รายงานสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจการคลังและการเงินของสหราชอาณาจักรและยุโรป (ตุลาคม) 2554 (ฉบับที่ 2)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 8, 2011 12:28 —กระทรวงการคลัง

EU Economic Crisis Update

วิกฤต ศก. ใน EU
  • ปัญหาวิกฤตหนี้ของกรีซ ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนหนี้สาธารณะเกินกว่า 150% ของ GDP และมีแนวโน้มการหยุดพักชำระหนี้ (default)จะส่งผลกระทบต่อภาคการเงินในยุโรปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะฝรั่งเศส สเปน อิตาลี ซึ่งระบบธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อให้แก่กรีซค่อนข้างมาก และบั่นทอนความน่าเชื่อถือส่งผลให้ค่าเงินสกุลเงินยูโรอ่อนลงได้
  • ปัญหาของการแก้ไขปัญหาของเศรษฐกิจ EU คือ

(1) ขาดผู้นำ (leadership) ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เด็ดขาด โดยแม้ว่านายกของเยอรมนี (นาง Merkel) จะเป็นผู้นำหลักในการแก้ปัญหาในขณะนี้ แต่ก็มีปัญหาในการจัดการกับพรรคการเมืองในประเทศ ซึ่งเริ่มต่อต้านการนำเงินภาษีของเยอรมนีไปอุ้มประเทศในกลุ่มรอยขอบ EU ได้แก่ กรีซ โปรตุเกส และไอร์แลนด์

(2)ความไว้ใจ (trust) ของการเป็นสมาชิก EU แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่จะยังเชื่อใน EU แต่ เริ่มรู้สึกได้ถึงผลกระทบในทางลบของการรวมกันใช้ค่าเงินยูโร

(3)โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน โดย ประเทศ EU บางประเทศมีปัญหาการว่างงาน และขาดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการตัดงบประมาณเพื่อรักษาวินัยการคลังภาครัฐจะยิ่งทำให้ปัญหาการว่างงาน และการหดตัวทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น เช่น เยอรมนีมีอัตราการว่างงานไม่ถึง 7%แต่สเปนมีอัตราการว่างงานเกิน 20%ขณะที่สวิสเซอร์แลนด์ มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดใน EU แค่ 2%เนื่องจาก กม.สวิสฯ ยืดหยุ่นมากพอในการสร้างงานใหม่ (กม.สวิส บริษัทสามารถประกาศเลิกจ้างได้ในทันที่ โดยลูกจ้างต้องออกจากงานใน 1 เดือน และได้เงิน allowance 3 เดือน ในขณะที่บางประเทศต้องใช้กระบวนการยาวนานกว่ามาก และต้องจ่ายเงิน allowance ถึงกว่า 10 เดือน)

  • ที่ประชุมมีการกล่าวว่ากรีซควรออกจากการเป็นสมาชิก EU แต่ท่าที EU (EU Commission President- Barrosso)ล่าสุดคือยังคงมีกรีซใน EU โดยกรีซจะต้องปฏิบัติตามพันธะเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่และลดการขาดดุลการคลังให้ทันเวลาที่กำหนด ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่าแสดงให้เห็นถึงความเชื่อในสปิริต EU ที่มี นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญ คือการลดผลกระทบ (contagion effect)จากปัญหาของกรีซซึ่งยังไม่มีใครทราบขอบเขตที่แน่ชัด และไม่แน่ใจว่าการขับกรีซออกจาก EU จะช่วยลดผลกระทบได้อย่างไร
  • มีข้อเสนอให้กรีซประกาศหยุดพักชำระหนี้ (default)โดยเร็ว แทนการขอเงินช่วยเหลือจาก EU/IMF ไปเรื่อยๆ (ซึ่งขณะนี้ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซเป็นรอบที่ 2 แล้ว) และมีข้อเสนอแนวคิดการจัดตั้ง Euro Bond ซึ่งยังคงเป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น โดยเยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ได้แสดงความเห็นคัดค้านเนื่องจากการออก Euro bond จะทำให้ดอกเบี้ยในการกู้เงินของรัฐบาลเยอรมนีและเธอร์แลนดสูงขึ้น
ความเห็นของสำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำสหราชอาณาจักรและยุโรป
  • อัครราชทูต (ฝ่ายเศรษฐกิจและการคลัง) ประจำสหราชอาณาจักรและยุโรป กล่าวว่าปัญหาหลักของวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปแบ่งได้เป็น 2 ด้าน คือ (1) ปัญหาการขาดสภาพคล่อง
liquidity problem และ(2) ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว Solvency problem
  • การแก้ปัญหาของ EU ที่ผ่านมา เป็นการแก้เฉพาะปัญหาการขาดสภาพคล่อง โดยได้อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบของ ECBและช่วยเหลือการขาดสภาพคล่องของประเทศที่มีปัญหาผ่านกองทุนEuropean Financial Stability Facility (EFSF) แต่ยังไม่ได้จัดการกับปัญหาหนี้สินที่ล้นพ้นตัว
  • การแก้ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวของกรีซ ในที่สุดคงต้องยอมให้กรีซประกาศหยุดพักชำระหนี้ แต่ควรมีการหาแนวทางการลดผลกระทบวงกว้าง (repercussion effect) โดยเฉพาะผลที่จะเกิดจากการลุกลามไปสู่วิกฤติธนาคาร (Banking Crisis)ในยุโรป เนื่องจากธนาคารหลายแห่งในยุโรปที่ถือพันธบัตรกรีซอยู่มาก จะต้องประสบกับปัญหาการขาดทุนและต้องเพิ่มทุนในทันที
  • นอกจากนั้น EU ควรต้องหาวิธีการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตมากขึ้น เพื่อให้มีความสามารถในการชำระหนี้มากขึ้น โดยจากประสบการณ์ของวิกฤติการเงินเอเชียในปี ค.ศ. 1997 ประเทศไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากค่าเงินที่ลดลงมากได้ช่วยกระตุ้นการส่งออกและและสร้างรายได้ในที่สุด และใช้นโยบายการคลังที่มีวินัยในอดีตมากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยอีกทางหนึ่ง แต่กรณีกรีซ อาจทำได้ลำบากเนื่องจากนโยบายการคลังขาดดุลสูงในอดีต (และหนี้ภาครัฐสูงมาก) ทำให้ไม่เหลือเครื่องมือนี้ให้ใช้แล้ว ขณะที่เครื่องมือทางนโยบายการเงินและค่าเงินก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ European Central Bank
ประเด็นที่ต้องจับตามอง
  • ในวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคมนี้ จะมีการประชุมผู้นำยุโรป เพื่อพิจารณามาตรการแก้ไขวิกฤติการเงินในยุโรป โดยขณะนี้ตลาดการเงินกำลังจับตาดูว่าผู้นำยุโรปจะออกมาตรการแบบเด็ดขาดและครบถ้วน (Comprehensive) หรือไม่
  • ประเด็นที่พิจารณาในการประชุมผู้นำยุโรป แบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก คือ

(1) ขนาดการปรับโครงสร้างหนี้และตัดหนีสูญ (Hair Cut)ของกรีซ ซึ่งขณะนี้ตลาดเงินคาดการณ์ว่าจะมีการตัดหนี้สูญประมาณ 30-40%เพื่อไม่ให้เกิน 50%จนกระทบกับการรับประกันความเสี่ยงตามสัญญา Credit Default Swap:CDS

(2) ขนาดของเพิ่มทุนให้ธนาคารต่างๆ ในยุโรป ให้เพียงพอต่อการปรับโครงสร้างหนี้ของกรีซ โดยขณะนี้ European Banking Authority (EBA)คำนวณว่าอาจต้องเพิ่มทุนประมาณ 9 หมื่นล้านยูโร ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดการเงินคาดการณ์ที่ 1-2 แสนล้านยูโรค่อนข้างมาก

(3) วิธีการเพิ่มขนาด (Leverage)ของกองทุน EFSF ให้สามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินได้มากขึ้นกว่าเงินปกติที่รัฐบาลประเทศยูโรโซนได้รับรองให้เพิ่มขนาดกองทุนมาอยู่ที่ 4.4 แสนล้านยูโร ซึ่งขณะนี้ตลาดการเงินคาดว่าอาจจะใช้วิธีการนำเงินดังกล่าวมารับประกันการออกพันธบัตรของประเทศสมาชิกในส่วน 20%แรก ซึ่งตามหลักการทางการเงิน วงเงิน 4.4 แสนล้านยูโร จะ Leverage ได้ประมาณ 5เท่า เป็นประมาณ 2 ล้านล้านยูโร

  • ผลของการประชุมผู้นำยุโรปซึ่งจะตกลงกันภายในวันที่ 25 ตุลาคม นี้จะมีความสำคัญมากต่อความเชื่อมั่นในตลาดการเงิน หากผลการประชุมไม่สามารถตกลงได้ ก็อาจจะส่งผลให้ตลาดการเงินโลกผันผวนได้ในสัปดาห์หน้า (นักลงทุนต่างชาติอาจถอนเงินจากตลาดเกิดใหม่ (รวมทั้งไทย) เพื่อเข้าถือสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย (Safe Haven Assets)เช่น พันธบัตรสหรัฐและทองคำ) แต่ถ้าที่ประชุมสามารถตกลงกันได้และตลาดการเงินมีความมั่นใจในมาตรการแก้ปัญหาดังกล่าว อาจส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น รวมทั้งตลาดเกิดใหม่ เช่น ไทย

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ