ประเด็นเรื่องผู้ลักลอบเข้าเมืองในทะเลอันดามัน

ข่าวต่างประเทศ Thursday January 29, 2009 13:07 —กระทรวงการต่างประเทศ

ประเด็นเรื่องผู้ลักลอบเข้าเมืองทางทะเลอันดามัน ซึ่งชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมืองรายใหญ่ที่สุด เป็นปัญหาที่ประเทศไทยและประเทศอื่นในภูมิภาคได้เผชิญมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว โดยในช่วงที่ผ่านมานี้ ชาวโรฮิงญาได้หลั่งไหลเข้ามาจำนวนหลายพันคนในแต่ละปี ซึ่งสถิติการจับกุมได้เพิ่มขึ้นถึงสี่เท่านับตั้งแต่ปี 2550 (ค.ศ. 2007) ปัจจุบัน ประมาณการได้ว่ายังคงมีผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในประเทศไทยถึง 20,000 คน ความยากลำบากที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ในการจัดการกับกลุ่มประชากรหลักลอยสะท้อนถึงความซับซ้อนของประเด็นดังกล่าว กรณีชาวโรฮิงญาแสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้ย้ายถิ่นฐานทางเศรษฐกิจ (Economic migrants) เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้นในประเทศต่างๆ ในภูมิภาค

เฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้และภูมิภาคอื่นทั่วโลก ประเทศไทยปฎิเสธการเข้ามาของผู้ลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งการจ้างงานเป็นช่องทางตามกฎหมายที่มีอยู่สำหรับการเข้ามาในประเทศไทย หากไทยยอมรับให้บุคคลเข้ามาในประเทศอย่างไม่เป็นระบบ ก็จะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการลักลอบเข้ามาใหม่ได้ ประเทศไทยได้ใช้ความยืดหยุ่นในการดำเนินการต่อกลุ่มคนดังกล่าว แต่จำนวนคนที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้เกินกว่าขีดความสามารถของไทยในการรับมือ ในความเป็นจริง มีกลุ่มนายหน้าที่ไร้จรรยาบรรณ กลุ่มผู้ลักลอบขนคนเข้าเมืองและกลุ่มผู้ค้ามนุษย์ในภูมิภาคที่รอฉวยโอกาสจากการหลั่งไหลเข้ามาของกลุ่มชนดังกล่าว นอกจากนี้ เนื่องจากกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมืองทางเรือประกอบด้วยชายฉกรรจ์จำนวนมาก เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามมาตรการที่เหมาะสมตามกฎหมายของไทยเพื่อปกป้องรักษาทรัพย์สมบัติและความปลอดภัยของชุมชนในท้องถิ่น

การโยกย้ายถิ่นอย่างไม่เป็นระบบส่งผลกระทบต่อหลายภูมิภาคทั่วโลก ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป แอฟริกาตะวันออก และเอเชีย-แปซิฟิก นานาประเทศต่างประสบกับปัญหาการลักลอบเข้าเมืองทางทะเล ในการนี้ เพื่อดำเนินการควบคุมและเฝ้าระวังในเขตทางทะเลของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศไทยได้ยึดถือหลักบรรทัดฐานกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UN Convention on the Law of the Sea — UNCLOS) ข้อ 21, 25 และ 33 ที่ให้เคารพต่อสิทธิของรัฐชายฝั่ง (Coastal states) ในการป้องกันการละเมิดกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการเข้าเมืองภายในทะเลอาณาเขต (Territorial waters) และเขตต่อเนื่อง (Contiguous Zone)

นอกจากนี้ พิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้ย้ายถิ่นโดยทางบก ทางทะเล และอากาศ (Protocol against the Smuggling of Migrants by Land, Sea and Air) เพิ่มเติมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ (UN Convention against Transnational Organized Crime) ปี ค.ศ. 2000 ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามแล้ว กำหนดว่าในกรณีที่มีเหตุผลสมควรอันจะสงสัยได้ว่าเรือที่ไม่มีสัญชาติมีส่วนเกี่ยวข้องในการลักลอบขนคนเข้าเมืองทางทะเล รัฐภาคีจะต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมตามกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

ในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ยังไม่มีเหตุผลสมควรจะเชื่อได้ว่ากลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมืองนี้ได้หลบหนีออกจากประเทศต้นทางเนื่องจากมีความหวาดกลัวอย่างสมเหตุผลว่าตนอาจจะถูกประหัตประหาร ประวัติและการเดินทางตามฤดูกาลของกลุ่มคนเหล่านี้ยังเป็นสิ่งยืนยันว่ากลุ่มคนดังกล่าวเป็นผู้ลักลอบเข้าเมือง และไม่ใช่บุคคลที่จะได้รับการคุ้มครองระหว่างประเทศตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ปี ค.ศ. 1951 (UN Convention relating to the Status of Refugees of 1951)

ส่วนราชการไทยได้ดำเนินมาตรการในการจัดการกับปัญหาอันซับซ้อนของการลักลอบเข้าเมือง ซึ่งการที่ทะเลอันดามันมีชายฝั่งยาวอันเป็นช่องทางให้ผู้ลักลอบเข้าเมืองสามารถหาทางเข้ามาในประเทศได้โดยง่าย และทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินการมีอยู่จำกัด ทำให้ปัญหามีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยในขั้นแรก ผู้ลักลอบเข้าเมืองรายใหม่ที่ถูกตรวจพบตามแนวชายฝั่งทะเลจะถูกสกัดกั้น ซักถาม และมีการประเมินความต้องการของบุคคลดังกล่าว หากไม่ปรากฏว่ามีความเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบขนคนเข้าเมือง บุคคลดังกล่าวก็จะได้รับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมขั้นพื้นฐานที่จำเป็นก่อนที่จะถูกส่งกลับ/นำออกไปจากอาณาเขตของไทยตามกฎหมายไทย แต่ในกรณีมีมูลเหตุเชื่อได้ว่าบุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบขนคนเข้าเมือง บุคคลเหล่านั้นจะถูกสอบสวนก่อนถูกส่งตัวกลับ/นำออกไปตามกฎหมายไทย และในกรณีที่มีการพบในทะเล บุคคลดังกล่าวจะได้รับความช่วยเหลือตามที่จำเป็นเพื่อให้สามารถเดินทางต่อไปได้อย่างปลอดภัย ซึ่งในการดำเนินการตามที่ได้กล่าวมานี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้ยึดการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเป็นแนวปฏิบัติ ทั้งนี้ โดยที่ไทยมีภาระอย่างใหญ่หลวงเกี่ยวกับผู้ลักลอบเข้าเมืองในประเทศไทยที่มีอยู่ถึง 3 ล้านคน จึงไม่สามารถที่จะยอมรับเป็นประเทศปลายทางหรือประเทศทางผ่านสำหรับการโยกย้ายอย่างผิดปกติเช่นนี้ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนความมั่นคง

สำหรับข้อกล่าวหาอย่างร้ายแรงที่ได้มีการหยิบยกขึ้นในรายงานข่าวและคำให้สัมภาษณ์ต่างๆ รวมถึงข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำทารุณต่อผู้ลักลอบเข้าเมืองในรูปแบบต่างๆ และที่ว่ามีการจงใจทำให้เรือหรือเครื่องยนต์เรือของผู้ลักลอบเข้าเมืองดังกล่าวเสียหายนั้น ทางการไทยขอปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากการกระทำตามข้อกล่าวหานั้นขัดต่อนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของไทย อย่างไรก็ดี หากปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด รัฐบาลไทยก็พร้อมจะพิจารณาข้อกล่าวหาเหล่านี้อย่างจริงจังและจะพิสูจน์ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แม้จะล้อมรอบด้วยความยากลำบากนานัปการ ไทยก็ยังยึดตามธรรมเนียมปฏิบัติด้านมนุษยธรรมของไทย และประกันว่าผู้ลักลอบเข้าเมืองรายใหม่จะต้องได้รับอย่างเพียงพอซึ่งอาหาร น้ำ และยา รวมถึงการซ่อมแซมเรือตามที่จำเป็น

ไทยขอตั้งข้อสังเกตว่า จะต้องมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ต้นเหตุ ที่สภาวะทางสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่ต้นทาง และเนื่องจากปัญหาดังกล่าวมีมิติระดับภูมิภาค ซึ่งรวมไปถึงการเดินทางต่อและความเกี่ยวข้องกับเครือข่ายอาชญากรรมทั้งระดับชาติและข้ามชาติ ความร่วมมือจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ปัญหานี้ไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงประเทศใดประเทศหนึ่งแต่เป็นปัญหาร่วมกันของประเทศที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นประเทศต้นทางหรือประเทศแรกรับ ประเทศทางผ่าน และประเทศปลายทาง ดังนั้น ควรจะได้มีการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันและโดยประสานงานกัน ประเทศไทยได้ผูกพันตนที่จะดำเนินการในลักษณะดังกล่าว และพร้อมที่จะรับความร่วมมือจากประเทศต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหานี้ต่อไป ทั้งนี้ หากมีการแก้ปัญหานี้ที่ต้นเหตุผ่านทางการระดมทรัพยากรของประชาคมระหว่างประเทศโดยองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ก็จะไม่ต้องเผชิญปัญหาที่ผู้ย้ายถิ่นฐานทางเศรษฐกิจต้องเดินทางฝ่าอันตรายเพื่อให้ถึงชายฝั่งเอเชียอาคเนย์อีกต่อไป

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินการหารือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees — UNHCR) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration — IOM) เกี่ยวกับประเด็นผู้ลักลอบเข้าเมืองในทะเลอันดามันมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยไทยได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการโยกย้ายถิ่นฐานทางเศรษฐกิจ และพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น UNHCR, IOM และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ที่อาจช่วยเหลือประเทศที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามอาณัติขององค์การนั้นๆ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังหวังที่จะได้หารือกับนาย Guterres ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ในการพบหารือในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 ที่นครเจนีวา เกี่ยวกับเรื่องนี้และเรื่องความร่วมมือทางด้านมนุษยธรรมที่มีมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานระหว่างไทยกับ UNHCR และโดยที่ UNHCR อาจมีอาณัติที่จำกัดในเรื่องนี้ ประเทศไทยจึงจะหารือกับ IOM ที่มีอาณัติเฉพาะเจาะจงในการให้ความช่วยเหลือผู้โยกย้ายถิ่นฐานด้วย

นอกจากการปรึกษาหารือกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องแล้ว ประเทศไทยยังเสนอให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการลักลอบเข้าเมืองทางทะเลอันดามัน จัดตั้งกลุ่มประสานงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อประสานมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหานี้

ประสบการณ์ที่ผ่านมาของไทยซึ่งเป็นที่รับทราบกันดีอยู่แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงการที่ต้องเผชิญหน้ากับการหลั่งไหลเข้ามาของประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านอันมีจำนวนมหาศาล ซึ่งเมื่อคำนึงถึงความแตกต่างทางด้านของการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ การแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าจะยังคงเป็นสิ่งเร้าให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทย ดังนั้น ไทยจึงพยายามที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ทางด้านสังคม เศรษฐกิจและความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง ในบริบทของสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทายในปัจจุบัน แต่บทบาทของไทยด้านมนุษยธรรมที่มีมากว่า 40 ปี สมควรที่จะได้รับการตระหนักถึงมากกว่านี้ในการจัดการกับปัญหาที่ยุ่งยากนี้

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

แท็ก อันดามัน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ