รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 21, 2012 11:20 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555

Summary:

1. สภาพัฒน์ฯ เผยมหาอุทกภัยฉุดจีดีพีไตรมาส 4 ปี 54 หดตัวร้อยละ 9.0 ทั้งปี 54 โตร้อยละ 0.1

2. 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เดินหน้าผลักดันลอยตัวราคาน้ำตาลรับ AEC ปี 2558

3. ยูโรแข็งค่าต่อเนื่อง ขานรับความหวังหารือมาตรการช่วยกรีซวันนี้

Highlight:
1. สภาพัฒน์ฯ เผยมหาอุทกภัยฉุดจีดีพีไตรมาส 4 ปี 54 หดตัวร้อยละ 9.0 ทั้งปี 54 โตร้อยละ 0.1
  • เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ไตรมาส 4 /54 หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบปีร้อยละ -9.0 จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.0 โดยสาเหตุหลักมาจาก เหตุการณ์อุทกภัย สำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ทั้งปี 54 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 และคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 55 จะขยายตัวทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 5.5 - 6.5
  • สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 หดตัวร้อยละ -9.0 เป็นผลมาจากเหตุการณ์อุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่านมาที่ก่อให้เกิดการชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคการเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลบกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นตัวหลักที่ฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยส่งผลให้ทั้งปี 54 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ทั้งนี้ สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 55 สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น โดยคาดว่าจะกลับมาขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 5.0 ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5 - 5.5 (ประมาณการ ณ เดือน ธ.ค. 54) โดยจะได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศที่คาดว่าจะยังขยายตัวเร่งขึ้น ตามความจาเป็นในการเร่งฟื้นฟูหลังน้ำลด ประกอบกับนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนการใช้จ่าย อาทิ มาตรการปรับเพิ่มรายได้ค่าแรงขั้นต่ำ และเงินเดือนราชการ และโครงการรับจำนำข้าว ขณะที่อุปสงค์ต่างประเทศคาดว่าจะชะลอลงเล็กน้อย ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่มีแนวโน้มชะลอลง
2. 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เดินหน้าผลักดันลอยตัวราคาน้ำตาลรับ AEC ปี 2558
  • ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ต้องการยกเลิกการควบคุมราคาน้ำตาลทรายในประเทศ ให้สอดคล้องกับกระแสโลก และการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 เพราะการควบคุมราคาน้ำตาลทรายในขณะที่ไม่สามารถควบคุมราคาผลิตภัณฑ์ที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบได้ ไม่มีความเหมาะสมและถูกต้องนัก และถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภายในประเทศ พร้อมกล่าวว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมีความสาคัญกับประเทศไทยอย่างยิ่ง โดยประเทศไทยสามารถส่งออกน้ำตาลทรายได้เป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศบราซิล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 54/55 คาดว่าประเทศไทยจะมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อย 8.3 ล้านไร่ มีผลผลิต 104.8 ล้านตัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนที่อยู่ในระดับสูง ในด้านราคาพบว่าราคาอ้อยโรงงานที่เกษตรกรขายได้ยังคงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 950 บาท/ตัน (เดือน ม.ค. 55) เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยในปี 54 ที่อยู่ที่ 938 บาท/ตัน อย่างไรก็ดีผลผลิตต่อไร่ยังอยู่ในระดับปานกลางที่ 12.5 ตัน/ไร่ ซึ่งหากมีการศึกษา พัฒนาและวิจัยให้สามารถผลิตอ้อยสายพันธุ์ใหม่ที่มีผลผลิต/ไร่ได้สูงกว่านี้ จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้เพิ่มมากขึ้น และมีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
3. ยูโรแข็งค่าต่อเนื่อง ขานรับความหวังหารือมาตรการช่วยกรีซวันนี้
  • ยูโรแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์ จากความหวังที่ว่าบรรดารัฐมนตรีคลังยูโรโซนจะสามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือกรีซรอบ 2 วงเงิน 1.3 แสนล้านยูโร ในการประชุมที่จะมีขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ในวันนี้ ตามเวลายุโรป โดยยูโรปรับตัวขึ้น 0.9% สู่ระดับ 1.3256 ดอลลาร์ ณ เวลา 11.19 น.ตามเวลาลอนดอน และดีดตัวขึ้น 0.9% เช่นกันเมื่อเทียบเยน ที่ 105.47 เยน
  • สศค.วิเคราะห์ว่า เนื่องจากกรีซมีกำหนดต้องชำระหนี้ 1.45 หมื่นล้านยูโรในการไถ่ถอนพันธบัตรในวันที่ 20 มี.ค.55 จึงจำเป็นที่ยูโรโซนต้องพิจารณามาตรการช่วยเหลือกรีซรอบ 2 วงเงิน 1.3 แสนล้านยูโร เพื่อให้กรีซรอดพ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ ดังกล่าว ทั้งนี้ หลังจากที่กรีซดำเนินนโยบายออกพันธบัตรัฐบาลต้นทุนต่ำเพื่อชดเชยการขาดดุลการคลัง ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยล่าสุดแตะระดับร้อยละ 160 ของ GDP (โดยประมาณ) ซึ่งปัญหาหนี้สาธารณะดังกล่าวได้ลุกลามไปในหลายประเทศ และส่งผลให้ GDP อียู ในไตรมาส 4 ปี 54 หดตัวร้อยละ -0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ ล่าสุด Moody's ได้ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในอียูอีก 9 ประเทศ สะท้อนว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของยูโรที่ผ่านมาที่เน้นการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางยุโรปและการช่วยเหลือทางการเงินผ่านกองทุน EFSF อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงประเด็นเพียงพอ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งกำหนดแนวทางการสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจอียูและค่าเงินยูโรอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่กับการแก้ปัญหาภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ต่อไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ