ปลัดกระทรวงการต่างประเทศย้ำความมุ่งมั่นของไทยสู่โลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ ในการประชุมรัฐภาคีสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ ครั้งที่ ๑

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 29, 2022 14:07 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๑ - ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๕ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons - TPNW) ครั้งที่ 1 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย โดยไทยได้เน้นย้ำบทบาทของสนธิสัญญาฯ ที่ช่วยส่งเสริมและเกื้อกูลกลไกการลดอาวุธนิวเคลียร์อื่น ๆ และร่วมวางรากฐานการดำเนินงานขั้นต่อไปของสนธิสัญญาฯ เพื่อขับเคลื่อนความพยายามในการนำไปสู่โลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์อย่างเป็นรูปธรรม

สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔ มีวัตถุประสงค์เพื่อห้ามการแพร่ขยาย พัฒนา ทดลอง ใช้ ผลิต สร้าง หรือจัดหาอาวุธนิวเคลียร์มาด้วยประการอื่นใด ปัจจุบันมีรัฐภาคี ๖๕ ประเทศ และมีรัฐผู้ลงนาม ๘๖ ประเทศ โดยไทยเป็น ๑ ใน ๓ ประเทศแรกที่ร่วมลงนามและให้สัตยาบันสนธิสัญญาฯ ในวันแรกที่เปิดให้มีการลงนาม

ในการประชุมรัฐภาคี TPNW ครั้งที่ ๑ รัฐภาคี รัฐผู้ลงนาม และรัฐผู้สังเกตการณ์ รวมถึงภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ตามสนธิสัญญาฯ เช่น การกำหนดระยะเวลาในการทำลายอาวุธนิวเคลียร์ไว้ที่ ๑๐ ปี สำหรับรัฐภาคีที่มีอาวุธนิวเคลียร์ (nuclear armed States) และกำหนดระยะการรื้อถอนอาวุธนิวเคลียร์ไว้ที่ ๙๐ วัน สำหรับรัฐภาคีที่อนุญาตให้รัฐอื่นติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในดินแดนของตน (Nuclear Weapons Hosting States) และการจัดตั้งคณะที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Advisory Group) เพื่อให้คำแนะนำแก่การดำเนินการตามพันธกรณี โดยเฉพาะในการตรวจพิสูจน์การทำลายอาวุธนิวเคลียร์และการช่วยเหลือประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการใช้และทดลองอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานและแต่งตั้งผู้ประสานงานในด้านต่าง ๆ เพื่อสานต่อการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ

รัฐภาคีได้รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมซึ่งประกอบด้วย (๑) ข้อตัดสินใจของที่ประชุมฯ (๒) แผนปฏิบัติการกรุงเวียนนา (Vienna Action Plan) และ (๓) ปฏิญญาของการประชุมรัฐภาคีฯ เรื่อง "ความมุ่งมั่นสู่โลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์" (Our Commitment to a World Free of Nuclear Weapons) ซึ่งเอกสารทั้งหมดสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของรัฐภาคีที่ในการร่วมส่งเสริมความเป็นสากลของสนธิสัญญาฯ แนวทางการดำเนินการตามพันธกรณี และการส่งเสริมความร่วมมือตามสนธิสัญญาฯ

ในการประชุมดังกล่าว ไทยได้กล่าวถ้อยแถลงในวาระการแลกเปลี่ยนความเห็นทั่วไป และวาระเรื่องความส่งเสริมเกื้อกูล (Complementarity) ของสนธิสัญญาฯ ต่อระบอบการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ของโลก โดยที่ประชุมฯ ได้แต่งตั้งให้ไทยเป็นผู้ประสานงานร่วม (co-facilitator) กับไอร์แลนด์ในเรื่องดังกล่าวเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือกับกลไกการลดอาวุธนิวเคลียร์อื่น ๆ ต่อไป ซึ่งเป็นการเน้นย้ำบทบาทที่โดดเด่นของไทยในด้านการลดอาวุธนิวเคลียร์ โดยเฉพาะการเป็น ?สะพานเชื่อม? (bridge builder) เพื่อประสานความเห็นของกลุ่มต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านดังกล่าว

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ