In Focusจับตาการเมืองจีน-ไต้หวัน หวั่นนโยบายรวมชาติบานปลายสู่สงคราม

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 20, 2021 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถานการณ์ช่องแคบไต้หวันเกิดความตึงเครียดอย่างหนักในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่กองทัพจีนส่งเครื่องบินรบเกือบ 150 ลำเข้าสู่น่านฟ้าไต้หวันอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นเดือนต.ค. ผนวกกับผู้นำจีนประกาศเสียงหนักแน่นว่าต้องการรวมชาติกับไต้หวัน ทั่วโลกจึงพากันหวาดผวาถึงสงครามภูมิภาคครั้งใหม่ In Focus สัปดาห์นี้ จึงขอพาผู้อ่านเจาะวิกฤตสุดร้อนระอุ พร้อมกับจับตาความเคลื่อนไหวล่าสุด และประเมินความเป็นไปได้ของสงคราม

จีนปะทุเดือด : "สี จิ้นผิง" ประกาศรวมชาติ

"คนที่ลืมรากเหง้าของตัวเอง ทรยศต่อแผ่นดินแม่ และพยายามแบ่งแยกประเทศจะมีจุดจบไม่ดี พวกเขาจะถูกผู้คนดูหมิ่นและถูกประวัติศาสตร์ประณาม" นี่คือถ้อยแถลงที่หนักแน่นของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำแห่งแดนมังกร เนื่องในโอกาสครบรอบ 110 ปีแห่งการปฏิวัติจีนเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ซึ่งเผยให้เห็นถึงอุณหภูมิการเมืองที่ตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวัน โดยจีนประกาศกร้าวว่าต้องการรวมชาติกับไต้หวันอย่างสันติภายใต้นโยบายหนึ่งประเทศ สองระบบ

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยจีนพยายามแสดงแสนยานุภาพทางการทหารในช่วงเฉลิมฉลองการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา จีนส่งเครื่องบินรบและเครื่องบินทิ้งระเบิดจำนวน 38 ลำเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) แถบชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของไต้หวัน ซึ่งถือเป็นจำนวนเครื่องบินที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์

ทว่าผ่านไปยังไม่พ้นวันดี เมื่อเช้าของวันที่ 2 ต.ค.จีนส่งเครื่องบินรบเข้ามาเพิ่มอีก 39 ลำ และอีก 16 ลำในวันที่ 3 ต.ค. สถานการณ์ดูท่าว่าจะยังไม่สงบลง เมื่อวันที่ 4 ต.ค. กระทรวงกลาโหมของไต้หวันเปิดเผยว่า จีนได้ส่งเครื่องบินรบรุกล้ำเข้าเขตน่านฟ้าไต้หวันอีกจำนวน 56 ลำ และภายในระยะเวลาเพียง 4 วัน จีนส่งเครื่องบินรบรุกล้ำน่านฟ้าของไต้หวันแล้ว 149 ลำ ซึ่งนับเป็นการรุกล้ำน่านฟ้าไต้หวันครั้งใหญ่ครั้งใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมา

ปฎิเสธไม่ได้ว่าการกระทำที่อุกอาจและก้าวร้าวของจีนสั่นคลอนเสภียรภาพในภูมิภาค นายซู เจินชาง นายกรัฐมนตรีของไต้หวัน ออกมาเรียกร้องให้ทางการจีนยุติการกระทำที่ยั่วยุ พร้อมวิจารณ์ว่าการรุกรานทางทหารของจีนนั้นบ่อนทำลายสันติภาพ

ด้านนายชิว กั๋วเจิ้ง รัฐมนตรีกลาโหมของไต้หวันยอมรับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวันตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดที่สุดในรอบ 40 ปี ซึ่งทำให้เกิดความกังวลกันว่า ปธน.สี จิ้นผิง กำลังพยายามที่จะรวมไต้หวันเข้ากับจีนแผ่นดินใหญ่โดยใช้กำลังทหารแบบที่เคยทำกับฮ่องกงเมื่อปีที่ผ่านมา

ไต้หวันพร้อมสู้ : ผู้นำลั่นจะไม่ยอมศิโรราบต่อจีน

หลังจากจีนประกาศรวมชาติเมื่อวันที่ 10 ต.ค. นางไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีหญิงแกร่งของไต้หวันซึ่งคว้าชัยชนะอย่างถล่มถลายด้วยนโยบายแยกตัวเป็นอิสระจากจีน ประกาศกร้าวเนื่องในโอกาสวันชาติไต้หวันว่า ไต้หวันจะไม่ยอมจำนนต่อแรงกดดันของจีนและจะปกป้องอำนาจอธิปไตยอย่างเต็มที่

แม้ไต้หวันจะกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อน นางไช่กล่าวย้ำอย่างหนักแน่นว่า ไต้หวันเป็นประเทศเอกราช ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีน และไม่มีวันรวมเข้ากับจีน พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลจีนยุติการข่มขู่คุกคามทางทหาร แต่หันหน้ามาพูดคุยกันเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยมีหลักความเสมอภาคเป็นพื้นฐาน

ความเด็ดเดี่ยวนี้ไม่ได้ปรากฎให้เห็นแค่ในตัวผู้นำฝ่ายพลเรือนเท่านั้น แต่ผู้นำกองทัพก็แสดงความแข็งกร้าวเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะยอมรับว่ากองทัพจีนอาจเพิ่มแสนยานุภาพในการบุกยึดไต้หวันอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2568 แต่นายชิว กั๋วเจิ้ง ผู้นำฝ่ายกลาโหมของไต้หวันประกาศว่าจะเดินหน้าปกป้องตัวเองเต็มกำลัง "หากจีนมีการเคลื่อนไหว เราก็จะพร้อมเปิดฉากสู้รบกับศัตรูอย่างเต็มที่"

กระแสไม่ต้องการรวมชาติกับจีนยังแสดงให้เห็นผ่านประชาชนทั่วไป โดยผลสำรวจของศูนย์การศึกษาการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อของไต้หวันเปิดเผยว่า การสนับสนุนไต้หวันให้แยกตัวเป็นอิสระจากจีนแตะระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ

เมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ผลการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนจำนวน 4,717 รายในไต้หวันพบว่า 25.8% ต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากจีน ขณะที่น้อยกว่า 10% ต้องการเห็นการรวมชาติกับจีน ซึ่งกระแสการแยกตัวเป็นอิสระจากจีนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา

เจ ไมเคิล โคล ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจากสถาบันไต้หวันนานาชาติระบุว่า ไต้หวันได้ผ่านจุดที่ต้องการหวนกลับไปรวมชาติกับจีนแล้ว การรวมชาติไม่น่าจะเป็นไปได้ เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงจุดยืนครั้งใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเรื่องเสรีภาพพลเมืองหรือจุดยืนของไต้หวันที่มีต่อจีน

มูลเหตุความขัดแย้ง : ท่าทีอันแข็งกร้าวของไต้หวัน

ปมความขัดแย้งล่าสุดระหว่างไต้หวันและจีนเริ่มปะทุขึ้นจากความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่นางไช่ ซึ่งมีแนวคิดต่อต้านจีนอย่างสุดโต่ง คว้าชัยชนะการเลือกตั้งเมื่อ 5 ปีก่อน รัฐบาลจีนภายใต้การนำของปธน.สี จิ้นผิง พยายามเพิ่มแรงกดดันทางเศรษฐกิจ การทหาร และการทูตต่อไต้หวันอยู่บ่อยครั้ง

รัฐบาลจีนมองว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีน และพยายามที่จะผนวกรวมไต้หวันให้กลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาโดยตลอด ด้วยการยึดหลักการจีนเดียวที่ถือว่าแม้จะแบ่งออกเป็น 2 ดินแดนเอกเทศ แต่ทั้งไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ก็คือจีนทั้งหมด ทว่าไต้หวันกลับมองตนเองว่าเป็นประเทศเอกราช และจะปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตยของตน

ไต้หวันภายใต้การนำของนางไช่ มีความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวมากขึ้นในการต่อต้านอำนาจจีนอย่างเปิดเผย แม้จะมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ให้การยอมรับ แต่ไต้หวันก็มีความสัมพันธ์อันดีกับหลายชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความแข็งแกร่งให้กับไต้หวันบนเวทีโลก แต่ยังทำให้จีนถูกกระตุกหนวดอยู่บ่อยครั้ง ในช่วงปีที่ผ่านมา คณะบริหารของอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเดินทางเยือนไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นการเดินทางเยือนไต้หวันเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีของเจ้าหน้าที่สหรัฐ และสร้างความไม่พอใจให้จีนเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ที่ระส่ำระสายระหว่างสหรัฐและจีนยิ่งส่งผลดีต่อไต้หวัน โดยไมเคิล โคล ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนแสดงความเห็นว่า "ไต้หวันตระหนักดีว่าประชาคมนานาชาติรวมถึงสหรัฐกำลังพยายามปรับตัวเข้าหาไต้หวันมากขึ้น และตระหนักถึงบทบาทของไต้หวันที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย"

ไม่เพียงแต่สหรัฐเท่านั้น หลายประเทศในภูมิภาคออกโรงปกป้องสิทธิในการปกครองตนเองของไต้หวันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยนายโนบุโอะ คิชิ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นกล่าวว่า ญี่ปุ่นจะตอบสนองทันที หากจีนพยายามเข้ายึดครองไต้หวันโดยใช้กำลัง ซึ่งสอดคล้องกับนายมาริส เพย์น รัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเลียที่ให้คำมั่นว่าจะกระชับความสัมพันธ์กับไต้หวันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ความเป็นไปได้ของสงครามนองเลือด : เสียงจากผู้เชี่ยวชาญ

หลังจากที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีนได้ส่งเครื่องบินรบเข้าใกล้ไต้หวันเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ เพื่อยกระดับการข่มขู่ทางทหารต่อไต้หวัน หลายประเทศเกิดความวิตกกังวลว่าสถานการณ์อาจบานปลายจนกลายเป็นสงครามภูมิภาค แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าการรุกล้ำน่านฟ้าไต้หวันเป็นแค่การเตือนจากจีนเท่านั้น

บอนนี กลาสเซอร์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียศึกษา กองทุนเยอรมัน มาร์แชลล์ แสดงความเห็นว่า การรุกล้ำที่อุกอาจของเครื่องบินจีนเหนือน่านฟ้าไต้หวันเป็นเพียงการแสดงความไม่พอโจ และเป็นการเตือนให้ไต้หวันและสหรัฐอย่าล้ำเส้นจีน

ความคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับเหวินตี้ ซุง ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาไต้หวันศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ที่มองว่าจีนยังไม่ต้องการที่จะเข้าโจมตีทางการทหารต่อไต้หวันในตอนนี้ โดยกล่าวว่า "ไต้หวันเป็นปัญหาสำคัญของจีน แต่ไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน จีนมองการรวมไต้หวันเป็นเป้าหมายทางการเมืองในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น เพราะจีนยังมีปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองภายในจีนเองด้วย เช่น วิกฤตของบริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป"

นอกจากนี้ อองเดร ลุนกู ประธานสถาบันโรมาเนียเพื่อการศึกษาเอเชียแปซิฟิก (RISAP) ระบุว่า การทำสงครามกับไต้หวันจะส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจของจีนเอง รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และภาพลักษณ์ของโลก ที่แย่ไปกว่านั้น ความขัดแย้งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะสงครามจะหมายถึงการต่อสู้และการฆ่าพี่น้องกันเอง

หลิน ยิงยู ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกิจการเอเชียแปซิฟิก ประจำมหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น ให้ความเห็นว่า การทำสงครามกับไต้หวันอาจเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จีนจะใช้ โดยย้ำว่าจีนต้องการผนวกรวมเกาะไต้หวันด้วยวิธีสันติมากกว่า

นับจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครสามารถคาดเดาบทสรุปของสถานการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวัน และไม่ทราบว่าจีนจะเดินหน้ารวมชาติกับไต้หวันอย่างสันติได้อย่างไร หรือสถานการณ์ไต้หวันจะลงเอยแบบฮ่องกงหรือไม่ เราคงต้องติดตามกันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ