การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption - UNCAC) ค.ศ. ๒๐๐๓ ของประเทศไทย

ข่าวต่างประเทศ Thursday March 17, 2011 07:23 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๔ นายนรชิต สิงหเสนี เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้ยื่นสัตยาบันสารเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption - UNCAC) ค.ศ. ๒๐๐๓ (๒๕๔๖) ในนามของประเทศไทย ต่อเลขาธิการสหประชาชาติ การยื่นสัตยาบันสารดังกล่าวจะส่งผลให้อนุสัญญาฯ เริ่มมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันที่ ๓๐ หลังจากวันที่ประเทศไทยยื่นสัตยาบันสาร ตามข้อ ๖๘ วรรค ๒ ของอนุสัญญาฯ

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตเป็นความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตที่เป็นสากลและมีเนื้อหาครอบคลุมทุกด้านของการป้องกันและปราบปรามการทุจริต อันเป็นผล มาจากความพยายามของประเทศสมาชิกสหประชาชาติที่จะร่วมกันแก้ปัญหาการทุจริตอย่างจริงจังและ เป็นระบบ ซึ่งได้รับการรับรองโดยที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ ปัจจุบัน (ณ วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๔) อนุสัญญาฯ มีภาคีสมาชิกทั้งหมด ๑๕๐ ประเทศ โดยประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ลำดับที่ ๑๔๙

อนุสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกำหนดมาตรฐานสากลเกี่ยวกับมาตรการและกฎเกณฑ์ที่ประเทศต่าง ๆ สามารถนำไปปรับใช้เพื่อเสริมสร้างระบบกฎหมายภายในของตนเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น โดยแบ่งเป็นทั้งหมด ๘ หมวด ๗๑ ข้อบท ประกอบด้วยบทบัญญัติเกี่ยวกับมาตรการเชิงป้องกัน (preventive measures) และการกำหนดให้การกระทำผิดในลักษณะต่าง ๆ อันเกี่ยวกับการทุจริตเป็นความผิดทางอาญา (criminalization) (อาทิ การให้สินบน การยักยอกทรัพย์ การใช้อิทธิพลในทางที่ผิด และการร่ำรวยผิดปกติ) ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา นอกจากนี้ ยังมีข้อบทเกี่ยวกับการติดตามสินทรัพย์คืนและการส่งสินทรัพย์ให้กับเจ้าของเดิมที่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นบทบัญญัติที่ถือเป็นพัฒนาการทางกฎหมายที่สำคัญอีกด้วย

การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตของประเทศไทยครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการแสดงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยอย่างจริงจังที่จะต่อต้านปัญหาการทุจริต ซึ่งได้มีการพัฒนารูปแบบและวิธีการไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายของประเทศไทยในการขอความร่วมมือจากภาคีอื่น ๆ ตามอนุสัญญาฯ ในการสืบสวน สอบสวน ติดตามและริบทรัพย์สินของผู้ที่กระทำผิดในประเทศไทย ตลอดจนเป็นการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ อันจะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ