รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 12, 2012 13:50 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555

Summary:

1. พาณิชย์เอาไม่อยู่แพงทุกจานเกินเมนูแนะนำ

2. ธ.ไทยพาณิชย์ ยอมรับไทยมีภาวะเสี่ยงฟองสบู่ แนะ "คลัง-ธปท." จับตาใกล้ชิด

3. กูรูด้านการเงินชี้เอเชียจะได้รับผลกระทบหนักหาก ปธน. โอบามาปลดล็อก fiscal cliff ไม่ได้

Highlight:

1. พาณิชย์เอาไม่อยู่แพงทุกจานเกินเมนูแนะนำ
  • จากการสำรวจราคาอาหารปรุงสำเร็จในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลพบว่าส่วนใหญ่ปรับราคาขึ้นจานละ 5-15 บาท อาทิ ข้าวราดแกง 1 อย่างในฟู้ดคอร์ทเริ่มต้นจานละ 40 บาท กับข้าว 2 อย่างเริ่มต้นจานละ 50 บาท และก๋วยเตี๋ยวชามละ 40-45 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาแนะนำที่กรมการค้าภายในกำหนดไว้ตั้งแต่เดือนก.พ.2555 ที่ให้ขายได้ไม่เกินจานละ 25-35 บาท ทั้งนี้ เมื่อสอบถามจากร้านค้าได้แจ้งว่าได้ปรับราคาขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะค่าครองชีพทั่วไปแพงขึ้นจึงต้องปรับราคาอาหารขึ้นให้สอดคล้องกัน อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าเดินทาง ค่าน้ำยาล้างจาน รวมถึงค่าเช่าสถานที่ขายอาหาร แต่ไม่ได้มาจากปัจจัยต้นทุนวัตถุดิบ และเครื่องประกอบอาหารแพงขึ้น เพราะราคาเนื้อหมู ไข่ไก่ เนื้อไก่ ยังทรงตัวในระดับต่ำ
  • สศค. วิเคราะห์ว่าจากข้อมูลอัตราเงินเฟ้อในเดือนล่าสุดเมื่อเดือนต.ค. 55 พบว่าอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 โดยมีสาเหตุหลักจากการชะลอลงของราคาเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ตาม ราคาผักสดที่มีการปรับตัวสูงขึ้นจากเทศกาลกินเจ ทั้งนี้ พบว่าดัชนีราคาสินค้าในหมวดอาหารสำเร็จรูปมีการปรับตัวเพิ่มจากช่วงดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 3.56 ชะลอลงจากเมื่อต้นปีที่มีการขยายตัวถึงประมาณร้อยละ 9.0 โดยการชะลอตัวลงเกิดจากราคาสินค้าวัตถุดิบหลักยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้ามีการปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน โดยเกิดจากการปรับขึ้นค่าft ถึงสองครั้งในเดือนมิ.ย.และก.ย. จึงอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการปรับขึ้นราคาอาหารสำเร็จรูปในอนาคต ทั้งนี้ สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 (ประมาณการ ณ เดือนก.ย. 55)
2. ธ.ไทยพาณิชย์ ยอมรับไทยมีภาวะเสี่ยงฟองสบู่ แนะ "คลัง-ธปท." จับตาใกล้ชิด
  • ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มองทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังการเปิดเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยเชื่อว่าจะเป็นโอกาสของธุรกิจให้ทำการค้า และการลงทุนได้กว้างขึ้น อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องระมัดระวังเม็ดเงินไหลเข้าจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE 3) ของสหรัฐฯ เพราะอาจมีผลต่อตลาดเงิน ตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยนของไทยได้ ซึ่งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องเตรียมมาตรการรับมือให้เหมาะสม เพราะประเทศไทยยังมีภาวะเสี่ยงเกิดฟองสบู่ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE3 ของธนาคารกลางสหรัฐนั้น คาดว่าจะส่งผลให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งในระยะสั้นจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้ตลาดเงิน ตลาดทุนและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนได้ สะท้อนจากค่าเงินบาท ณ วันที่ 9 พ.ย. 55 อยู่ที่ 30.62 หรือแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 2.5 จากต้นปี 55 ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาคอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ดี การที่มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในประเทศในระยะยาวแล้ว คาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ในด้านจะช่วยพัฒนาตลาดทุนให้เติบโตมากขึ้นได้ และในส่วนของไทยที่จะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นั้นคาดว่าจะเป็นโอกาสดีให้กับภาคธุรกิจไทยที่จะมีตลาดการค้า และการลงทุนกว้างขึ้น ซึ่งภาคธุรกิจไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือเช่นกัน
3. กูรูด้านการเงินชี้เอเชียจะได้รับผลกระทบหนักหาก ปธน. โอบามาปลดล็อก fiscal cliff ไม่ได้
  • นักกลยุทธตลาดทุนของ UOB Investment คริส เฟอร์ราโรน ให้ความเห็นว่า หากสหรัฐไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณได้ จะนำไปสู่การไหลออกของเงินทุนจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากความต้องการหุ้นและพันธบัตรของนักลงทุนจะลดลง ขณะที่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เพิ่งผ่านไปไม่ได้เปลี่ยนแปลงพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยมีการคาดการณ์ว่า GDP ปีนี้และปีหน้าจะขยายตัวร้อยละ 2.1 และ 2.3
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหา fiscal cliff เป็นปัญหาสำคัญที่นักลงทุนทั่วโลกเป็นกังวล เนื่องจากที่ผ่านมาประธานาธิบดีบารัก โอบามา ยืนยันว่าในการที่จะหลีกเลี่ยงหายนะทางการคลังที่จะเกิดขึ้น จำเป็นที่จะต้องมีการขึ้นภาษีคนรวย นอกจากนี้ ยังอาจมีการลดการใช้จ่ายภาครัฐลงจนอาจก่อให้เกิดการลดการจ้างงานภาครัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการดังกล่าวจะส่งกระทบต่อประเทศไทยผ่านทางการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ที่อาจลดลง และอาจส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกจากประเทศได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตร้อยละ 2.2 และร้อยละ 2.4 ในปี 55 และ 56 ตามลำดับ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ