สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานพระราชวโรกาส ให้คณะนักเรียนไทยในสาธารณรัฐฝรั่งเศส เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 2, 2019 11:07 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๒.๓๐ น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานพระราชวโรกาสให้นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส นำคณะนักเรียนและนักศึกษาไทยในสาธารณรัฐฝรั่งเศส จำนวน ๙๑ คน เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส

การจัดกิจกรรมพบปะนักเรียนและนักศึกษาไทยในสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นกิจกรรมตามพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อความเป็นอยู่และทุกข์สุขของประชาชนไทย โดยเฉพาะนักเรียนและนักศึกษาไทยในสาธารณรัฐฝรั่งเศสซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพและนำกลับไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยการจัดกิจกรรมมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้นักเรียนและนักศึกษาไทยได้พบปะทำความรู้จักและสร้างเครือข่าย เพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นในประเด็นที่เป็นประโยชน์และอยู่ในความสนใจร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันทั้งในด้านการศึกษาและการดำรงชีวิตอยู่ในฝรั่งเศสให้เป็นไปอย่างราบรื่นและประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับคณะนักเรียนซึ่งศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ อาทิ แพทย์ศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ กฎหมาย และการออกแบบ เป็นต้น โดยทรงเล่าถึงประสบการณ์ส่วนพระองค์เมื่อครั้งทรงศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส โดยมีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจ โดยทรงขอให้นักเรียนทุกคนภูมิใจในวัฒนธรรม ภาษาและความเป็นไทย รักประเทศชาติ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ รู้จักเลือกนำจุดแข็งเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพและประเทศชาติ นอกจากนั้น ทรงแลกเปลี่ยนความเห็นและให้คำแนะนำอย่างเปิดกว้างในฐานะ “รุ่นพี่ ... สู่รุ่นน้อง” อาทิ แนวทางการเตรียมตัวก่อนมาศึกษาในประเทศฝรั่งเศส การใช้ชีวิตในฐานะนักเรียนให้ประสบความสำเร็จ ความสำคัญของการทูตวัฒนธรรมซึ่งเป็น soft power ที่จะทำให้เปิดกว้างด้านความคิดและเปิดใจกับบุคคลต่าง ๆ ได้โดยง่าย เป็นต้น และในช่วงท้าย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานของที่ระลึกแก่นักเรียนไทย และทรงฉายพระรูปร่วมกับคณะนักเรียนอย่างเป็นกันเองซึ่งสร้างความปลื้มปิติให้แก่นักเรียนและนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับนักเรียนและนักศึกษาไทยในฝรั่งเศสที่เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน ๙๑ คน มาจากกรุงปารีสและเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ ประกอบด้วย นักเรียนระดับปริญญาเอก จำนวน ๑๔ คน ระดับปริญญาโท จำนวน ๔๓ คน ระดับปริญญาตรี จำนวน ๘ คน ระดับเตรียมภาษา มัธยมศึกษา และการทำวิจัย จำนวน ๒๖ คน ในจำนวนนี้ เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไทยและทุนเล่าเรียนหลวง จำนวน ๑๕ คน ทุนรัฐบาลและหน่วยงานของฝรั่งเศส จำนวน ๒๒ คน ทุนส่วนตัวจำนวน ๔๖ คน และทุนอื่น ๆ เช่น ทุนภาคเอกชน จำนวน ๘ คน โดยอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการศึกษา) ได้ถวายรายงานเกี่ยวกับข้อมูลภาพรวมด้านการศึกษาในประเทศฝรั่งเศส และตัวแทนคณะนักเรียนได้ถวายรายงานเกี่ยวกับประสบการณ์ด้านการศึกษาและการใช้ชีวิตในประเทศฝรั่งเศส

อนึ่ง ระบบการศึกษาของฝรั่งเศสเป็นระบบที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน ซึ่งคณะกรรมธิการยุโรป รวมถึงสถาบันการศึกษาของเซียงไฮ้ และนิตยสาร Financial Times จัดให้สถาบันการศึกษาของฝรั่งเศสอยู่ในลำดับต้นๆ ทั้งนี้ ฝรั่งเศสได้จัดสรรงบประมาณมากกว่าร้อยละ ๒๐ ของงบประมาณประจำปีเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการวิจัย และช่วยเหลือค่าเล่าเรียนให้กับนักเรียนทุกคนรวมถึงนักเรียนต่างชาติด้วย ฝรั่งเศสจึงเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดประเทศหนึ่งขณะที่ค่าใช้จ่ายในการศึกษาไม่สูงมากนัก

ฝรั่งเศสมีความโดดเด่นทางด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ทั้งทางด้านการคมนาคม อากาศยานหรือด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งความเป็นเลิศทางวิชาการส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของฝรั่งเศสให้มีชื่อเสียงระดับสากล โดยความสำเร็จของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ผลักดันให้มีการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพในสาขาเหล่านี้ และพัฒนาการวิจัยให้ล้ำหน้าขึ้นเรื่อย ๆ นอกเหนือจากความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว ฝรั่งเศสยังมีชื่อเสียงในด้านศิลปะ วัฒนธรรม และการออกแบบแฟชั่น ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก และในด้านสังคมศาสตร์ กฎหมายมหาชนฝรั่งเศสก็เป็นต้นแบบระบบกฎหมายมหาชนของประเทศไทย จึงทำให้นักเรียนไทยมาเรียนในประเทศฝรั่งเศสจำนวนมาก ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Campus France ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการศึกษาของฝรั่งเศสระบุว่า ปัจจุบัน มีนักเรียนไทยมาศึกษาในฝรั่งเศส จำนวน ๕๗๖ ราย ส่วนใหญ่ศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ โดยฝรั่งเศสถือเป็นประเทศเป้าหมายสำหรับนักเรียนไทยที่นิยมมาศึกษาต่อมากเป็นอันดับ ๗ (รองจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อียิปต์ และมาเลเซีย ตามลำดับ) และเป็นอันดับ ๒ ของประเทศในยุโรป (รองจากสหราชอาณาจักร) ในทางกลับกัน นักเรียนจากประเทศฝรั่งเศสที่ไปศึกษาในประเทศไทยก็มีจำนวนไม่น้อย โดยอยู่ในลำดับที่ ๒๒ ของนักเรียนต่างชาติที่ไปศึกษาในประเทศไทย

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ