาวเปิดเผยกับเธอว่า การเก็บข้อมูลเช่นนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก

แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศดูเหมือนระหองระแหง แถมเร็วๆนี้นายฮัน คริสเตียน สโตรเบเลอ ส.ส.ของเยอรมนีได้บินไปพบกับสโนว์เดนถึงรัสเซียเพื่อขอให้สโนว์เดนชี้แจงต่อรัฐสภาเยอรมนี ท่ามกลางข้อเสนอจากฝ่ายค้านหลายรายที่เรียกร้องให้เยอรมนีให้ที่ลี้ภัยแก่สโนว์เดนด้วยนั้น แต่สุดท้ายโฆษกของนางแมร์เคลเปิดเผยวานนี้ว่า นางแมร์เคลย้ำถึงความสำคัญของการเป็นพันธมิตรระหว่างเยอรมนีและสหรัฐ พร้อมเสริมว่าประเด็นว่าจะให้ที่ลี้ภัยแก่นายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนหรือไม่นั้น จะต้องไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศสั่นคลอน

สวนทางกับประธานาธิบดีดิลมา รูสเซฟฟ์ ทันทีที่มีการเปิดโปงรายงานลับว่า NSA เจาะข้อมูลบริษัทเปรโตรบาส ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐบาลบราซิล และยังสอดแนมอีเมลของเธอด้วยนั้น เธอก็ตัดสินใจเลื่อนการเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการซึ่งมีกำหนดในเดือนต.ค.ออกไป ตามแถลงการณ์ของทำเนียบประธานาธิบดีบราซิลระบุว่า ปธน.ดิลมาตัดสินใจเลื่อนการเยือนออกไป เนื่องจากปัญหาที่คาใจยังคงไม่คลี่คลาย

อย่างไรก็ตาม ผลจากการเปิดโปงข้อมูลสอดแนมของสหรัฐดังกล่าว ทำให้เยอรนีและบราซิลได้เสนอร่างมติต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาติ (ยูเอ็น) ว่าด้วยการต่อต้านการสอดแนมทางอิเล็คทรอนิคส์ที่มากเกินไป การเก็บข้อมูล และการละเมิดความเป็นส่วนตัวขนานใหญ่ ซึ่งแม้ว่าร่างดังกล่าวจะไม่ได้ระบุชื่อประเทศ แต่ทูตยูเอ็นก็ระบุว่า ร่างดังกล่าวมีเนื้อหามุ่งเป้าไปที่สหรัฐอย่างชัดเจน

*ข่าวสอดแนมไม่หมดไปง่ายๆ รายงานลับชี้สถานทูตเอี่ยวเป็นฐานสอดแนม

กระแสการเปิดโปงความลับของสโนว์เดนละรอกนี้เหมือนจะทำให้สถานทูตสหรัฐและพันธมิตรใหญ่ๆอย่าง อังกฤษ ออสเตรเลีย รวมถึงแคนาดาจะได้รับผลกระทบหนักสุด หลังมีรายงานจากหนังสือพิมพ์แดร์ สปีเกลเจ้าเดิม เปิดโปงโครงการการสอดแนมของสหรัฐที่ชื่อว่า “สเตทรูม" ซึ่งลอบดักสัญญาณโทรคมนาคมต่างๆ ผ่านอุปกรณ์ในหน่วยงานทางการทูตของสหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย และแคนาดา ประจำประเทศต่างๆ รวมถึงสถานทูตกรุงจาการ์ตา กรุงฮานอย กรุงกัวลาลัมเปอร์ และกรุงเทพฯ หลังมีข่าวนี้ออกไป หลายประเทศเพื่อนบ้านก็ออกมาแสดงความไม่พอใจ โดยอินโดนีเซียได้เรียกตัวทูตออสเตรเลียเข้ามาให้คำชี้แจงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะรมว.ต่างประเทศอินโดนีเซียเตือนว่า การดักฟังข้อมูลอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ขณะที่กระทรวงต่างประเทศมาเลเซียได้ยื่นจดหมายคัดค้านการสอดแนมให้แก่เจ้าหน้าที่ทูตออสเตรเลียและสหรัฐประจำกัวลาลัมเปอร์ พร้อมเผยว่าการสอดแนมไม่ใช่สิ่งที่พันธมิตรกระทำต่อกัน และเตือนในทางเดียวกันว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจได้รับผลกระทบไปด้วย

จนถึงขณะนี้ ข้อมูลการเปิดโปงโดยสโนว์เดนยังคงไหลมาอย่างไม่ขาดสาย สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับความไม่พอใจของนานาประเทศที่มีต่อสหรัฐที่มีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่กระนั้นก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีในอนาคตที่การสอดแนมเหล่านี้อาจทำให้หลายประเทศตระหนักถึงการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว รวมทั้งสหรัฐเองที่อาจตระหนักถึงภัยที่แฝงมากับการสอดแนมประเทศอื่นๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ