รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 16, 2012 11:01 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555

Summary:

1. ไทย-เกาหลีใต้ตกลงหาทางเพิ่มการค้าเป็น 3 หมื่นล้านในปี 59

2. ยอดค้าปลีกสิงคโปร์ เดือน ก.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

3. เศรษฐกิจฝรั่งเศสไตรมาสที่ 3 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Highlight:

1. ไทย-เกาหลีใต้ตกลงหาทางเพิ่มการค้าเป็น 3 หมื่นล้านในปี 59
  • อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฐานความรู้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไทย เพื่อหารือถึงแนวทางการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเพิ่มปริมาณการค้าจาก 13,776 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 54 เป็น 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 59 ตามที่ผู้นำทั้งสองประเทศได้ตั้งเป้าหมายไว้ เมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีของไทยเดินทางเยือนเกาหลีใต้อย่างเป็นทางการในเดือนมี.ค. 55 โดยเกาหลีใต้ได้ชื่นชมอาหารไทยว่าเป็นที่นิยมไปทั่วโลก จึงต้องการเรียนรู้แนวทางการส่งเสริมและเผยแพร่อาหารไทยไปยังประเทศต่างๆ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เกาหลีใต้และไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้ามายาวนานและมีการเจริญเติบโตที่ดี โดยนับตั้งแต่ปี 40 จนถึงปี 54 การส่งออกของไทยไปยังเกาหลีใต้มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 24.7 ต่อปี ในขณะที่การนำเข้าสินค้าเกาหลีใต้มายังไทยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 21.9 ต่อปี โดยไทยเป็นผู้นำเข้าสุทธิจากเกาหลีใต้ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังเกาหลีใต้ได้แก่ ยางพารา แผงวงจรไฟฟ้า น้ำมันดิบ น้ำตาลทราย เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ และเคมีภัณฑ์ (สัดส่วนปี 54) ในขณะที่สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ (สัดส่วนปี 54) ทั้งนี้ ปัจจุบันเกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 15 ของไทย ด้วยสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.0 ของมูลค่าการส่งออกรวม (สัดส่วนปี 54)
  • ทั้งนี้ เกาหลีใต้จัดว่าเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (High income country) ตามการจำกัดความของธนาคารโลก อีกทั้งเป็นประเทศอุตสาหกรรม จึงนับได้ว่าเกาหลีใต้จัดว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงในการนำเข้าสินค้าไทยไปใช้ในการบริโภคและการผลิต จึงนับได้ว่าการพยายามเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างไทย-เกาหลีใต้จะเป็นผลดีแก่ทั้งสองประเทศ
2. ยอดค้าปลีกสิงคโปร์ เดือน ก.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติสิงคโปร์ เปิดเผยยอดค้าปลีกสิงคโปร์ เดือน ก.ย. 55 ขยายตัวชะลอลงจากร้อยละ 3.3 ในเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือ หดตัวร้อยละ -0.5 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากยอดขายรถยนต์และสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ นาฬิกาและเครื่องประดับ ที่หดตัวลงเป็นสำคัญ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดค้าปลีกสิงคโปร์ที่ขยายตัวชะลอลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการหดตัวในสินค้าฟุ่มเฟือย ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากความกังวลในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์ผ่านช่องทางการค้า บ่งชี้จากยอดการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 55 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้จากการส่งออก เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบเปิดเป็นพิเศษ (Ultra-open economy) ด้วยอัตราการเปิดประเทศ (Degree of openness) กว่าร้อยละ 422.6 ของ GDP ส่งผลให้เศรษฐกิจสิงคโปร์เข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (Technical recession) แล้ว สะท้อนจาก GDP สิงคโปร์ ไตรมาส 3 ปี 55 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ที่ร้อยละ -1.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ต่อเนื่องจากร้อยละ -0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม สินค้าขายปลีกซุปเปอร์มาร์เก็ต(Retail Sale of supermarket) ยังคงขยายตัวได้ดี ที่ร้อยละ 13.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ ปี 55 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55) ซึ่งเป็นการปรับลดจากการคาดการณ์ครั้งก่อน และจะมีการปรับการคาดการณ์อีกครั้ง ในเดือน ธ.ค. 55 ที่จะถึงนี้
3. เศรษฐกิจฝรั่งเศสไตรมาสที่ 3 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ทางการฝรั่งเศสได้แถลงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจฝรั่งเศสในไตรมาสที่ 3 ปี 55 โดยขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.1 (ตัวเลขปรับปรุง) จากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฝรั่งเศสที่สำคัญในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หดตัวลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจฝรั่งเศสขยายตัวอยู่ในระดับใกล้ศูนย์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี หรือนับตั้งแต่เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน ซึ่งบ่งชี้ภาวะชะงักงันของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 10.8 ของกำลังแรงงานรวม (ณ ก.ย. 55) และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่มีการเลิกจ้างจากบริษัทใหญ่เป็นจำนวนมาก คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยในประเทศในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้เสนอนโยบายลดภาษีแก่ผู้ประกอบการ วงเงินกว่า 2 หมื่นล้านยูโร ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้นับตั้งแต่ปี 56 ซึ่งคาดว่าจะทำให้ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ่นบ้าง อย่างไรก็ตาม ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะที่ยังคงเรื้อรังต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศในยูโรโซนที่ประสบปัญหาอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่อง โดยล่าสุดเศรษฐกิจกรีซ โปรตุเกส สเปนและอิตาลีในไตรมาสที่ 3 ปี 55 หดตัวร้อยละ -7.2 ร้อยละ -3.4 ร้อยละ -1.6 และร้อยละ -2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจฝรั่งเศส และเยอรมนี ยังคงขยายตัวได้ แต่อาจจะไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของยูโรโซน โดย สศค. คาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนปี 55 จะหดตัวร่อยละ -0.9 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ