เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2552 นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญผู้แทนทางการทูตจากห้าประเทศมาหารือกรณีผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮิงญา

ข่าวต่างประเทศ Monday January 26, 2009 12:00 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2552 นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญผู้แทนทางการทูตจากห้าประเทศมาหารือกรณีผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮิงญา ตามที่ได้รับมอบหมายก่อนหน้านั้นจากนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีเอกอัครราชทูตบังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และอุปทูตพม่า เข้าร่วมการหารือที่กระทรวงการต่างประเทศ ภายหลังจากการหารือดังกล่าว นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว สรุปรายละเอียดได้ดังนี้

  • ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเน้นย้ำว่า กรณีผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮิงญาเป็นปัญหาที่มีมิติระดับภูมิภาคซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน และประเทศจุดหมาย ซึ่งประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศทางผ่านสำหรับผู้ลักลอบเข้าเมืองเป็นจำนวนหลายพันคนในแต่ละปี แม้ว่าประเทศไทยเองไม่ใช่จุดหมายของชาวโรฮิงญา แต่ก็สามารถประมาณการได้ว่า ผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮิงญากว่า 20,000 คน ได้เข้ามาในประเทศไทยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาและยังคงอยู่ภายในประเทศไทย (จำนวนนี้ไม่รวมถึงกลุ่มชาวโรฮิงญาที่เพิ่งลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งในขณะนี้ไม่มีหลงเหลืออยู่ในประเทศไทยแล้ว)
  • เชื่อได้ว่ามีเครือข่ายการลักลอบค้ามนุษย์ที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการจัดการหรืออำนวยความสะดวกแก่ความพยายามที่จะลักลอบเข้าเมืองเหล่านี้
  • นายวีระศักดิ์ฯ เสนอให้ทั้งหกประเทศร่วมมือกันในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเริ่มจากการแลกเปลี่ยนข่าวกรองและข้อมูล รวมถึงแลกเปลี่ยนระเบียบปฏิบัติประจำ (Standard operating procedures- SOPs) ในกรณีการลักลอบเข้าเมืองทางทะเลระหว่างกัน ทั้งนี้ หากแนวทางการแก้ปัญหาเช่นนี้ได้รับการสนับสนุนจากทุกประเทศ ประเทศไทยก็ขอเสนอตัวเป็นผู้จัดการประชุมระดับปฏิบัติการระหว่างหกประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งผู้แทนทางการทูตที่เข้าร่วมการประชุมรับที่จะนำข้อเสนอของประเทศไทยกลับไปหารือกับรัฐบาลของตน
  • การแก้ปัญหานี้ในระยะยาวให้สำเร็จอย่างยั่งยืนได้จำเป็นต้องแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา ซึ่งรวมถึงสถานะความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงญาในพื้นที่ต้นทางของพวกเขาด้วย
  • ต่อคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับบทบาทที่อาจเป็นไปได้ของ UNHCR โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ประเทศไทยและ UNHCR ได้หารือระหว่างกันมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทั้งที่กรุงเทพฯ และนครเจนีวา ซึ่งประเทศไทยเชื่อว่า UNHCR น่าจะสามารถมีส่วนร่วมในการระดมทรัพยากรจากประชาคมโลกเพื่อช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวโรฮิงญาในพื้นที่ต้นทางของพวกเขา

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ