In Focusรัสเซียผนวก 4 แคว้นยูเครน หวังเร่งเผด็จศึก-หาข้ออ้างใช้นิวเคลียร์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 5, 2022 12:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้อ้างผลการทำประชามติซึ่งจัดขึ้นในแคว้นทั้ง 4 ของยูเครนเพื่อประกาศการผนวกดินแดนของยูเครนอันได้แก่ แคว้นโดเนตสก์, ลูฮันสก์, เคอร์ซอน และซาปอริซเซีย เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ยูเครนและบรรดาชาติตะวันตกต่างมองว่า การลงประชามติผนวกดินแดนในครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อการข่มขู่เท่านั้น พร้อมยืนกรานที่จะคัดค้านการผนวกรวมดินแดนดังกล่าวอย่างเต็มที่

In Focus สัปดาห์นี้ จึงขอพาผู้อ่านทุกท่านไปสอดส่องท่าทีและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่มีต่อการทำประชามติผนวกรวมดินแดนในครั้งนี้ของรัสเซีย พร้อมจับตาการเคลื่อนไหวต่อจากนี้ของรัสเซีย ยูเครน และบรรดาชาติตะวันตก

*ประชามติผนวกดินแดน

เมื่อวันอังคารที่ 20 ก.ย. บรรดาผู้นำจากแคว้นโดเนตสก์, ลูฮันสก์, เคอร์ซอน และซาปอริซเซีย ซึ่งแต่งตั้งโดยรัสเซียหลังจากเข้ายึดครองได้ประกาศแผนการทำประชามติเพื่อแยกตัวออกจากยูเครนเพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งถือเป็นการท้าทายชาติตะวันตกและอาจจุดชนวนสงครามให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ถึงแม้ว่า นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินออกมาปฏิเสธว่า รัสเซียไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีที่ประชาชนในแคว้นทั้ง 4 จัดทำประชามติเกี่ยวกับการแยกตัวจากยูเครนเพื่อผนวกรวมเข้ากับรัสเซีย พร้อมตั้งคำถามกลับไปยังประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีว่า เหตุใดประชาชนจึงต้องการทำประชามติในครั้งนี้ แต่หลายฝ่ายยังคงเชื่อว่า การลงประชามติในครั้งนี้เป็นการกระทำโดยเจตนาของรัสเซีย

บรรดาชาติตะวันตกมองว่า การลงประชามติในครั้งนี้เป็นเพียงข้ออ้างของรัสเซียเพื่อการผนวกดินแดน และการใช้กำลังทหารอย่างเต็มที่หากยูเครนเลือกที่จะจู่โจมเพื่อยึดคืนดินแดน โดยปธน.ปูตินขู่ว่า เขาจะไม่ลังเลในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการปกป้องดินแดนและอธิปไตยของรัสเซีย

*ท่าทีรัสเซียหลังผลการลงประชามติ

เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดไว้ ผลการลงประชามติในครั้งนี้จบลงที่ประชาชนส่วนใหญ่จากทั้ง 4 แคว้นเห็นชอบต่อการผนวกดินแดนเข้ากับรัสเซีย โดยสื่อ RIA ของรัสเซียรายงานว่า ประชาชน 98.4% จากแคว้นลูฮันสก์, 99.2% จากแคว้นโดเนตสก์, 93.1% จากแคว้นซาปอริซเซีย และ87% จากแคว้นเคอร์ซอน เห็นชอบในการผนวกดินแดนครั้งนี้

เมื่อผลการลงประชามติเป็นที่แน่ชัด ปธน.ปูตินจึงไม่รีรอที่จะเดินหน้าแผนผนวกดินแดนเต็มกำลังโดยประกาศว่า "รัสเซียมี 4 แคว้นใหม่ที่เพิ่มขึ้นในวันนี้" ในการลงนามในสนธิสัญญาผนวกดินแดนของยูเครนร่วมกับผู้นำจากทั้ง 4 แคว้นในพิธีซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบเครมลินเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ทำให้ดินแดนดังกล่าวซึ่งคิดเป็นพื้นที่ 15% ของยูเครนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย

นอกจากนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญของรัสเซียที่มีการแก้ไขในสมัยของปธน.ปูตินได้ระบุห้ามการส่งมอบดินแดนใด ๆ ของรัสเซียให้แก่ต่างชาติ ทำให้รัสเซียมีข้ออ้างในการที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ดังที่ปธน.ปูตินได้ประกาศขู่ไว้ก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม สหรัฐและบรรดาชาติพันธมิตรไม่ยอมรับการลงประชามติในครั้งนี้และมองว่า การลงประชามติในครั้งนี้เป็นการลงประชามติ "จอมปลอม" โดยนางแครีน ฌ็อง ปิแอร์ โฆษกประจำทำเนียบขาวระบุในการแถลงข่าวว่า ทุกขั้นตอนของการลงประชามติครั้งนี้ดำเนินการโดยรัสเซีย ซึ่งประชาชนชาวยูเครนถูกบังคับให้ลงคะแนนเสียงภายใต้การจับตาดูของกองกำลังติดอาวุธของรัสเซีย

*ท่าทีของนานาชาติต่อประชามติผนวกดินแดน

สหรัฐซึ่งนำโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ออกแถลงการณ์ประณามปธน.ปูติน ซึ่งได้ประกาศผนวกดินแดน 4 แคว้นของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย โดยแถลงการณ์ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่มีความชอบธรรมทางกฎหมาย พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมโลกปฏิเสธความพยายามของรัสเซียในการผนวกดินแดนในครั้งนี้ และยืนเคียงข้างประชาชนชาวยูเครน

นอกจากนี้ สหรัฐยังเตรียมใช้มาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจขั้นรุนแรงต่อรัสเซีย ตอบโต้กรณีการรุกผนวกดินแดนดังกล่าว และเตรียมเสนอญัตติร่วมกับอัลเบเนียต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ให้ปฏิเสธการรับรองการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดกับสถานะของยูเครน และให้รัสเซียถอนกำลังทหารออกจากยูเครน

ด้านนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเองก็มองว่า การผนวกรวมดินแดนดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ และได้ต่อสายตรงถึงปธน.เซเลนสกี เพื่อแสดงเจตจำนงว่า ญี่ปุ่นคัดค้านการผนวกดินแดนในครั้งนี้ และยืนยันจะสนับสนุนยูเครนในการยุติสงครามกับรัสเซีย

ขณะเดียวกัน ออสเตรเลียได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินและแบนการเดินทางชาวรัสเซีย 28 คน ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ระดับสูง และผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน หลังการประกาศผนวกดินแดน 4 แคว้นของยูเครน โดยนางเพนนี หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียแถลงว่า "มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมเหล่านี้ตอกย้ำว่า ออสเตรเลียคัดค้านอย่างรุนแรงต่อการกระทำของประธานาธิบดีปูติน และผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของเขา"

*ยูเครนโดดร่วมนาโต

ทางด้านปธน.เซเลนสกี ผู้นำยูเครนยืนกรานหนักแน่นว่า การลงประชามติดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และได้มีการเรียกประชุมฉุกเฉินร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายความมั่นคง การเมือง และกองทัพเพื่อเตรียมการตอบโต้ขั้นรุนแรง

นอกจากนี้ ยูเครนยังได้ยื่นสมัครเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) แบบ fast track โดยปธน.เซเลนสกี ยืนยันว่า ยูเครนได้พิสูจน์แล้วว่า มีคุณสมบัติสอดคล้องกับมาตรฐานของนาโต

*หรือว่ารัสเซียจะเข้าตาจน

ก่อนหน้านี้ ปธน.ปูตินได้ประกาศระดมกำลังพลบางส่วนราว 300,000 นาย พร้อมระบุว่าจะใช้ทุกวิถีทางในการปกป้องรัสเซียและจะผนวกทุกดินแดนที่ทหารรัสเซียยึดครองสำเร็จ

นางบริดเจต บริงก์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำยูเครนให้ความเห็นว่า การประกาศระดมพลดังกล่าวและการจัดทำประชามติในดินแดนยูเครนนั้นบ่งชี้ว่า รัสเซียกำลังอ่อนแอลงอย่างมาก

นอกจากนี้ นายจอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐเองก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่า นี่เป็นสัญญาณชัดเจนว่า รัสเซียกำลังเสียเปรียบในการศึกครั้งนี้ โดยกล่าวว่า "เราคาดการณ์เรื่องนั้นไว้แล้ว และกำลังพล 300,000 นายที่ระดมในครั้งนี้ก็เป็นจำนวนเกือบสองเท่าของที่ปธน.ปูตินใช้ในตอนเริ่มสงครามในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา โดยรัสเซียสูญเสียกำลังทหารไปแล้วหลายหมื่นนาย ทหารรัสเซียขาดกำลังใจและความสามัคคี นอกจากนี้ รัสเซียยังเผชิญกับปัญหาการหนีทหารด้วย"

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มีความเป็นไปได้ว่า เหตุผลที่แท้จริงของการจัดทำประชามติในครั้งนี้คือ เพื่อให้รัสเซียมีข้ออ้างในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในเชิงกลยุทธ์เพื่อทดแทนกำลังพลที่ขาดแคลน อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นต่อจากการลงประชามติในครั้งนี้ จะนำไปสู่บทสรุปในรูปแบบใด เราคงต้องติดตามดูกันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ