In Focus"แซม แบงค์แมน-ฟรีด" สร้างภาพหรูดูดี ลวงเม่าระเริงไฟ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 23, 2022 12:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อาณาจักรมูลค่า 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ของนายแซม แบงค์แมน-ฟรีด ล้มครืนในชั่วระยะเวลาอันสั้น สร้างความตกตะลึงให้กับนักลงทุนทั่วโลก

เอฟทีเอ็กซ์ (FTX) ถูกมองมาโดยตลอดว่าเป็นหนึ่งในตลาดซื้อขายที่ปลอดภัยที่สุดและเชื่อถือได้มากที่สุดในอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีที่เต็มไปด้วยความอิสระไร้การควบคุม ทั้งยังวาดฝันอันบรรเจิดถึงการผลักดันเงินดิจิทัลเข้าสู่กระแสการเงินหลัก

ทว่าการล่มสลายลงในเวลาเพียงชั่วข้ามคืนของอาณาจักรมูลค่ามหาศาลของนายแบงค์แมน-ฟรีดได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความผันผวนอย่างสุดขั้วของเงินตราเสมือนจริง การทรุดตัวลงคราวนี้รุนแรงดั่งพายุโถมกระหน่ำสร้างแรงกระแทกเป็นวงกว้าง

คำขอโทษง่าย ๆ ของนายแบงค์แมน-ฟรีดไม่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะเจ้าหนี้กว่าหนึ่งล้านรายเสี่ยงสูญเงินไปตลอดกาล

  • เริ่มรุ่งโรจน์ จบรุ่งริ่ง

นายแบงค์แมน-ฟรีดก่อตั้งอาลาเมดา รีเสิร์ช บริษัทซื้อขายเชิงปริมาณที่มุ่งเน้นไปยังสินทรัพย์ดิจิทัลเมื่อปี 2560 ต่อด้วยก่อตั้งเอฟทีเอ็กซ์ ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายคริปโทฯ ในปี 2562 เส้นทางธุรกิจของเขาเรียกได้ว่าโชติช่วงชัชวาลจนกระทั่งเอฟทีเอ็กซ์กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดถึง 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนอาลาเมดาทำกำไรได้ถึง 1 พันล้านดอลลาร์ในปีเดียว แต่ยุคทองนี้มีอันต้องมาถึงจุดจบอย่างรวดเร็วไม่ต่างอะไรกับสายฟ้าฟาด

การรั่วไหลของบัญชีเงา (Shady accounting) และการหลีกเลี่ยงหายนะอันชาญฉลาดของไบแนนซ์ ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายคริปโทฯคู่แข่งที่กลับลำประกาศยกเลิกแผนเข้าซื้อกิจการเอฟทีเอ็กซ์ ทำให้นักลงทุนไหวตัวทันเริ่มถอนเงินออกจากเอฟทีเอ็กซ์โดยพร้อมเพรียง กรณีดังกล่าวฉุดให้มูลค่าเอฟทีที (FTT) ซึ่งเป็นเหรียญของเอฟทีเอ็กซ์ ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว วิกฤตสภาพคล่องนำไปสู่การยื่นขอล้มละลาย นายแบงค์แมน-ฟรีดทำให้ลูกค้านับไม่ถ้วนสูญเสียเงินเก็บและส่อเค้าฉ้อโกงเงินนักลงทุน

*โวกำไรมหาศาล ที่แท้ก็โกหกกันทั้งเพ

ก่อนตกเป็นข่าวฉาวกระฉ่อนโลก แทบไม่มีใครไม่เชื่อน้ำคำลวงของนายแบงค์แมน-ฟรีด ต่างพากันคิดว่าธุรกิจของเขาไปได้สวยทำกำไรมหาศาล แต่เนื้อหาในเอกสารที่ยื่นขอล้มละลายต่อศาลรัฐเดลาแวร์ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจของเขา ซึ่งหลัก ๆ แล้วประกอบด้วยอาลาเมดา รีเสิร์ช และเอฟทีเอ็กซ์ เผชิญกับภาวะขาดทุนอย่างหนักย้อนไปตั้งแต่ปี 2564 เป็นอย่างน้อย

แบบแสดงรายการภาษีปี 2564 แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจของนายแบงค์แมน-ฟรีดเผชิญกับการขาดทุนสุทธิสะสม 3.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งหมายความว่า ธุรกิจของเขาเผชิญกับภาวะขาดทุน 3.7 พันล้านดอลลาร์นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งธุรกิจ

การขาดทุนมหาศาลนี้สร้างความสับสนงงงวยให้กับผู้คนเป็นอย่างยิ่ง เพราะสวนทางกับภาพลักษณ์สวยหรูที่นายแบงค์แมน-ฟรีดพยายามสร้างขึ้น ทั้งยังสวนกระแสอุตสาหกรรมคริปโทฯ ที่ทำกำไรกันอู้ฟู่ในปี 2564 โดยในปีนั้น บิตคอยน์พุ่งขึ้น 60% อีกทั้งเป็นปีที่โดดเด่นที่สุดสำหรับบริษัทคริปโทฯ ส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น คอยน์เบส บริษัทซื้อขายคริปโทฯ จากสหรัฐที่โกยกำไรสุทธิได้ 3.6 พันล้านดอลลาร์

นายแบงค์แมน-ฟรีดพยายามป่าวประกาศสถานะทางการเงินของบริษัทต่อสาธารณชนมาโดยตลอด โดยเมื่อปีที่แล้ว เขาให้สัมภาษณ์กับนิตยสารฟอร์บส์ว่า อาลาเมดาทำกำไรได้ 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 ขณะที่สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานข้อมูลทางการเงินที่รั่วไหลของเอฟทีเอ็กซ์ว่า บริษัทดังกล่าวทำกำไรได้ 388 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 และต้นปีนี้ นายแบงค์แมน-ฟรีดให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า เอฟทีเอ็กซ์ยังทำกำไรได้

*ยักย้ายถ่ายเทเงิน จนนำไปสู่การล้มละลาย

ภาวะขาดทุนสะสมของอาลาเมดาทำให้คนในบริษัทของนายแบงค์แมน-ฟรีดลักลอบถ่ายโอนเงินทุนลูกค้าจากเอฟทีเอ็กซ์ไปยังอาลาเมดา ทำให้เอฟทีเอ็กซ์เผชิญกระแสแห่ถอนเงินครั้งมโหฬาร จนนำไปสู่การยื่นขอล้มละลายแบบฉับพลัน

*ดาวเด่นคริปโทฯ ใช้เงินลูกค้าต่างกระปุกออมสิน

นายจอร์แดน เบลฟอร์ต อดีตนายหน้าค้าหุ้นเจ้าของหนังสืออัตชีวประวัติ "หมาป่าแห่งวอล์สตรีท" (The wolf of wall street) ที่ถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน หรือ "คนจะรวยช่วยไม่ได้" ในชื่อภาษาไทย ได้แสดงทัศนะที่มีต่อเอฟทีเอ็กซ์ผ่านรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่องฟ็อกซ์ บิสเนส เน็ตเวิร์ก

"เอฟทีเอ็กซ์ไม่ใช่ตลาดซื้อขาย แต่เปรียบเสมือนบริษัทนายหน้า หรือธนาคารที่ถือเงินลูกค้าเอาไว้ จากนั้นก็นำเงินก้อนดังกล่าวออกไปใช้ นายแบงค์แมน-ฟรีดใช้เงินพวกนั้นเหมือนเป็นกระปุกออมสินส่วนตัว ผู้คนฝากเงินในเอฟทีเอ็กซ์ เพราะต้องการเทรดคริปโทฯ เหมือนบริษัทนายหน้าอื่น ๆ ก็เหมือนคุณฝากเงินในเจพีมอร์แกน แต่ตอนหลังกลับพบว่า นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเจพีมอร์แกนดอดยักยอกเงินของคุณไปเล่นการพนันที่ลาสเวกัสในช่วงสุดสัปดาห์ เพราะเงินของคุณก็เหมือนเงินของเขา มีอะไรที่แตกต่างล่ะ"

"นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ เขาใช้เงินทุนทั้งหมดที่ผู้คนนำมาฝากในเอฟทีเอ็กซ์ ไม่ต่างอะไรไปจากกระปุกออมสินส่วนตัว เอาไปซื้อคอนโด หรืออะไรก็ตามที เรื่องนี้จบไม่สวยแน่"

*สุดช้ำ ดอดใช้เงินลูกค้าซื้อคอนโดหรูในบาฮามาส

ประวัติด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างเป็นทางการเผยให้เห็นว่า เอฟทีเอ็กซ์ รวมถึงพ่อแม่ของนายแบงค์แมน-ฟรีด และผู้บริหารเอฟทีเอ็กซ์ได้ทำการซื้ออสังหาริมทรัพย์อย่างน้อย 19 แห่ง คิดเป็นมูลค่าเกือบ 121 ล้านดอลลาร์ในบาฮามาสตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

อสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นบ้านหรูริมชายหาด ซึ่งรวมถึงคอนโดมิเนียมในชุมชนรีสอร์ตสุดหรูที่ชื่อว่าอัลบานีคิดเป็นมูลค่าเกือบ 72 ล้านดอลลาร์ โดยถูกซื้อโดยธุรกิจในเครือเอฟทีเอ็กซ์ และถูกใช้เป็นที่พำนักของบุคคลสำคัญในบริษัท

ส่วนบ้านอีกหลังตั้งอยู่ใกล้ชายหาดในโอลด์ ฟอร์ต เบย์ เป็นกรรมสิทธิ์ของนายโจเซป แบงค์แมน และนางบาร์บารา ฟรีด ศาสตราจารย์ภาควิชากฎหมายมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พ่อและแม่ของนายแบงค์แมน-ฟรีด โดยถูกใช้เป็นบ้านพักตากอากาศ

"ตั้งแต่ก่อนที่เอฟทีเอ็กซ์จะยื่นขอล้มละลาย นายแบงค์แมนและนางฟรีดพยายามที่จะคืนบ้านหลังดังกล่าวให้กับบริษัท" โฆษกส่วนตัวของพ่อแม่นายแบงค์แมน-ฟรีดออกมากล่าวตอบโต้กระแสข่าวดังกล่าว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายแบงค์แมน-ฟรีดแอบใช้เงินทุนลูกค้า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงธุรกิจค้าคริปโทฯ ของเขา โดยเงินฝากอย่างน้อย 1 พันล้านดอลลาร์หายวับไปในอากาศ

นายจอห์น เรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของเอฟทีเอ็กซ์ระบุเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ว่า เขาเข้าใจว่าเงินทุนบริษัทของเอฟทีเอ็กซ์ กรุ๊ปถูกนำไป "ซื้อบ้านและสิ่งของส่วนตัวอื่น ๆ สำหรับพนักงานและที่ปรึกษา"

*เอฟทีเอ็กซ์ล้มสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วอุตสาหกรรมคริปโทฯ

นายแบงค์แมน-ฟรีดครั้งหนึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ชนะ แต่ทุกวันนี้ถูกตราหน้าว่าเป็นคนขี้โกง

เอฟทีเอ็กซ์ภายใต้การนำของเขาสยายปีกเติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นตลาดซื้อขายคริปโทฯ ที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับ 3 ของวงการ ดังนั้น เมื่อยักษ์ล้มย่อมก่อให้เกิดคลื่นสึนามิกระทบไปทั่วทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งเผชิญความผันผวนปั่นป่วนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วในปีนี้ เนื่องจากบิตคอยน์และสินทรัพย์ดิจิทัลสกุลต่าง ๆ ทรุดตัวลงอย่างหนัก หลายคนขวัญผวาหวั่นเกิดเหตุซ้ำรอยวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2551 ที่บริษัทในวอลล์สตรีทล้มแบบโดมิโน

บล็อกไฟ (BlockFi) บริษัทปล่อยสินเชื่อคริปโทฯ ต้องประกาศระงับการทำธุรกรรมของลูกค้าไปเมื่อวันศุกร์ที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากธุรกิจมีความเกี่ยวข้องกับเอฟทีเอ็กซ์อย่างมาก ซึ่งครอบคลุมถึงหนี้สินที่อลาเมดาค้างชำระบริษัท และสินทรัพย์ที่บริษัทฝากไว้กับเอฟทีเอ็กซ์ ขณะที่ คริปโทดอตคอม (Crypto.com) ของสิงคโปร์เผชิญกระแสการถอนเงินทุนเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้มีกระแสข่าวว่า บริษัทเจเนซิส (Genesis) ซึ่งให้บริการปล่อยกู้คริปโทฯ ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาด้านปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อหาทุกวิถีทางในการเอาตัวรอด หลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องจากผลพวงของเอฟทีเอ็กซ์ ไม่เว้นแม้แต่การยื่นขอล้มละลาย

  • ราชันคริปโทฯ อิทธิพลล้นวงการ

อิทธิพลของนายแบงค์แมนไม่ได้หยุดอยู่แค่ในอุตสาหกรรมวงคริปโทฯ เท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายไปยังแวดวงการเมืองและป๊อปคัลเจอร์ โดยเอฟทีเอ็กซ์ได้เข้าเป็นผู้สนับสนุนหลักให้กับการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ เช่น การแข่งขันฟอร์มูลาวัน ทั้งยังประกาศบริจาคเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ให้กับพรรคเดโมแครต เพื่อสนับสนุนการเลือกตั้ง แต่เขาบริจาคเงินจริงราว 10 ล้านดอลลาร์

ขณะเดียวกัน นักการเมืองชั้นนำ เช่น นายบิล คลินตันก็เคยถูกเชิญไปกล่าวปาฐกถาในการแถลงข่าวของเอฟทีเอ็กซ์ นอกจากนี้ นายทอม เบรดี้ ดาวลูกหนังก็ลงทุนในเอฟทีเอ็กซ์ เช่นเดียวกับนางจิเซล บุนเชน อดีตภรรยาซูเปอร์โมเดลชื่อดัง

ที่ผ่านมา นายแบงค์แมน-ฟรีดดำเนินธุรกิจเอฟทีเอ็กซ์นอกเขตอำนาจศาลสหรัฐจากสำนักงานใหญ่ในบาฮามาส แต่พยายามโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการกำกับดูแลกฎระเบียบในอุตสาหกรรมคริปโทฯ เพิ่มมากขึ้น สวนทางกับผู้สนับสนุนคริปโทฯ จำนวนมากที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมดูแลอุตสาหกรรมดังกล่าว

การล้มครืนของเอฟทีเอ็กซ์อาจเป็นชนวนให้ภาครัฐต้องเร่งเข้ามากำกับดูแลอุตสาหกรรมคริปโทฯ อย่างเข้มงวด ซึ่งจะได้ผลชะงัดกว่าการใช้ลมปากเป็นไหน ๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ