นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๓ ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

ข่าวต่างประเทศ Thursday November 12, 2015 14:04 —กระทรวงการต่างประเทศ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๓ ระหว่างวันที่ ๑๘ – ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

การเดินทางเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้เป็นการเข้าร่วมการประชุมเอเปคเป็นครั้งที่สอง ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปีนี้ ได้กำหนดแนวทางการหารือหลัก ได้แก่ “การสร้างเศรษฐกิจที่มีส่วนร่วม การสร้างโลกที่ดีขึ้น” (Building Inclusive Economies, Building a Better World) โดยมีประเด็นสำคัญ ๔ เรื่อง ได้แก่ (๑) การส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (๒) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (๓) การลงทุนในการพัฒนาทุนมนุษย์ และ (๔) การสร้างชุมชนที่ยั่งยืนและแข็งแกร่ง

ประเด็นสำคัญที่นายกรัฐมนตรีจะผลักดันในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ได้แก่

๑. ผลักดันให้เอเปคให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ และการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ไทยจะย้ำความสำคัญของการสร้างการเจริญเติบโตที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง เท่าเทียม ยั่งยืน มีความสมดุล และมีธรรมาภิบาล ไม่ใช่เพียงวัดการเจริญเติบโตที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจเท่านั้น

๒. ผลักดันความร่วมมือเพื่อรองรับและส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค อาทิ การจัดทำการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์เรื่องการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific - FTAAP) เพื่อให้นำไปสู่การบรรลุ FTAAP ในอนาคต ซึ่งไทยเห็นว่า การจัดทำ FTAAP ควรพัฒนาต่อยอดจากความตกลงการค้าเสรีต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว/กำลังเจรจา โดยเฉพาะ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) และความร่วมมือด้านการค้าภาคบริการเอเปค (APEC Services Cooperation Framework - ASCF) เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาภาคบริการให้สามารถเข้าถึงได้อย่างโปร่งใส ทั่วถึง และเท่าเทียม

๓. ผลักดันความร่วมมือเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) โดยไทยจะร่วมให้การรับรอง “วาระปฏิบัติการบอราไคย์เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย เพื่อการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก” (Boracay Action Plan Agenda to Globalize MSMEs)

๔. ผลักดันเรื่องการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน โดยเน้นความสำคัญของ (๑) ทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและเสริมสร้างทักษะวิชาชีพด้านต่าง ๆ และ (๒) ความมั่นคงทางอาหาร โดยไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารที่สำคัญของโลก พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในเรื่องการเพิ่มผลิตภาพและการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ

ทั้งนี้ เอเปค หรือ Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การส่งเสริมการค้าและการลงทุน ซึ่งต่อมาได้มีการขยายความร่วมมือไปยังมิติด้านสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ อาทิ ความร่วมมือด้านการเกษตร การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การสนับสนุนบทบาทของสตรี และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เป็นต้น ปัจจุบัน เอเปคมีสมาชิกทั้งหมด ๒๑ เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ