รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ เข้าร่วมการหารือและการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 พย.51 เป็นวันแรก

ข่าวต่างประเทศ Friday November 21, 2008 09:49 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างการรับประทานอาหารเช้า (Informal Breakfast Meeting) และการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) ในวันแรกของการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงประเด็นปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจว่า ผู้นำอาเซียน+3 เห็นพ้องร่วมกันในระหว่างเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรปที่กรุงปักกิ่งเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า จะผลักดันความคิดริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiatives) ให้สามารถจัดการกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงินในระยะสั้นได้ดียิ่งขึ้น และสนับสนุนการดำเนินการทางการเงินระหว่างประเทศให้คล่องตัวยิ่งขึ้นประเทศ รวมทั้งยังได้ร่วมหารือเกี่ยวกับการสนับสนุนการริเริ่มพันธมิตรเอเชีย การขยายตัวของภาคการผลิตหลัก การเสริมสร้างความยืดหยุ่นของโครงสร้างด้านเศรษฐกิจผ่านการปฎิรูปที่ครอบคลุม และดำเนินการสนับสนุนการค้าและการลงทุนเสรีต่อไป

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการของกลุ่ม G-20 โดยเฉพาะการปฎิรูปที่ครอบคลุมและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันการเงินระหว่างประเทศให้สะท้อนถึงบทบาทของกลุ่มเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งได้เสนอให้เอเปคทำการศึกษาเชิงวิเคราะห์บทเรียนที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเสริมสร้างการบริหารแบบธรรมาภิบาล การดูแลสถาบันการเงิน และสาเหตุ/จุดอ่อนของวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงกฎระเบียบพื้นฐานและตลาดสินเชื่อ

โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงประเด็นความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานว่า เป็นประเด็นเชิงโครงสร้างที่มีหลายมิติ ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขในลักษณะที่ครอบคลุมและโปร่งใส เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถึง ความเหมาะสมของเวลาที่จะมีการทบทวนระบบอาหารของเขตเศรษฐกิจเอเปค อีกทั้งยังได้สนับสนุนการรวมตัวกันของตลาดอาหารในอาหารภูมิภาค โดยสมาชิกมีการหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขการบิดเบือนทางการค้า

บทสรุปความสำเร็จของ Doha Development Agenda (DDA) จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เนื่องจากจะช่วยขยายการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ และลดอุปสรรคทางการค้า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีการเกษตร และการปฎิวัติเขียว (Green Revolution) เกี่ยวกับพลังงานชีวภาพ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า เป็นความท้าทายและโอกาสที่เกี่ยวข้องความหลากหลายของวัตถุดิบ ซึ่งจะมีผลต่อความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ สำหรับประเทศไทยได้ให้คำมั่นที่จะส่งเสริมการผลิตพลังงานชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับผลิตอาหารที่ยั่งยืน

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ