สหภาพแรงงานและกลุ่มอุตสาหกรรมในหลายประเทศทั่วเอเชียกำลังแสดงความกังวลอย่างหนักต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับแรงงานภาคสิ่งทอ จากการที่สหรัฐฯ ประกาศเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้า
ในปี 2567 บังกลาเทศส่งออกสินค้ารวมมูลค่า 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังสหรัฐฯ โดยในจำนวนนั้นเป็นสินค้าประเภทสิ่งทอถึง 7.34 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่าเกือบ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ไปยังตลาดเดียวกัน คิดเป็นเกือบ 40% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ โดยมากกว่าครึ่งของการนำเข้าจากกัมพูชาเป็นสินค้าในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และสินค้าสำหรับเดินทาง เช่น กระเป๋าเดินทางและกระเป๋าถือ ภาคส่วนนี้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของกัมพูชาอย่างมาก โดยสร้างรายได้เกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออก และจ้างงานแรงงานกว่า 900,000 คน
ประเทศที่เป็นฐานการผลิตสำคัญอย่างบังกลาเทศและกัมพูชาจะต้องเผชิญกับอัตราภาษีใหม่สูงถึง 35% และ 36% ตามลำดับ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นไป หลังสิ้นสุดช่วงระงับเก็บภาษี 90 วัน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านบางแห่งยังอยู่ระหว่างการเจรจากับสหรัฐฯ เกี่ยวกับอัตราภาษี
กลุ่มแรงงานและอุตสาหกรรมเตือนว่า ภาษีที่สูงขึ้นอาจบีบบังคับให้บริษัทต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ได้รับสิทธิภาษีที่ต่ำกว่า หรืออาจต้องปิดกิจการลง ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียตำแหน่งงานจำนวนมาก
กลุ่มสหภาพแรงงานประชาธิปไตยอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มกัมพูชาซึ่งเป็นตัวแทนของแรงงานกว่า 80,000 คนในโรงงาน 40 แห่งระบุว่า การสูญเสียงานจะทำให้รายได้ของแรงงานลดลงอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดำรงชีวิตประจำวันของพวกเขา
สหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสิ่งทอที่ใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศ ได้ประกาศอัตราภาษีใหม่นี้ผ่านจดหมายอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่โพสต์ลงบนแพลตฟอร์ม Truth Social เมื่อวันที่ 8 ก.ค.
ในขณะที่กัมพูชามีอัตราภาษีนำเข้าลดลงจากระดับ 49% เมื่อเดือนเม.ย. แต่ความไม่แน่นอนและความวิตกกังวลยังคงครอบงำอุตสาหกรรมสิ่งทอของประเทศ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเสาหลักทางเศรษฐกิจและเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่
ความวิตกกังวลแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นในบังกลาเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า หากคู่แข่งรายสำคัญอย่างอินเดีย อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม ได้รับอัตราภาษีที่ต่ำกว่า บังกลาเทศจะตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบด้ายการแข่งขันอย่างมาก
ด้านเวียดนาม ได้บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ โดยมีการกำหนดอัตราภาษีไว้ที่ 20% ซึ่งต่ำกว่าของกัมพูชาหลายเท่า ทำให้บริษัทจำนวนมากอาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากกัมพูชาไปยังเวียดนาม
กลุ่มพันธมิตรสหภาพแรงงานกัมพูชาซึ่งดูแลแรงงานหญิงเป็นจำนวนมากแสดงความกังวลว่า อัตราภาษีที่สูงขึ้นในปัจจุบันอาจผลักดันให้โรงงานจำนวนมากต้องย้ายไปยังประเทศที่มีภาษีต่ำกว่าอย่างเวียดนาม ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อแรงงานหญิงในกัมพูชา