พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ ๒๑

ข่าวต่างประเทศ Thursday December 15, 2011 11:17 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๔ นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ได้แถลงข่าวแก่สื่อมวลชน เนื่องในโอกาสที่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ทรงเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ ว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรม และความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ ๒๑ (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice — CCPCJ) แห่งสหประชาชาติ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๔ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ทรงเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ ว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรม และความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ ๒๑ แห่งสหประชาชาติซึ่งมีการเลือกตั้งขึ้นระหว่างการประชุม Reconvened 20th Session ของ CCPCJ ที่สำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย โดยได้ทรงรับเลือกตั้งจากสมาชิก CCPCJ ๔๐ ประเทศ ด้วยวิธีการปรบมือ และทรงกล่าวถ้อยแถลงเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จะทรงดำรงตำแหน่งประธาน CCPCJ เป็นระยะเวลา ๑ ปี ตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๕๔ — ธันวาคม ๒๕๕๕ การทรงดำรงตำแหน่งนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงพระอัจริยภาพของพระองค์ท่านในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาในเวทีระหว่างประเทศและจะช่วยเสริมสร้างบทบาทของไทยในความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาในกรอบงานของสหประชาชาติให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น โดยในการนี้ รัฐบาลไทยได้ทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งเอกอัครราชทูต เพื่อสนับสนุนให้พระองค์ปฏิบัติพระกรณียกิจในฐานะประธาน CCPCJ ที่กรุงเวียนนาได้อย่างสมพระเกียรติ

ในฐานะประธาน CCPCJ สมัยที่ ๒๑ นี้ พระเจ้าหลานเธอฯ จะทรงทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมต่าง ๆ ของ CCPCJ ที่สำคัญได้แก่ การประชุมใหญ่ CCPCJ ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ ๒๓-๒๗ เมษายน ๒๕๕๕ ณ กรุงเวียนนา การประชุมระหว่างสมัย (Intersessional Meeting) และการประชุมฝ่ายบริหารของ CCPCJ (Bureau Meeting) โดยการประชุม CCPCJ สมัยที่ ๒๑ จะเน้นการพิจารณาข้อมติที่จะส่งเสริมให้มีการขยายความร่วมมือเพื่อแก้และลดปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้ย้ายถิ่นฐาน และแรงงานต่างด้าว และการกำหนดทิศทางการบริหารจัดการของ CCPCJ ให้มีประสิทธิภาพในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญามากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ในระหว่างการเสด็จเยือนสาธารณรัฐออสเตรียเพื่อทรงเข้ารับตำแหน่งประธาน CCPCJ นั้น พระเจ้าหลานเธอฯ ได้ทรงประทานพระวโรกาสให้บุคคลสำคัญของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติด และอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime — UNODC) เข้าเฝ้า ได้แก่ นาย Yury Fedotov ผู้อำนวยการบริหารของ UNODC นาย John Sandage ผู้อำนวยการกองกิจการสินธิสัญญาของ UNODC นาย Andres Finguerut หัวหน้า Secretariat to the Governing Bodies ของ UNODC และทีมงานฝ่ายเลขานุการ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเลขานุการของพระเจ้าหลานเธอฯ ระหว่างทรงปฏิบัติภารกิจประธาน CCPCJ และนาย John Barrett เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรแคนาดาประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา ซึ่งเป็นประธาน CCPCJ สมัยที่ ๒๐

ตำแหน่งประธาน CCPCJ จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามภูมิภาค และครั้งนี้เป็นคราวของกลุ่มประเทศเอเชียที่จะขึ้นมาเป็นประธาน ประเทศไทยจึงได้เสนอพระนามของพระเจ้าหลานเธอฯ ต่อกลุ่มประเทศเอเชีย ซึ่งประเทศในกลุ่มได้ให้การรับรองพระองค์ให้เป็นตัวแทนของกลุ่มเพื่อดำรงตำแหน่งประธาน CCPCJ สมัยที่ ๒๑ เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในพระปรีชาสามารถของพระเจ้าหลานเธอฯ ในงานด้านการป้องกันอาชญากรรม และความยุติธรรมทางอาญา ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ในเวทีระหว่างประเทศ จากการที่ทรงทุ่มเทให้กับงานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากจะเคยทรงแสดงบทบาทในช่วงการปฏิบัติราชการที่คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เมื่อปี ๒๕๔๘ แล้ว ยังทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุม CCPCJ สมัยที่ ๑๗ และ ๑๙ ด้วย และในประการสำคัญ พระองค์เป็นผู้ริเริ่มในการจัดทำข้อกำหนดของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) และมีบทบาทในการผลักดันจนข้อกำหนดกรุงเทพฯ ได้รับการรับรองจากสมัชชาสหประชาชาติ จนกลายมาเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงทั่วโลก จากผลงานดังกล่าวส่งผลให้พระองค์ทรงได้รับเหรียญเกียรติยศ (Medal of Recognition) จาก UNODC เมื่อปี ๒๕๕๒

CCPCJ เป็นคณะกรรมาธิการภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมของสหประชาชาติ (Economic and Social Council) มี UNODC เป็นฝ่ายเลขานุการ มีการประชุมมาแล้ว ๒๐ สมัย โดยแต่ละสมัยมีรอบการประชุมประมาณ ๑ ปี (ธันวาคม — ธันวาคม) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และความร่วมมือระหว่างประเทศในงานด้านความยุติธรรมทางอาญา อาชญากรรมข้ามชาติ การฟอกเงิน อาชญากรรมเศรษฐกิจ การค้ามนุษย์และการป้องกันการก่อการร้าย เพื่อพัฒนาแนวทางการจัดการกับปัญหาดังกล่าวให้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศที่ประเทศต่าง ๆ จะนำไปปรับใช้ได้ CCPCJ มีประเทศสมาชิก ๔๐ ประเทศที่มาจากการเลือกตั้งโดยที่ประชุม ECOSOC ซึ่งแบ่งสัดส่วนตามภูมิภาคต่าง ๆ ปัจจุบัน ไทยเป็นสมาชิกของ CCPCJ วาระปี พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๔ และได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกต่ออีกหนึ่งสมัยในวาระ ปี พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๗

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ