ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ผ่านการถ่ายทอดสดทาง Facebook กระทรวงการต่างประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Friday April 23, 2021 13:37 —กระทรวงการต่างประเทศ

ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น.

ผ่านการถ่ายทอดสดทาง Facebook กระทรวงการต่างประเทศ

โดยวันที่ ๒๒ เมษายนของทุกปี ตรงกับวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมเฉลิมฉลองวันคุ้มครองโลกด้วยการร่วมกันทำกิจกรรมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างสมดุลภาพระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และในชุมชน อาทิ การจัดการขยะโดยใช้วิธี 3Rs (Reduce Reuse Recycle) การใช้ถุงผ้าแทนถุงพาสติก การปลูกต้นไม้ การรักษาความสะอาดตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างความตระหนักรู้แก่เยาวชนบุตรหลานให้เห็นความสำคัญของการดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งผ่านโลกที่ดีขึ้นไปสู่คนรุ่นอนาคต

๑. การประชุมผู้นำอาเซียน (ASEAN Leaders? Meeting) วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๔ ณ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน (ASEAN Leaders? Meeting) ณ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ในวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๓๐ - ๑๕.๓๐ น. โดยได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมฯ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีภารกิจในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ภายในประเทศ

การประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกในรูปแบบ physical ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยที่ประชุมจะหารือเกี่ยวกับการสร้างประชาคมอาเซียน ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับภาคีหรือกลุ่มประเทศภายนอก และการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ในเมียนมา

การประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้ผู้นำอาเซียนได้หารือกันอย่างสร้างสรรค์ จริงใจ และตรงไปตรงมา เพื่อหาทางยุติความรุนแรงและหาทางให้ฝ่ายต่าง ๆ ในเมียนมาหันหน้าเข้าหากันและหาทางออกโดยสันติผ่านช่องทางที่สร้างสรรค์ ภายใต้การสนับสนุนของอาเซียน

เมียนมาไม่เพียงเป็นเพื่อนบ้านสำคัญของไทยที่มีพรมแดนติดกันยาวที่สุด แต่ถือว่าเป็นสมาชิกสำคัญของครอบครัวอาเซียนด้วย เสถียรภาพและสันติภาพในเมียนมาจึงเป็นส่วนหนึ่งของเสถียรภาพและสันติภาพของอาเซียนอย่างแยกจากกันไม่ได้ ดังนั้น อาเซียนจำเป็นต้องมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์เพื่อช่วยเหลือเมียนมา โดยจากประสบการณ์ที่ผ่านมา แนวทางที่น่าจะประสบความสำเร็จมากที่สุดคือการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและรักษาช่องทางการพูดคุยกับฝ่ายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนกระบวนการปรองดอง

(English version)

Deputy Prime Minister and Minister of Foreign Affairs will attend the ASEAN Leaders' Meeting at the ASEAN Secretariat, Jakarta, Indonesia on 24 April 2021 at 13:30 - 15:30 (Jakarta Time)

As the current COVID-19 situation in Thailand requires the Prime Minister?s presence in the country, the Prime Minister has appointed the Deputy Prime Minister and Minister of Foreign Affairs as his Special Envoy to attend the Meeting.

The upcoming ASEAN Leaders? Meeting is not only the first meeting of ASEAN Leaders since the event on 1 February 2021 in Myanmar but also the first physical meeting of ASEAN Leaders since the COVID-19 pandemic began around the world over a year ago.

It will provide an opportunity for ASEAN Leaders to discuss important regional and international issues including situation in Myanmar and how to make ASEAN stronger and more resilient post pandemic.

ASEAN is also aware of the external expectations to deliver tangible outcomes with regard to the situation in Myanmar.

All ASEAN Member States including Thailand share the view that the immediate priorities are (1) to find a way to stop violence and de-escalate the situation and (2) to find an opportunity for parties concerned in Myanmar to seek a peaceful solution through dialogue via any constructive channel.

Thailand stands ready to assist all parties concerned to achieve these two goals as well as the reconciliation and peaceful resolution of the present conflict as a sincere and honest broker.

Myanmar is not only Thailand?s neighbor with over 2,400 of land border and close people-to-people ties going back centuries, but also an integral part of the ASEAN family. It is therefore in the region?s utmost interests to see peace and stability prevailing in Myanmar. ASEAN can play a constructive role to assist Myanmar in the best way possible to resolve the present situation peacefully and return the country to normalcy swiftly for the benefit of the people of Myanmar. It is now up to ASEAN family members, including Myanmar, to safeguard ASEAN unity and credibility.

๒. การเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (หรือ ECOSOC) ระดับรัฐมนตรี สมัยพิเศษ เรื่อง ?A Vaccine for All?

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสนอให้นานาประเทศร่วมมือกันแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีนโควิด-๑๙ ของประเทศต่าง ๆ โดยเน้น ๓ ประเด็นสำคัญ ได้แก่

๑) การเพิ่มกำลังผลิตและความสามารถการกระจายวัคซีนที่ทั่วถึง โดยไทยสามารถเป็นแหล่งการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ อีกแหล่งสำหรับภูมิภาค อีกทั้งไทยกำลังพัฒนาวัคซีนของไทยเองซึ่งจะสามารถสนับสนุนความพยายามของประชาคมโลกได้

๒) ประเทศต่าง ๆ ควรพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยเร่งส่งเสริมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และ

๓) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก ECOSOC และสมัชชาสหประชาชาติ โดยโยงการหารือแนวทางส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนและยารักษาโรคที่เท่าเทียม กับการดำเนินการด้านการพัฒนาและฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคม

๓. การดำเนินการติดตามทวงคืนโบราณวัตถุ (ทับหลังและพระพุทธรูป) กลับคืนจากสหรัฐอเมริกาสู่ประเทศไทย

๓.๑ กรณีการติดตามทวงคืนพระพุทธรูป ๑๓ องค์

พระพุทธรูป ๑๓ องค์ ประกอบด้วยพระพุทธรูปเก่าแก่ ศิลปะสุโขทัยและอยุธยา หลายชิ้นเป็นงานโลหะสำริด ที่ถูกลักลอบนำออกจากประเทศไทยและถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ ได้แก่ Antiquities Trafficking Unit (ATU) สำนักงานอัยการนครนิวยอร์ก ซึ่งได้ดำเนินคดีอาญากับผู้ร่วมขบวนการลักลอบนำเข้าวัตถุโบราณวัตถุ และยึดโบราณวัตถุจากคดีดังกล่าว รวมถึงพระพุทธรูปจำนวน ๑๓ รายการ ที่มีต้นทางการลักลอบขนส่งจากประเทศไทย และประสงค์จะจัดพิธีส่งมอบพระพุทธรูปให้กับทางการไทยในโอกาสแรก โดยกรมศิลปากรได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการรับมอบพระพุทธรูปจากฝ่ายสหรัฐฯ รวมทั้งมอบอำนาจให้กงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์กเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยลงนามในเอกสารทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมอบพระพุทธรูปดังกล่าว

กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนว่า จะมีการจัดพิธีรับมอบพระพุทธรูปทั้ง ๑๓ องค์ อย่างเป็นทางการใน วันพฤหัสบดี ที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๐๐ น. (เวลาท้องถิ่น) ณ ที่ทำการสถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก โดยมีผู้แทนระดับสูงของสำนักงานอัยการเขตนครนิวยอร์กเป็นผู้มอบ และกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์กในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยเป็นผู้รับมอบ และได้เชิญเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน และเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เข้าร่วมด้วย

๓.๒ กรณีการติดตามทวงคืนทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ. บุรีรัมย์ และปราสาทเขาโล้น จ. สระแก้ว

กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการเพื่อเตรียมพร้อมรับมอบทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ. บุรีรัมย์ และปราสาทเขาโล้น จ. สระแก้ว จากฝ่ายสหรัฐฯ ในโอกาสแรก และได้ประสานกับบริษัทขนส่งที่มีความเชี่ยวชาญ โดยมีแผนที่จะส่งทับหลังทั้งสองรายการและพระพุทธรูปทั้ง ๑๓ องค์ กลับคืนสู่ประเทศไทยพร้อมกัน

๓.๓ พิธีรับมอบทับหลังทั้งสองรายการ และพระพุทธรูปทั้ง ๑๓ รายการ

หลังจากที่กงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก และกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส รับมอบโบราณวัตถุจากฝ่ายสหรัฐฯ แล้ว จะมีการจัดพิธีรับมอบส่งต่อทับหลังทั้งสองรายการ และพระพุทธรูปทั้ง ๑๓ รายการ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ ทั้งนี้ กรมศิลปากรอยู่ระหว่างจัดเตรียมพิธี โดยจะเชิญรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ส่งมอบโบราณวัตถุ และเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับมอบโบราณวัตถุ รวมทั้งเชิญอุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยและเจ้าหน้าที่หน่วยงาน Homeland Security Investigations (HSI) ประจำสำนักงานกรุงเทพฯ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีด้วย จากนั้น กรมศิลปากรจะนำทับหลังฯ มาจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นระยะเวลาประมาณ ๓ เดือน ก่อนที่จะเก็บรักษาถาวรในสถานที่ที่เหมาะสมต่อไป

กระทรวงการต่างประเทศขอขอบคุณนาย Matthew Bogdanos หัวหน้าหน่วยงาน ATU และสำนักงานอัยการเขตนครนิวยอร์ก ผู้รับผิดชอบคดีพระพุทธรูปฯ นาย David Keller เจ้าหน้าที่พิเศษ HSI ผู้รับผิดชอบคดีทับหลังฯ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ที่ผลักดันติดตามทวงคืนโบราณวัตถุกลับคืนสู่ประเทศไทยจนสำเร็จ

กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญ ดำเนินการร่วมกันภายใต้คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของประเทศไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย

๔. มาตรการของมาเลเซียให้ชาวต่างชาติที่พำนัก overstay/ไม่มีวีซ่า เดินทางออกประเทศ ภายในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๔

ตามที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียได้ประกาศมาตรการให้ชาวต่างชาติที่พำนักในมาเลเซียเกินกำหนด (overstay) เดินทางออกจากมาเลเซีย ภายในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู ได้ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องให้ชุมชนไทยในมาเลเซียทราบและปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว

กระทรวงการต่างประเทศขอแนะนำให้พี่น้องคนไทยในมาเลเซียที่ overstay ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๓ และยังไม่เดินทางออกจากมาเลเซียภายในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๔ ขอให้รีบดำเนินการ ดังต่อไปนี้

ลงทะเบียนขอเดินทางกลับประเทศไทย ทางเว็บไซต์ http://dcaregistration.mfa.go.th

นำใบรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry: COE) ซึ่งสามารถดาวน์โหลดผ่านระบบลงทะเบียนข้างต้น หลังได้รับการอนุมัติจากสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ฯ ไปยื่นที่ ตม. มาเลเซีย เพื่อขอ special pass โดยเอกสาร special pass มีค่าธรรมเนียม ๑๐๐ ริงกิตมาเลเซีย

นำ special pass ไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ ตม. มาเลเซียที่ด่านพรมแดนในการขอเดินทางออกจากมาเลเซีย ทั้งนี้ จะต้องชำระค่าปรับ overstay ด้วยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ตม.มาเลเซีย

สำหรับผู้ที่ overstay มาตั้งแต่ก่อนวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๓ (ก่อนช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙) หรือเข้าเมืองผิดกฎหมาย (ไม่มีตราประทับเข้าเมือง) ซึ่งไม่ได้รับการยกเว้นโทษในฐานะคนตกค้างนั้น ขอเรียนว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการทำผิดกฎหมายเข้าเมืองมาเลเซีย มีโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ ริงกิตมาเลเซีย และ/หรือจำคุกไม่เกิน ๕ ปี กระทรวงการต่างประเทศจึงขอแนะนำให้คนไทยที่เข้าข่ายนี้พิจารณาเข้าร่วมโครงการ Recalibration Program (Repatriation) โดยทำนัดหมายกับ ตม. มาเลเซีย เพื่อชำระค่าปรับ ๕๐๐ ริงกิตมาเลเซีย และจะได้รับ special pass เพื่อใช้เดินทางกลับไทยโดยไม่ถูกจับกุมดำเนินคดีในมาเลเซีย (ยกเว้นรัฐซาบาห์ รัฐซาราวัก และเขตปกครองพิเศษลาบวน ซึ่งจะประกาศรายละเอียดโครงการต่างหาก)

ผู้เข้าร่วมโครงการ Repatriation ต้องเดินทางออกจากมาเลเซียภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ จึงขอแนะนำให้รีบทำนัดหมายเพื่อชำระค่าปรับกับ ตม. มาเลเซีย เนื่องจากคิวการนัดหมายมีจำนวนจำกัดในแต่ละวัน

ทั้งนี้ คนไทยในมาเลเซียสามารถเดินทางกลับประเทศได้ทางด่านพรมแดนทางบก ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ โดยโควตาจำนวนผู้ลงทะเบียนกลับไทยยังมีที่ว่างเพียงพอมาโดยตลอด และสามารถเดินทางกลับไทยทางอากาศ โดยมีเที่ยวบินเส้นทาง กรุงกัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์-กรุงเทพฯ ทุกวัน

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก Facebook ?กงสุลไทย กัวลาลัมเปอร์?

๕. การเตือนคนไทยอย่าหลงเชื่อไปทำงานในกัมพูชาอย่างผิดกฎหมาย

กระทรวงการต่างประเทศขอแจ้งเตือนผู้ที่มีความสนใจจะเดินทางไปทำงานที่ประเทศกัมพูชาโดยขอให้ระวังนายหน้าที่ชักชวนไปทำงานโดยบอกว่าไม่ต้องใช้หนังสือเดินทางหรือหนังสือข้ามแดน ไม่ต้องขอวีซ่า ไม่ต้องตรวจโควิด-๑๙ และไม่ได้เดินทางตามช่องทางปกติที่มีเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแล รวมถึงเงื่อนไขงานที่ดีจนผิดปกติ

การเข้าไปทำงานผ่านช่องทางเช่นนี้ ท่านจะไม่ได้รับการคุ้มครองใด ๆ และไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและเงินชดเชยได้หากถูกเบี้ยวสัญญาจ้างงาน ถูกทำร้ายร่างกาย กักบริเวณ หรือต้องพักอาศัยอย่างสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-๑๙ รวมถึงถูกขายต่อ นอกจากนี้ ยังอาจมีหนี้สินท่วมตัว และมีความผิดฐานเข้าเมืองผิดกฎหมายและทำงานผิดกฏหมาย ซึ่งต้องรับโทษหลายต่อ ทั้งถูกดำเนินคดี และขึ้นบัญชีดำทั้งในไทยและกัมพูชา

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมการกงสุล หมายเลขโทรศัพท์ ๐๒-๕๗๒-๘๔๔๒

หากคนไทยประสงค์จะเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ขอให้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เคารพกฎหมายและกฎระเบียบในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายโรคในวงกว้างมากขึ้น และอาจก่อความเดือดร้อนต่อผู้คนและสังคมในพื้นที่ที่ท่านเดินทางไปด้วย

กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ด้วยว่า สปป.ลาว ได้เพิ่มมาตรการสกัดกั้น ควบคุม และเตรียมความพร้อมรอบด้านเพื่อต้านโรคโควิด-๑๙ โดยห้ามเข้า-ออก นครหลวงเวียงจันทน์และห้ามประชาชนที่พำนักในนครหลวงเวียงจันทน์ออกจากบ้าน ระหว่างวันที่ ๒๒ เมษายน ? ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ยกเว้นมีเหตุจำเป็น

๖. สถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมาและกรณีผู้หนีภัยความไม่สงบ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและกองกำลังของไทยในพื้นที่ยังเฝ้าติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย - เมียนมาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังมีรายงานการปะทะกันระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยในเมียนมาอยู่เป็นระยะ

เกี่ยวกับนโยบายต่อกลุ่มผู้หนีภัยฯ เข้ามาในไทยนั้น ขอให้มั่นใจว่า ไทยมีประสบการณ์ในการรับมือกับกลุ่มผู้หนีภัยการสู้รบหรือสถานการณ์ความไม่สงบจากประเทศเพื่อนบ้านมายาวนาน และที่ผ่านมาได้ให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมและหลักสากลระหว่างประเทศมาโดยตลอด ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคงและจังหวัดตามแนวชายแดนได้มีการเตรียมพร้อม ทั้งแนวปฏิบัติและสถานที่รองรับไว้แล้ว รวมทั้งมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ที่เป็นแนวปฏิบัติที่มีมาโดยตลอดตั้งแต่ช่วงที่เริ่มการแพร่ระบาดฯ

ข้อมูลจากกระทรวงกลาโหม (สถานะ ๒๐ เม.ย. ๒๕๖๔ เวลา ๐๗.๐๐ น.) ตัวเลขผู้หนีภัยความไม่สงบและการสู้รบในเมียนมาในฝั่งไทย คงเหลือ ๕ คน

๗. ประชาสัมพันธ์

๗.๑ การให้บริการประชาชนของกรมการกงสุลในช่วงการระบาดโควิด-๑๙

เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ตั้งแต่วันที่ ๑๖ เม.ย. - ๓๑ พ.ค. ๒๕๖๔ กรมการกงสุลขอประกาศปรับการให้บริการประชาชน ดังนี้

ลดจำนวนบูทรับคำร้องหนังสือเดินทาง ที่กรมการกงสุลและสำนักงานหนังสือเดินทางทุกแห่ง

ลดจำนวนช่องรับคำร้องของงานสัญชาติและนิติกรณ์ ทั้งที่กรมการกงสุลและสำนักงานสัญชาติและนิติกรณ์ MRT คลองเตย

ปิดให้บริการสำนักงานหนังสือเดินทางฯ มีนบุรี และสำนักงานหนังสือเดินทางฯ ธัญบุรี เป็นการชั่วคราว อย่างไรก็ดี สามารถเข้ารับบริการที่กรมการกงสุล หรือสำนักงานหนังสือเดินทางฯ ศรีนครินทร์ ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงได้

๗.๒ การประกวดภาพยนตร์สั้น MFA Clip Contest

กระทรวงการต่างประเทศขอเชิญชวนคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง ๑๓ - ๒๘ ปี ร่วมสร้างสรรค์ผลงานกับโครงการประกวดภาพยนตร์สั้น ความยาว ๓ - ๕ นาที ในหัวข้อ ?ประเทศไทยที่อยากให้โลกรู้จัก? ชิงรางวัลมูลค่ารวมกว่า ๒๐๐,๐๐๐ บาท

ผู้สมัครจะมีสิทธิได้เข้าร่วมกิจกรรมการเสวนา หัวข้อ ?Cult-จะ-เล่า: ปั้นหนังไทยให้โดนใจต่างชาติ? โดยคุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ คุณภานุ อารี ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ บริษัท สหมงคลฟิล์มฯ และคุณชยนพ บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง เจ้าของผลงานเรื่อง ?Friend Zone..ระวังสิ้นสุดทางเพื่อน?

สามารถดูรายละเอียด สมัคร และส่งผลงานได้ที่ Facebook Page ?MFA Clip Contest? และทวิตเตอร์ @MFAClipContest ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๔

๗.๓ การประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ ๗๕ ปี การเป็นสมาชิกสหประชาชาติของประเทศไทย

เนื่องในโอกาสครบรอบ ๗๕ ปี การเป็นสมาชิกสหประชาชาติของประเทศไทย (United Nations - UN) ในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๔ กรมองค์การระหว่างประเทศจัด การประกวดตราสัญลักษณ์ครบรอบ ๗๕ ปี การเป็นสมาชิกสหประชาชาติของประเทศไทย

กำหนดเปิดรับผลงาน ระหว่างวันที่ ๖ เมษายน ? ๖ พฤษภาคม เวลา ๑๖.๐๐ น. ๒๕๖๔ ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ interorg04@mfa.mail.go.th โดยผลงานควรสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหประชาชาติ รวมทั้งบทบาทของไทยในสหประชาชาติในช่วง ๗๕ ปี ที่ผ่านมา

ผู้มีสิทธิ์ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด ได้แก่ นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และบุคคลทั่วไป สัญชาติไทย ไม่จำกัดอายุ และสามารถสมัครเป็นแบบรายบุคคล หรือแบบกลุ่ม สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ และ Facebook ?กระทรวงการต่างประเทศ?

๗.๔ รายการวิทยุ MFA Update และบันทึกสถานการณ์

ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ เม.ย. ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ ?บันทึกสถานการณ์? ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์เอกอัครราชทูตปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ เรื่อง ?การดูแลและให้ความช่วยเหลือคนไทยในกัมพูชา? สามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ Facebook ?สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย?

ในวันศุกร์ที่ ๒๓ เม.ย. ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕-๐๘.๒๐ น. รายการ ?MFA Update? FM 88 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์เอกอัครราชทูตชัยณรงค์ กีรติยุตวงศ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในหัวข้อ ?Highlights of Thai-Malaysia Bilateral Cooperation? สามารถติดตามรับฟังสด หรือรับฟังย้อนหลังได้ทาง Facebook ?RadioThailand World Service?

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ