ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี พิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๔ วันอาทิตย์ที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ - ๐๙.๔๕ น. ณ ห้อง Crystal Hall โรงแรมดิ แอทธินี กรุงเทพฯ

ข่าวต่างประเทศ Monday June 24, 2019 15:47 —กระทรวงการต่างประเทศ

ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี พิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๔ วันอาทิตย์ที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ - ๐๙.๔๕ น. ณ ห้อง Crystal Hall โรงแรมดิ แอทธินี กรุงเทพฯ

Your Majesty,

Excellencies,

Honoured Guests,

๑. I wish to welcome all of you to the Kingdom of Thailand, the birthplace of ASEAN. May I now speak in Thai, please put on your headphones.

๒. "We dare to dream, we care to share." เรากล้าฝัน เรายินดีจะแบ่งปัน เนื้อร้องของเพลงดิอาเซียนเวย์ (The ASEAN Way) ที่ได้ยินเมื่อสักครู่นี้ สะท้อนเส้นทางตลอด ๕ ทศวรรษที่ผ่านมาของอาเซียนได้ดีที่สุด

๓. มองย้อนกลับไปเมื่อ ๕๒ ปีที่แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศ ๕ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ลงนาม ในปฏิญญากรุงเทพฯ ที่พระราชวังสราญรมย์ ถือว่าเป็นจุดกำเนิดของอาเซียน ก็คงมีน้อยคนที่จะคาดคิดว่า ในความกล้าที่จะฝันในวันนั้น อาเซียนได้พัฒนาจากสมาคมเล็ก ๆ ของ ๕ ชาติสู่ประชาคมที่เหนียวแน่นของ ๑๐ ประเทศ และด้วยความกล้าที่จะฝันจากรุ่นสู่รุ่น เราได้เติบโตเป็นประชาคมที่เป็นปึกแผ่น มีสันติภาพและมั่นคง มีกฎกติกา เป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดอันดับ ๖ ของโลก และมีความร่วมมือที่ครอบคลุมทุกสาขา ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนอาเซียนทุกคน

๔. เราได้ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกันมาโดยตลอด ตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน ในวันที่ เราประสบกับวิกฤตทางการเงินและเศรษฐกิจในเอเชีย อาเซียนคือพลังสำคัญที่จับมือกับมิตรประเทศ ในการฟันฝ่าอุปสรรคและสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว และในวันที่เราพบเจอกับภัยพิบัติ ทางธรรมชาติครั้งใหญ่ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ หรือพายุไซโคลน พวกเราชาวอาเซียนก็ไม่เคยทอดทิ้งกัน มีแต่จะยื่นมือช่วยเหลือกัน ด้วยจิตสำนึกของการเป็นประชาคมอาเซียน ประชาคมเดียวกัน วันนี้ ภูมิภาคของเรายังคงสงบสุข ปราศจากสงครามและการสู้รบ เพราะอาเซียนย้ำเตือนให้พวกเราเคารพใน ความแตกต่างหลากหลายและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

๕. ในวันนี้นั้น พวกเราผู้นำอาเซียนจะร่วมกันประกาศการเปิดตัวคลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือทางไกลของอาเซียน ภายใต้โครงการจัดตั้งระบบโลจิสติกส์ฉุกเฉินสำหรับใช้ในกรณีเกิดภัยพิบัติของอาเซียน (DELSA) และการยกระดับศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนให้เป็นองค์กรของอาเซียนในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของอาเซียนในการบริหารจัดการผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

๖. และในยุคนี้ ที่การแข่งขันทางการค้าและการเมืองระหว่างประเทศเข้มข้นขึ้น ปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติเพิ่มสูงขึ้น เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดได้เปลี่ยนแปลงชีวิตมากขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทำลายระบบนิเวศให้เสื่อมโทรม หากไม่มีอาเซียน เราจะรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างไร แต่ละประเทศโดยลำพังจะสามารถเผชิญหน้ากับความท้าทายทุกอย่างได้มากน้อยเพียงใด ผมนั้นเอง เชื่อมั่นว่าพลังของอาเซียนที่เข้มแข็งและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพวกเราคือคำตอบที่จะช่วยให้พวกเราก้าวผ่านทุกความท้าทายในครั้งนี้ และสามารถวางรากฐานที่มั่นคงให้กับอนุชนรุ่นหลังได้

๗. นั่นคือเหตุผลที่ไทยได้ประกาศแนวคิดหลัก "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน (Advancing Partnership for Sustainability)" ด้วยความฝันที่จะให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยต่อยอดจากสิ่งดี ๆ ที่อาเซียนได้สร้างกันมาในอดีต และมองไปสู่อนาคตเพื่อความสุขของชนรุ่นหลังที่จะเห็นภูมิภาคที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ และความรุ่งเรืองต่อไปอย่างยั่งยืน

๘. ประการแรก เราฝันที่จะเห็นอาเซียนก้าวไกล (Advancing) ให้อาเซียนมองและก้าวไปสู่อนาคตด้วยกัน อย่างไม่หยุดนิ่ง ใช้ประโยชน์จากยุค ๔.๐ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างภูมิคุ้มกันจากเทคโนโลยี ที่ก้าวกระโดด เพื่อมุ่งไปสู่ดิจิทัลอาเซียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Digital and Green ASEAN)

๙. ประการที่สอง เราฝันที่จะเห็นอาเซียนร่วมมือ ร่วมใจ (Partnership) ด้วยการร่วมมือที่ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ทั้งในอาเซียนกันเองและกับภาคีนอกภูมิภาค เพื่อจะส่งเสริมให้อาเซียนเป็นแกนกลางของภูมิภาค และเพิ่มบทบาทอาเซียนในการแก้ไขปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมไปถึงส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล กฎระเบียบ และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน เพื่อก้าวไปสู่อาเซียนที่ไร้รอยต่อ (Seamless ASEAN) และเชื่อมโยงกับประชาคมโลกโดยผ่านยุทธศาสตร์เชื่อมความเชื่อมโยงของทุกฝ่าย

๑๐. และประการสุดท้าย เราต่างฝันที่จะเห็นอาเซียนมีความยั่งยืน (Sustainability) คือความยั่งยืนในทุกมิติ ตั้งแต่ด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งนับจากนี้ ความยั่งยืนในทุกมิติหรือ เอสโอที (Sustainability of Things) คือแนวทางใหม่ที่อาเซียนต้องคำนึงในทุกการตัดสินใจ และจะอยู่ใน ดีเอ็นเอของอาเซียนที่จะถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นหน้า เนื่องจากประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืนจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางยุทธศาสตร์ให้กับอาเซียนในระยะยาว เพื่อเป็นเกราะให้กับประชาชนของเราต่อความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคและโลก

ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย

๑๑. ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ไทยจะสานต่อข้อริเริ่มของประธานอาเซียนในปีที่ผ่าน ๆ มา และขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุความฝันที่เราวางไว้ร่วมกันและให้ประชาชนของอาเซียนทั้งรุ่นนี้และรุ่นหน้าสามารถที่จะรับมือกับความท้าทายและได้ประโยชน์จากอาเซียนใน ๓ มิติสำคัญ ดังนี้

๑๒. หนึ่ง มั่นคงขึ้น พวกเราจะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ดีขึ้น เช่น มิติความมั่นคงทางไซเบอร์พวกเราจะได้รับประโยชน์จากการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ไทย ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถของภูมิภาคให้รับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ในมิติอาชญากรรมข้ามชาติที่มีอัตราสูงขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน อาเซียนจะส่งเสริมการบริหารจัดการชายแดนเพื่อป้องกัน ภัยคุกคามจากอาชญากรรมข้ามชาติและอำนวยความสะดวกให้การค้า การลงทุน และการเดินทางสัญจรข้ามพรมแดนของพวกเรามีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และท้ายที่สุดคือการมีภูมิคุ้มกันที่จะรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้น พวกเราจะได้รับความมั่นใจได้ว่า ในกรณีที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ คลังเก็บสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในอาเซียนที่จังหวัดชัยนาท จะพร้อมสนับสนุนสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในทุกที่และทุกเมื่อได้อย่างทันท่วงที

๑๓.สอง มั่งคั่งขึ้น จากกระแสต่อต้านระบบการค้าพหุภาคีเป็นเครื่องย้ำเตือนว่า อาเซียนเราจะต้องจับมือกันให้แน่นขึ้นและผลักดันให้การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ อาร์เซ็ป (RCEP) แล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้อาร์เซ็ปกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และช่วยรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียนในอนาคต อีกความมั่งคั่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้น คือการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน ซึ่งคาดว่า จะช่วยเพิ่มจีดีพีของอาเซียนอีก ๑ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๕ ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุค 4IR และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ MSMEs แรงงานมีทักษะ ผู้ประกอบการวิชาชีพ และภาคการเกษตร โดยเฉพาะ การสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างของการพัฒนา รวมทั้งการใช้ประโยชน์จาก EEC และการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่าง ๆ ทั้งใน ACMECS ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและอินโด-แปซิฟิก

๑๔.และสาม ยั่งยืนขึ้น อาเซียนจะขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและ การหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะจัดตั้งขึ้นในไทยเป็นกลไกสำคัญ ในมิติความมั่นคงของมนุษย์ อาเซียนจะพัฒนาศักยภาพของประชาชนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยการฝึกฝนและพัฒนาทักษะให้ผู้สูงวัยอาเซียน โดยผ่านการดำเนินงานของศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและ มีนวัตกรรมที่จะจัดตั้งขึ้นในไทย ในมิติความยั่งยืนของความสัมพันธ์ระดับประชาชน พวกเราจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้อัตลักษณ์และวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน จากการประกาศรับรองปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน ๒๕๖๒ รวมทั้ง การใช้ประโยชน์จากศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ในมิติสิ่งแวดล้อม อาเซียนจัดทำกรอบปฏิบัติงานด้านขยะทะเล ฉบับแรก และจะส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืนเพื่อให้พื้นที่ทางทะเลของเรามีความยั่งยืน ท้ายที่สุด มิติของการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนด้วยเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ที่พัฒนาทั้งด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ควบคู่กับการขจัดความเหลื่อมล้ำและเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน เพื่อประโยชน์ของพวกเรา ประชาชนชาวอาเซียนในระยะยาว

ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย

๑๕.วันนี้ ถึงเวลาของคนรุ่นนี้ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนความฝันของพวกเราสู่การลงมือกระทำเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งอาเซียนเมื่อกว่า ๕ ทศวรรษที่แล้ว เพื่อจะสร้างภูมิภาคแห่งสันติสุขและความก้าวหน้าให้กับประชาชนอาเซียนทุกคน ตลอดจนวางรากฐานที่มั่นคงแข็งแรงให้คนรุ่นหน้าในอีกครึ่งศตวรรษหลังจากนี้

๑๖.ประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกประเทศสมาชิก ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และที่สำคัญที่สุด เจ้าของประชาคมอาเซียน ก็คือประชาชน ทุกคน ทุกช่วงวัย ผมจึงขอใช้โอกาสนี้ เชิญชวนทุกท่านทั้งในห้องนี้ และพวกเราชาวอาเซียนทุกคนได้ปลุกดีเอ็นเอความเป็นอาเซียนในตัว และร่วมแรงร่วมใจ จับมือกันให้เข้มแข็งและก้าวไปข้างหน้า เพื่อวางรากฐานให้ประชาคมอาเซียนมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต โดยคำนึงถึงความยั่งยืนในทุกมิติโดยแท้จริง

๑๗.ยินดีต้อนรับสู่ประเทศไทยอีกครั้งครับ ขอบคุณครับ Thank you very much

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ