Media Talk: Influencer 7 ประเภทที่ได้ใจผู้บริโภคในปัจจุบัน

ข่าวต่างประเทศ Monday April 9, 2018 10:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หากคุณวางแผนไว้ว่าสิ่งที่จะทำในปีนี้ คือ การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของคุณด้วยการใช้อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) สิ่งที่ควรจะตระหนักอยู่เสมอก็คือ อินฟลูเอนเซอร์นั้นมีความแตกต่างกันไป และมีอยู่หลายประเภท ดังนั้นกลยุทธ์การทำตลาดอินด้วยฟลูเอนเซอร์ที่มีความหลากหลายจะให้ประโยชน์กับเรา และเราควรงัดกลยุทธ์ที่แตกต่างกันมาใช้กับอินฟลูเอนเซอร์แต่ละประเภท

เมื่อเร็วๆนี้ รายงาน 2017 Global Comms Report: Challenges and Trends จาก Cision ได้อธิบายเกี่ยวกับอินฟลูเอนเซอร์ประเภทต่างๆที่เหล่านักการตลาดได้มีโอกาสได้ร่วมงานด้วยเพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภค เราลองมาดูกันว่า อินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้เป็นใครกัน และช่วยกันระดมสมองว่าแบรนด์จะได้ประโยชน์จากอินฟลูเอนเซอร์แต่ละประเภทได้อย่างไร

*ผู้บริโภคก็สร้างแรงกระเพื่อมที่ยิ่งใหญ่ได้

อันที่จริงแล้ว ผู้บริโภคนี่เองที่มีอิทธิพลกับผู้บริโภคด้วยกันมากที่สุด นักการตลาด 59% จากทั่วโลกระบุว่า ผู้บริโภคคืออินฟลูเอนเซอร์ที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ขณะที่ประเทศที่ใช้ผู้บริโภคเป็นอินฟลูเอนเซอร์น้อยที่สุด คือ สวีเดน

ไม่ว่าจะเป็นการรีวิวที่เขียนโดยผู้ใช้งาน และข้อความที่เอ่ยถึงสินค้าบนโซเชียลมีเดีย ล้วนช่วยให้ขาช็อปตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น ดังนั้นขาช็อปส่วนมากจึงหันไปอ่านรีวิวหรือโซเชียลมีเดียมากกว่าโฆษณาหรือโพสต์บนโซเชียลที่มาจากแบรนด์โดยตรง

เคล็ดลับงัดข้อได้เปรียบ: ผลักดัรให้ลูกค้าเขียนรีวิวสินค้าเป็นเรื่องง่าย และส่งเสริมให้ลูกค้ารีวิวสินค้าหลังจากที่ซื้อไปแล้ว ด้วยการส่งอีเมลที่แนบลิงค์เพจรีวิวสินค้าของคุณ 2-3 วันหลังจากนั้น

*ความคุ้มค่าของการใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นผู้มีชื่อเสียง

อินฟลูเอนเซอร์ประเภทนี้รวมถึง ศิลปิน ดารา นักแสดง นักกีฬา และบรรดาเน็ตไอดอลทั้งหลาย ด้วยแนวคิดที่ว่าเมื่อผู้บริโภคเห็นว่า อินฟลูเอนเซอร์ที่พวกเขารู้จักใช้ผลิตภัณฑ์อะไร หรือได้ยินอินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้นพูดถึงอะไร กลุ่มลูกค้าก็จะเกิดความสนใจอยากซื้อหรือลองใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นด้วยเหมือนกัน

47% ของนักการตลาดทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นผู้มีชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน ซึ่งการเลือกใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงนี้ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าถึงเหล่านักช็อป โดยชาวจีนถึง 73% ยอมรับว่า การใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นคนดัง เป็นหนึ่งใน 3 วิธีที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพวกเขามากที่สุด

เคล็ดลับงัดข้อได้เปรียบ: กำหนดตัวเซเลบริตี้ที่กลุ่มเป้าหมายของคุณกำลังให้ความสนใจ แล้วหาทางที่จะดึงเซเลบริตี้เหล่านี้ให้มาร่วมงานกับคุณ อย่าลืมว่าผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมาก ย่อมใช้งบประมาณสูงกว่า แม้พวกเขาจะเปิดกว้างพร้อมให้ความร่วมมือกับแบรนด์ ทางที่ดีควรมองหาผู้ที่อาจจะมีชื่อเสียงน้อยกว่าแต่ก็สามารถปล่อยหมัดอันทรงพลังออกไปมัดใจผู้บริโภคได้อย่างสมเหตุสมผลกับงบประมาณที่ใช้ไป

*นักข่าวกระแสหลักยังคงมีบทบาท

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม นักข่าวสามารถมีบทบาทในเรื่องการสร้างความพึงพอใจของแบรนด์ได้ค่อนข้างมาก โดยบทวิจารณ์อุปกรณ์เทคโนโลยีรุ่นล่าสุดด้วยถ้อยคำที่แพรวพราวอาจกระตุ้นให้ผู้อ่านรีบออกไปซื้อมาใช้ตาม หรือแม้กระทั่งนักรีวิวร้านอาหารที่มีความเห็นเกี่ยวกับร้านอาหารไทยเปิดใหม่ในย่านใกล้เคียงว่า สุดแสนจะน่าเบื่อ ก็อาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อธุรกิจได้

ผู้คนทั่วโลกราว 47% มองผู้สื่อข่าวในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศฝรั่งเศสที่ยึดติดกับผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์เหล่านี้มากที่สุด

เคล็ดลับงัดข้อได้เปรียบ : ก่อนอื่นคือจะต้องทราบว่าใครเป็นผู้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจของคุณบ้าง หลังจากนั้นก็เข้าไปผูกมิตรสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนักข่าวเหล่านั้น ทำให้แน่ใจว่า พวกเขาจะอยู่ในลิสต์รายชื่อของผู้ที่จะได้รับทราบข่าวสารล่าสุดทันทีที่บริษัทของคุณเผยแพร่ข่าวสารใดๆหรือเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่

*ไมโครอินฟลูเอนเซอร์อาจให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

เทรนด์หนึ่งที่กำลังมาแรงในแวดวงการตลาดอินฟลูเอนเซอร์คือไมโครอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งก็คือเหล่าคนดังในโซเชียลมีเดียที่ได้สร้างชื่อให้กับตนเองในวงการเล็ก ๆ บุคคลเหล่านี้ไม่ใช่ดาราดัง แต่เมื่อพูดอะไรออกมาแล้วก็มีผู้ยินดีที่จะรับฟัง

ประเทศที่ไว้วางใจไมโครอินฟลูเอนเซอร์น้อยที่สุดคือ ฝรั่งเศส แต่ในสหรัฐนั้น ไมโครอินฟลูเอนเซอร์คืออินฟลูเอนเซอร์ที่ได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างดี

เคล็ดลับงัดข้อได้เปรียบ: คิดถึงคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ ไมโครอินฟลูเอนเซอร์อาจจะไม่ได้มีผู้ติดตามเป็นเรือนแสน แต่ถ้าได้รับความสนใจจากผู้อ่านแล้ว อาจให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าดาราดังที่ค่าตัวแพงเกินเอื้อมก็เป็นได้

*บล็อกเกอร์ที่มีผู้ติดตามมากมาย

บล็อกเกอร์มักเป็นกลุ่มที่รู้กันดีว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์ เพราะมีบล็อกเกอร์หลายคนที่เขียนรีวิวผลิตภัณฑ์และจัดกิจกรรมแจกสินค้าอยู่เสมอ นักการตลาดทั่วโลกกว่า 40% พยายามสร้างความสัมพันธ์กับเหล่าบล็อกเกอร์ เพื่อให้บล็อกเกอร์เหล่านี้พูดถึงผลิตภัณฑ์ของตนเอง

เคล็ดลับงัดข้อได้เปรียบ: คิดให้ไกลกว่าการเป็นแค่โพสต์รีวิวสินค้า ทุกวันนี้บล็อกเกอร์ที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ฉลาดกว่าที่คิด คุณควรจะติดต่อบล็อกเกอร์ที่อยากร่วมงานด้วยเกี่ยวกับไอเดียว่าคุณจะสามารถร่วมงานกับเขาได้อย่างไร ซึ่งอาจจะต้องมีการกล่าวถึงผลิตภัณฑ์ของคุณบนบล็อกของพวกเขา รวมไปถึงการจัดงานอีเวนต์ที่เชิญบรรดาบล็อกเกอร์ และพูดคุยกับพวกเขาผ่านทางแชททวิตเตอร์ บล็อกเกอร์เหล่านี้มักจะมีผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดียมากมาย อย่าลืมใส่เรื่องนี้เข้าไปในข้อเสนอด้วยว่าคุณจะสามารถร่วมงานกับเขาได้อย่างไร

*จงคิดว่าพนักงานคืออินฟลูเอนเซอร์ของเรา

อินฟลูเอนเซอร์ที่ดีที่สุดของคุณอาจอยู่ในที่ทำงานของคุณเอง เมื่อพนักงานเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ พวกเขาจะกลายเป็นตัวแทนแนะนำแบรนด์ไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนการขายหรือไม่ก็ตาม

ผู้ตอบแบบสอบถามของ Cision ที่เป็นชาวสวีเดนจำนวน 18% ต่างเลือกพนักงานของบริษัทของตนเองเป็นตัวเลือกแรก เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลือกอื่นๆ

เคล็ดลับงัดข้อได้เปรียบ: เริ่มด้วยการสร้างความมั่นใจว่า บริษัทของคุณเป็นสถานที่ที่น่าทำงาน พนักงานที่มีความสุขจะเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ของคุณนั้นดีอย่างไร คุณต้องเป็นคนใจกว้าง ให้พนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้อย่างทั่วถึง สนับสนุนให้พนักงานมีบัญชีโซเชียลมีเดียที่ใช้แบรนด์บริษัท เพื่อที่พวกเขาจะได้ช่วยเผยแพร่ข้อมูลในวิธีที่พนักงานต้องการ การทำเช่นนี้จะช่วยให้บริษัทมีช่องทางในการเข้าถึงมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับโซเชียลมีเดียเพียงบัญชีเดียวในแต่ละช่องทาง

*ผู้บริหารระดับสูงมีส่วนสร้างแรงจูงใจและความคิดไม่แพ้กัน

นอกเหนือจากพนักงานในองค์กรแล้ว ผู้บริหารระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ และสมาชิกของคณะกรรมการบริหาร ต่างก็มีบทบาทไม่แพ้กันในการสร้างแรงจูงใจเกี่ยวกับแบรนด์ของตนเอง โดยซีอีโอในองค์กรหนึ่ง อาจเป็นผู้นำความคิดในอุตสาหกรรมนั้นๆ เขาอาจขึ้นเวทีพูดคุยตามอีเวนท์ต่างๆ และทำหน้าที่เป็นตัวแทนองค์กร ผู้บริหารเหล่านี้เป็นบุคคลที่มีอำนาจตัดสินใจเรื่องสำคัญๆในนามขององค์กร ดังนั้นผู้บริหารเหล่านี้ก็ควรที่จะมีบทบาทในการสนับสนุนธุรกิจเพื่อรองรับการตัดสินใจเหล่านี้

ประเทศที่ผู้บริหารระดับสูงมีอิทธิพลมากที่สุดคือ เยอรมนี โดยนักการตลาด 46% อาศัยผู้บริหารเหล่านี้เพื่อสร้างอิทธิพลต่อผู้บริโภคในทางที่ดี

เคล็ดลับงัดข้อได้เปรียบ: หากผู้บริหารระดับสูงในองค์กรของคุณไม่ค่อยออกสื่อหรือไม่ค่อยมีอิทธิพลจูงใจทางความคิดแล้ว คงต้องพยายามผลักดันให้ผู้บริหารเหล่านี้ไปถึงจุดนั้น อาจจะเริ่มด้วยการเข้าร่วมอีเวนท์และงานสร้างเครือข่าย จากนั้นค่อยๆสร้างคอนเทนต์ในชื่อของผู้บริหาร ขึ้นเวทีกล่าวคำปราศรัยตามอีเวนท์ ไปจนถึงอุทิศเวลาและบริการเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น

ทั้งนี้ อนาคตของวงการการตลาดจำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ประเภทต่างๆ ดังที่เราเห็นได้จากผลการศึกษาข้างต้นนี้ ซึ่งเริ่มต้นได้จากการรวบรวมแนวทางการทำตลาดกับอินฟลูเอนเซอร์เข้าไปในกลยุทธ์การตลาด จากนั้นให้จับตาดูกระแสตอบรับที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์และผลิตภัณฑ์

ฝากไว้ให้คิด: การทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ไม่ใช่กลยุทธ์ที่ทำครั้งเดียวแล้วจะประสบความสำเร็จได้ในทันที เพราะจำเป็นต้องสร้างแคมเปญระยะยาวร่วมกับเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ ขณะเดียวกันก็ต้องเดินหน้าหาอินฟลูเอนเซอร์รายใหม่ๆที่จะมาร่วมงานด้วยกันอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: พีอาร์นิวส์ไวร์/ซิชั่น


แท็ก NFL  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ