ที่ประชุมกลุ่ม ๗๗ เชื่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงช่วยปูทางสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ข่าวต่างประเทศ Monday September 26, 2016 13:32 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๙ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีกลุ่ม ๗๗ ครั้งที่ ๔๐ และนำการอภิปรายในหัวข้อ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงของประเทศสมาชิกกลุ่ม ๑๓๔ ประเทศทั่วโลก รวมทั้งผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงชื่นชมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy – SEP) ในฐานะแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) และสามารถสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะในช่วงปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญความท้าทายอย่างหลากหลายทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยและผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ตลอดจนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้น

ประเทศสมาชิกหลายประเทศ อาทิ เลโซโท ตองกา ติมอร์เลสเต และ สปป. ลาว ที่ได้มีความร่วมมือด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับไทย ได้อภิปรายถึงผลลัพธ์ที่จับต้องได้จากการนำ SEP ไปปฏิบัติ โดยเห็นว่า ความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์สาธิตและหมู่บ้าน SEP ซึ่งไทยสนับสนุนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีผลสัมฤทธิเป็นที่น่าพอใจ ช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ในการพลิกฟื้นคุณภาพดินซึ่งเสื่อมโทรมจากแนวปฏิบัติที่ไม่ยั่งยืนในอดีต สร้างความมั่นคงด้านอาหารและยกระดับคุณภาพชีวิตและโภชนาการ นอกจากนี้ ยังเห็นว่า SEP มีเป็นประโยชน์ต่อกิจกรรมด้านการพัฒนาอื่น ๆ นอกจากภาคเกษตร และเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือนจำนวนมาก ทำให้เข้าใจพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ หลายประเทศแสดงความเห็นว่า SEP สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของประเทศตน เช่น แนวคิด Gross National Happiness ของภูฏาน แผนการพัฒนา Filipino ๒๐๔๐ ของฟิลิปปินส์ หรือ วาระการพัฒนา ค.ศ. ๒๐๖๓ ของ African Union โดยแนวคิดเหล่านี้ล้วนเป็นแนวทางการพัฒนาที่คิดค้นจากประสบการณ์ของท้องถิ่น (home-grown approach) และตอบโจทย์เงื่อนไขภายในของแต่ละประเทศ

ประเทศสมาชิกอื่น ๆ อีกหลายประเทศ เช่น บราซิล ซิมบับเว อินโดนีเซีย สิงคโปร์ อียิปต์ แอลจีเรีย มาเลเซีย มองโกเลีย กัมพูชา เคนยา นิการากัว และจีน แสดงความเห็นเกี่ยวกับ SEP อย่างหลากหลายและสร้างสรรค์ อาทิ ชื่นชมไทยที่เผยแพร่แนวทางการพัฒนานี้แก่ประชาคมโลก ซึ่งช่วยเสริมความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ผ่านความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคี นอกจากนี้ SEP ยังมุ่งเน้นการพัฒนาที่ไม่ละทิ้งใครไว้ข้างหลัง เน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งจากภายในที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เน้นสร้างภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงในอนาคต และนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุล ตลอดจนสอดรับกับเป้าหมาย SDGs โดยเฉพาะเป้าหมายที่ ๑ การขจัดความยากจน เป้าหมายที่ ๒ ขจัดความหิวโหย เป้าหมายที่ ๔ การศึกษา เป้าหมายที่ ๘ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ ๑๐ ลดความเหลื่อมล้ำ เป้าหมายที่ ๑๒ การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ ๑๕ หยุดยั่งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน เป้าหมายที่ ๑๖ ส่งเสริมให้สังคมมีความเป็นปกติสุข เป้าหมายที่ ๑๘ หุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากล อีกทั้งมิติด้านคุณธรรมของ SEP ยังสอดคล้องกับหลักการระหว่างประเทศด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลและความเท่าเทียมกันอีกด้วย

สำหรับนางเฮเลน คลาร์ก ผู้บริหารสูงสุดโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP Administrator) ชื่นชมแนวคิด SEP ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน และสามารถช่วยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้หลายมิติ อาทิ ด้านการเกษตร การพัฒนาชุมชน และภาคเอกชน ตลอดจนการอนุรักษ์แหล่งน้ำและป่าไม้

ที่ประชุมฯ ได้รับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรีกลุ่ม ๗๗ โดยยินดีที่ไทยได้แบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประกอบด้วยหลักการมีเหตุผล พอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน บนพื้นฐานของความรู้คู่คุณธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตอย่างสมดุลทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ