ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๕

ข่าวต่างประเทศ Friday February 10, 2012 11:25 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นายจุลพงษ์ โนนศรีชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๕ ซึ่งเป็นการเตรียมการฝ่ายไทยสำหรับการก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ ทั้งนี้ นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงผลการประชุมดังกล่าวต่อสื่อมวลชน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

๑. ที่ประชุมฯ รับทราบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ประชาคมอาเซียน ซึ่งมีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นประธาน โดยคณะอนุกรรมการดังกล่าวจะมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้แก่ประชาชนทุกวัยและทุกระดับได้รับทราบ ตลอดจนจะจัดทำ แผนงานด้านการประชาสัมพันธ์ในอีก ๓ ปีข้างหน้า (ปี ๒๕๕๕-๒๕๕๘)

๒. ที่ประชุมฯ รับทราบเรื่องการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของกัมพูชาในปี ๒๕๕๕ นี้ โดยกัมพูชาได้ตั้งหัวข้อหลักของการประชุมตลอดทั้งปี (theme) ว่า “ASEAN: One Community, One Destiny” และประเด็นที่กัมพูชาให้ความสำคัญในการทำหน้าที่ประธานในครั้งนี้ ได้แก่ (๑) การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ และการเร่งรัดดำเนินการตาม Roadmap for ASEAN Community ปี ๒๕๕๒-๒๕๕๘ และ Blueprints ของทั้งสามเสา (เสาการเมือง ความมั่นคง / เสาเศรษฐกิจ / เสาสังคม วัฒนธรรม) (๒) การดำเนินการตามแผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ ๒ (Initiative for ASEAN Integration (IAI) Work Plan II) ระหว่างปี ๒๕๕๒-๒๕๕๘ และ (๓) การส่งเสริมความร่วมมือและเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ตลอดจนการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาคในกลุ่มต่าง ๆ

๓. ที่ประชุมฯ ได้รับทราบผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๙ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔ โดยไทยได้เน้นประเด็นเรื่องการบริหารจัดการภัยพิบัติและการเชื่อมโยงภายในภูมิภาคในการประชุมดังกล่าว นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๕ ณ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ซึ่งได้มีการหารือประเด็นสำคัญ ๆ ทั้ง (๑) เรื่องเมียนมาร์ - อาเซียนควรมีบทบาทสนับสนุนและส่งเสริมประชาธิปไตย การปฏิรูป และการปรองดองภายในเมียนมาร์ ตลอดจนมีท่าทีร่วมกันในการผลักดันให้ประเทศตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตรเมียนมาร์ (๒) การสร้างประชาคมอาเซียน — อาเซียนควรเน้นการลดช่องว่างด้านการพัฒนา การเชื่อมโยง ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership — PPP) ตลอดจนควรดึงภาคีนอกภูมิภาคมาเป็นหุ้นส่วน (๓) การจัดการภัยพิบัติ - อาเซียนควรเร่งรัดการดำเนินการของศูนย์ ASEAN Humanitarian Centre (AHA Centre) ที่อินโดนีเซีย โดยให้อินโดนีเซียหารือกับประเทศคู่เจรจาเพื่อหาเงินทุน และควรมีการประสานงานระดับหน่วยงานของประเทศสมาชิกอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบ real-time การแก้ไขปัญหาขั้นตอนพิธีการ เช่น พิธีศุลกากร ที่อาจทำให้ความช่วยเหลือมีความล่าช้า และ (๔) ประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ - อาเซียนควรรักษาพลวัตรและมีปฏิสัมพันธ์กับจีนในระดับที่เหมาะสม โดยอาเซียนหวังว่าจะสามารถลงนามในแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct — CoC) ในปี ๒๕๕๕ นี้ ซึ่งจะเป็นวาระครบรอบ ๑๐ ปี ของการลงนาม Declaration on the Conduct of Parties in the South China Seas (DoC)

๔. ที่ประชุมฯ รับทราบพัฒนาการของทั้ง ๓ เสาของไทยในการก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน โดยในเสาการเมืองและความมั่นคง ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๕ และได้มีการทบทวนและพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การจัดการภัยพิบัติ สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Nuclear Weapon Free Zone — SEANWFZ) ทะเลจีนใต้/ความมั่นคงทางทะเล ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สถาบันอาเซียนเพื่อสันติภาพและความสมานฉันท์ ยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมแห่งชาติในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และการจัดตั้ง ASEAN Governance Centre ส่วนในเสาเศรษฐกิจ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ประสานงานหลัก และในส่วนเสาสังคม วัฒนธรรม ซึ่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ประสานงานหลัก นั้น ได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และชี้แจงผลกระทบ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่จะมีต่อประชาชน เมื่อมีประชาคมอาเซียนแล้ว

๕. สำหรับมติที่ประชุมครั้งนี้ มีสองเรื่องหลัก คือ (๑) ไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการด้านภัยพิบัติอาเซียน (ASEAN Committee on Disaster Management — ACDM) ในปี ๒๕๕๕ นี้ และจะใช้โอกาสดังกล่าวผลักดันและติดตามการดำเนินการตามแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันอุทกภัย การลดผลกระทบ การบรรเทา การฟื้นฟู และการบูรณะ ซึ่งไทยเป็นผู้ริเริ่มและเสนอในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๑๙ ที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา และ (๒) หน่วยงานไทยจะได้ทำงานอย่างบูรณาการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ (Plan of Action) และงบประมาณ สำหรับการดำเนินงานในระยะเวลา ๓ ปีข้างหน้า (ปี ๒๕๕๕-๒๕๕๘) ในแต่ละเสา เพื่อรองรับการเข้าสู่เป็นประชาคมอาเซียนต่อไป

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ