รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 12 ธันวาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 12, 2012 13:25 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 ธันวาคม 2555

Summary:

1. ธปท.เตรียมออกประกาศเพิ่มเติมให้เอกชนไปลงทุนต่างประเทศ

2. อุตสาหกรรมไอทีชั้นนำของโลกปรับตัวรับอนาคต

3. อัตราว่างงานในเดือน พ.ย. 55 ของสหรัฐฯ ลดลงต่ำกว่าคาดที่ร้อยละ 7.7

Highlight:

1. ธปท.เตรียมออกประกาศเพิ่มเติมให้เอกชนไปลงทุนต่างประเทศ
  • ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.กำลังเตรียมออกมาตรการผ่อนคลายการเคลื่อนย้ายเงินทุนให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติมจากเดิมธปท.เคยออกประกาศให้เคลื่อนย้ายเงินทุนได้ง่ายขึ้นเมื่อเดือน ต.ค.55 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะสามารถออกมาบังคับใช้ได้ในช่วงปลายเดือน ธ.ค.55 หรืออย่างช้าในช่วงต้นเดือน ม.ค.56
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของไทย (Direct Investment Abroad) ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ ธปท. ได้ขยายวงเงินให้บริษัทไทยสามารถลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้มากขึ้นเป็นลำดับ จากปี 50 ที่มีปริมาณการลงทุนเพียง 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหลังจากในเดือน ต.ค. 53 ธปท.ได้อนุญาตให้บริษัทไทยสามารถ ลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้เสรีมากขึ้น ส่งผลให้ในปี 54 มีเงินลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรูปแบบส่วนใหญ่ของการลงทุนโดยตรงของบริษัทไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คือการควบรวมกิจการ (Merger and Acquisitions)และประเทศที่บริษัทไทยไปลงทุนโดยตรงมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ พม่า หมู่เกาะเคย์แมน และสิงคโปร์ทั้งนี้ การส่งเสริมให้นักลงทุนออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น จะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้ประเทศและเพิ่มความสมดุลของการเคลื่อนย้ายเงินทุนในอนาคตต่อไป
2. อุตสาหกรรมไอทีชั้นนำของโลกปรับตัวรับอนาคต
  • นสพ. กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็วหมุนเร็ว ภัยธรรมชาติ และความกดดันของปัญหาแรงงาน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตอุตสาหกรรมไอทีชั้นนำของโลก เช่น แอ๊ปเปิ้ล อิงค์ อินเทล หรือ บจ. แอดวานซ์ ไมโคร ดีไวซ์ ปรับตัวรับอนาคตแห่งความผันผวนตามกระแสเศรษฐกิจโลก เช่น แอ๊ปเปิ้ล อิงค์ เตรียมย้ายฐานการผลิตคอมพิวเตอร์แมคอินทอชบางส่วนจากประเทศจีนกลับสหรัฐฯ ปีหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 55 มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 497.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และตลาดส่งออกสินค้าสำคัญ ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และฮ่องกง ทั้งนี้ ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องอิเล็กทรอนิกส์อยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัย สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index: MPI) ของอัตสาหกรรมดังกล่าวในเดือน ต.ค. 55 ลดลงร้อยละ -3.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ควบรวมกิจการเพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น บจ. เวสเทิร์น ดิจิตอล ควบรวมกับ บจ. โตชิบา คอร์เปอเรชั่น และเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยด้านค่าจ้างภายหลังการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเป็น 300 บาทต่อวันในปี 56 แล้วพบว่า ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยภายหลังการปรับความเท่าเทียมกันของการซื้อ (Purchasing Power Parity - adjusted) สูงกว่าพม่า กัมพูชา และมาเลเซีย เพียงเล็กน้อย ประกอบกับประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางในการคมนาคมในอาเซียน (ASEAN) ดังนั้น ประเทศไทยน่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
3. อัตราว่างงานในเดือน พ.ย. 55 ของสหรัฐฯ ลดลงต่ำกว่าคาดที่ร้อยละ 7.7
  • กระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ รายงานว่า การจ้างงานนอกภาคการเกษตรในเดือน พ.ย. 55 ปรับตัวขึ้นสูงเกินคาดที่ 146,000 ตำแหน่ง ซึ่งบ่งชี้ว่าพายุเฮอริเคนแซนดี้ที่ได้เข้าถล่มสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 55 ที่ผ่านมาจนสร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ในสหรัฐฯ และส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงเดือน พ.ย.55 จนเป็นเหตุให้ภาคธุรกิจหยุดชะงักนั้นได้ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานในสหรัฐฯ เพียงเล็กน้อย ขณะที่อัตราว่างงานปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุด ในรอบเกือบ 4 ปี ที่ร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะทรงตัวเท่ากับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 7.9
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ จะปรับตัวลดลง แต่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็ยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบางโดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงิน โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 3 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสแดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว ขยายตัวร้อยละ 0.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 โดยเป็นผลจากการลงทุนและภาคการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ประเด็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ (Fiscal Cliff) ที่มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐของสหรัฐฯ ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค. 55 ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 56 แม้ว่าล่าสุดประธานาธิบดีบารัก โอบามา จะมีแผนเสนอให้รัฐบาลหารายได้เพิ่มขึ้น 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และลดรายจ่ายลงเพียง 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ถูกพรรครีพับลิกันโจมตีว่าเป็นแผนที่ไม่สมดุลและไม่อิงความเป็นจริง พร้อมทั้งเสนอให้รัฐบาลตัดลดรายจ่ายลง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 10 ปี ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปถึงการพิจารณาตัดสินใจร่วมกันระหว่างสภานิติบัญญัติและประธานาธิบดีบารัก โอบามา ในวันที่ 21 ธ.ค. 55 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 2.4 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ