รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 ธันวาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 14, 2012 10:56 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 ธันวาคม 2555

Summary:

1. ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB คาดว่า CLMV ในปี 58 จะมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 9.0 ของการส่งออกรวมไทย

2. ธปท. กล่าวว่การที่ Fed ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม จะทำให้มีสภาพคล่องในระบบไหลเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น

3. ธนาคารกลางเกาหลีใต้ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ร้อยละ 2.75

Highlight:

1. ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB คาดว่า CLMV ในปี 58 จะมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 9.0 ของการส่งออกรวมไทย
  • ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB ให้ความเห็นว่า CLMV เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงและทวีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น โดยในอีก 3 ปีข้างหน้าหรือในปี 58 จะมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 9.0 ของมูลค่าการส่งออกรวมไทย ซึ่งมากกว่าสัดส่วนของสหภาพยุโรปที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 8.8 ของมูลค่าการส่งออกรวมไทย ทั้งนี้ คาดว่าในปี 55 การส่งออกของไทยไปยัง CLMV จะขยายตัวถึงสูงอยละ 10.9 ท่ามกลางการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ที่หดตัวหรือขยายตัวในระดับต่ำ และส่งผลให้คาดว่าการส่งออกไทยโดยรวมในปีนี้จะขยายตัวได้ในระดับต่ำที่ร้อยละ 3.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจ CLMV มีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 21 ต่อปี เนื่องจากเป็นแหล่งทรัพยกรสำคัญต่อการผลิตสินค้าและบริการ กอปรกับต้นทุนค่าจ้างแรงงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้ามากขึ้น ทั้งนี้ จากลักษณะการผลิตสินค้าที่อาศัยความเชื่อมโยงการผลิตของประเทศในภูมิภาค ทำให้มีการนำเข้าวัตถุดิบและส่วนประกอบจากไทยมากขึ้น ซึ่งสินค้าส่งออกกว่าร้อยละ 40 ของการส่งออกไป CLMV รวม ประกอบด้วย สินค้าสำเร็จรูป ประกอบด้วย น้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์เคมี สิ่งทอ น้ำตาล ปูนซิเมนต์เครื่องดื่ม รถปิคอัพและรถบรรทุก นอกจากนี้ การลดอุปสรรคต่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและ CLMV อาทิ 1) ความสะดวกในด้านการคมนาคมและการขนส่ง จากแผนการพัฒนาเส้นทางคมนาคมและการขนส่งเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 2) เป้าหมายการลดภาษีนำเข้าของ CLMV ให้อยู่ที่ร้อยละ 0 ในปี 58 และ 3) มาตรการสินค้าของไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับ จะทำให้การส่งออกของไทยไปยัง CLMV ในระยะต่อไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้ที่จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป เนื่องจากอุปสรรคในด้านระยะทางและเวลา กอปรกับอุปสงค์ของสหภาพยุโรปที่ชะลอลงตามสภาพเศรษฐกิจที่เผชิญกับวิกฤตหนี้สาธารณะต่อเนื่อง
2. ธปท. กล่าวว่การที่ Fed ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม จะทำให้มีสภาพคล่องในระบบไหลเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น
  • นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม จะทำให้มีสภาพคล่องในระบบไหลเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นในระยะต่อจากนี้ อย่างไรก็ตาม หากมีเงินไหลเข้ามาในประเทศไทย ธปท. ยืนยันที่จะไม่แทรกแซงค่าเงินบาทโดยไม่จำเป็น เพราะมีต้นทุนค่อนข้างสูง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ Fed ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 55 เป็นต้นไป Fed จะดำเนินมาตรการ QE3 ต่อเนื่อง โดยจะเข้าซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน (Mortgage-backed securities: MBS) ด้วยวงเงินเดือนละ 4.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ผนวกกับจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเพื่อดึงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวลง อันเป็นการกระตุ้นการลงทุนอีกเดือนละ 4.5 หมื่นล้านดอลลารฺสหรัฐ ส่งผลให้มีสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมเป็นเดือนละ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ตลาดการเงินในภูมิภาคจะมีเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ผันผวนสูง จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ดีขึ้น นอกจากนี้ สภาพคล่องดอลลาร์สหรัฐที่เพิ่มขึ้นมากจากมาตรการทั้งสองดังกล่าว อาจเป็นแรงกดดันต่อธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปได้
3. ธนาคารกลางเกาหลีใต้ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ร้อยละ 2.75
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ร้อยละ 2.75 เพื่อบรรเทาการชะลอตัวของอุปสงค์จากนอกประเทศ ตามเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอลง ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังคงไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเกาหลีใต้เริ่มสัญญาณการฟื้นตัวแล้วในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี บ่งชี้จากมูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. - พ.ย. 55 ที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ไตรมาส 3 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งชะลอลงจากไตรมาสก่อน จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและวิกฤตหนี้สาธารณะยูโรโซนที่เรื้อรังต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบที่ชัดเจนผ่านช่องทางการค้าของเกาหลีใต้ บ่งชี้จาก มูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 11 เดือนแรกของปี 55 นั้น หดตัวที่ร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศซึ่งเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.2 ของGDP (สัดส่วนปี 54) ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนจาก ยอดค้าปลีกช่วง 11 เดือนแรกปี 55 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผนวกกับอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดย ณ เดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 เมื่อทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ เกาหลีใต้มีความเสี่ยงจากกรณีความไม่ลงรอยกันระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ซึ่งอาจส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการในอนาคตได้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ