เอกสารแนบ: รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ของปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 30, 2013 14:30 —กระทรวงการคลัง

เอกสารแนบ

“ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น จากปัจจัยฐานในปีที่แล้วที่อยู่ในระดับต่ำ อันเป็นผลของวิกฤตอุทกภัย ประกอบกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ส่งสัญญาณขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งจากการใช้จ่ายภายในประเทศและการส่งออก รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูงมาก”

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนธันวาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 29.7 ทำให้ไตรมาสที่ 4 ขยายตัวร้อยละ 18.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 20.2 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (q-o-q SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -0.2 ต่อไตรมาส ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนธันวาคม 2555 หดตัวร้อยละ -5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 19.7 อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมไตรมาสที่ 4 ขยายตัวร้อยละ 8.8 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -8.5 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (q-o-q SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 16.7 ต่อไตรมาส สำหรับการบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนธันวาคม ขยายตัวร้อยละ 162.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 509.9 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -9.7 ต่อเดือน ทำให้ไตรมาสที่ 4 ขยายตัวร้อยละ 268.7 เพิ่มขึ้นมากจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 78.6 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (q-o-q SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 9.3 ต่อไตรมาส จากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น ประกอบกับกำลังการผลิตของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆ สามารถกลับมาผลิตได้เต็มประสิทธิภาพเป็นปกติ และมีการส่งมอบรถยนต์ให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 22.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 28.0 แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -11.0 ต่อเดือน โดยยอดขายรถจักรยานยนต์ใน กทม.และในภูมิภาค มีการขยายตัวร้อยละ 109.2 และร้อยละ 15.7 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 70.2 และร้อยละ 15.5 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำจากวิกฤตอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ประกอบกับรายได้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ เนื่องจากยังคงได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ทำให้ไตรมาสที่ 4 ขยายตัวร้อยละ 24.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.4 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (q-o-q SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อไตรมาส นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนธันวาคม 2555 อยู่ที่ระดับ 70.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 69.4 เป็นการปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 15 เดือน โดยมีปัจจัยบวกจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ความชัดเจนเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันทั่วประเทศในปี 2556 ทำให้ไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ระดับ 69.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 68.4

           เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน                              2555
                                           Q1      Q2      Q3     Q4     พ.ย.    ธ.ค.    YTD
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (%yoy)              12.0     6.3    20.2    18.2   29.7     7.0    14.1
   %qoq_SA / %mom_SA                      8.6     2.3     6.8    -0.2    0.5    -7.8       -
ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (%yoy)           2.9    -4.7    -8.5     8.8   19.7    -5.6    -0.4
   %qoq_SA / %mom_SA                      0.7    -6.0    -1.6    16.7    5.5    -9.1       -
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง (%yoy)                -5.4    77.0    78.6   268.7  509.9   162.7    86.6
    %qoq_SA / %mom_SA                    85.3    38.7    32.6     9.3    6.4    -9.7       -
ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (%yoy)         -0.6     4.4    -0.4    24.8   28.0    22.4     5.8
   %qoq_SA / %mom_SA                     19.0     6.5    -2.0     0.9   -0.9   -11.0       -
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค                       65.3    67.7    68.4    69.4   69.4    70.6    67.6

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนธันวาคมและไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งจากการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนธันวาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 25.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 60.8 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -5.0 ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมไตรมาสที่ 4 ขยายตัวได้ดีร้อยละ 43.1 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 17.3 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (q-o-q SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 10.9 ต่อไตรมาส ในขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคมขยายตัวร้อยละ 155.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 445.8 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -9.1 ต่อเดือน ทั้งนี้ในภาพรวมไตรมาสที่ 4 ขยายตัวได้ดีร้อยละ 231.9 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 53.2 แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (q-o-q SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -1.4 ต่อไตรมาส สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนธันวาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 69.8 ทำให้ไตรมาสที่ 4 ขยายตัวร้อยละ 45.2 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (q-o-q SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 19.4 ต่อไตรมาส เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการภาครัฐในด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ประกอบกับนโยบายบ้านหลังแรก และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่กลับสู่สภาวะปกติ ขณะที่ด้านอุปทาน (Supply) ของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนธันวาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 24.0 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -5.4 ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมไตรมาสที่ 4 ขยายตัวได้ดีร้อยละ 20.6 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.1 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (q-o-q SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อไตรมาส

          เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน                                2555
                                            Q1      Q2      Q3      Q4    พ.ย.    ธ.ค.    YTD
เครื่องชี้การลงทุนในเครื่องจักร
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน (%yoy)                   10.2    20.2    17.3    43.1   60.8    25.2    22.1
   %qoq_SA / %mom_SA                      19.7     6.1     2.5    10.9    1.4    -5.0       -
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (%yoy)           33.5    62.3    53.5   231.9  445.8   155.8    76.2
   %qoq_SA / %mom_SA                     183.9     6.0    13.4    -1.4   -4.6    -9.1       -
เครื่องชี้การลงทุนก่อสร้าง
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ (%yoy)        4.2    26.3     7.2    45.2   69.8    10.6    20.6
   %qoq_SA / %mom_SA                       2.9    21.4    -2.4    19.4   10.8   -13.6       -
ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ (%yoy)                  5.4     5.2    12.1    20.6   24.0     8.6    10.6
   %qoq_SA / %mom_SA                       2.0     2.9    10.8     4.0  -10.0    -5.4       -

3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยด้านการคลังในเดือนธันวาคมและไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 พบว่า นโยบายการคลังมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจต่อเนื่อง พบว่า ผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้อปท.) ในเดือนธันวาคม 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 183.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 25.3 ทำให้ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555 - ธันวาคม 2555) สามารถจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้อปท.) มีจำนวนทั้งสิ้น 504.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.6 สำหรับผลการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนธันวาคม 2555 มีจำนวน 173.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 99.6 โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 138.3 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -8.7 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 131.1 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -4.6 และ (2) รายจ่ายลงทุน 7.2 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -48.9 สำหรับรายจ่ายเหลื่อมปีเบิกจ่ายได้ 35.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม2555 - ธันวาคม 2555) สามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 785.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.5 สำหรับฐานะการคลัง พบว่า ดุลเงินงบประมาณในเดือนธันวาคม 2555 เกินดุลจำนวน 8.4 พันล้านบาท ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555 - ธันวาคม 2555) ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -286.7 พันล้านบาท สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย

    เครื่องชี้ภาคการคลัง               FY2555                 FY2556
                                  FY2555    Q1/FY56     พ.ย.    ธ.ค.    YTD
รายได้สุทธิของรัฐบาล                  1975.6      504.6   174.0   183.7    504.6
(หลังหักการจัดสรรให้ อปท.)
 (%y-o-y)                            4.4       26.6    25.3    45.0     26.6
รายจ่ายรวม                         2295.3      785.9   299.8   173.9    785.9
 (%y-o-y)                            5.4       60.5    99.6     0.8     60.5
ดุลเงินงบประมาณ                     -314.7     -286.7  -131.9     8.4   -286.7

4. การส่งออกในเดือนธันวาคมและไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ส่งสัญญาณขยายตัวอีกครั้ง โดยพบว่า การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนธันวาคม 2555 มีมูลค่า 18.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -1.8 ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม นับเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 นับจากเดือนกันยายน 2555 จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมส่งออกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ สินค้าส่งออกในเดือนธันวาคม 2555 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าในหมวดยานพาหนะ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ขยายตัวร้อยละ 90.4 21.0 และ15.8 ตามลำดับ ประกอบกับการส่งออกได้ดีในทุกตลาด โดยตลาดส่งออกหลักกลับมาขยายตัวได้ดี ได้แก่ ออสเตรเลีย ฮ่องกง มาเลเซีย จีน อินโดนีเซีย เป็นต้น ทำให้ไตรมาสที่ 4 ขยายตัวร้อยละ 18.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.8 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (q-o-q SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อไตรมาส สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนธันวาคม 2555 พบว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 20.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 24.5 ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 4 มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐขยายตัวร้อยละ 16.4 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.7 ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐทำให้ดุลการค้าในเดือนธันวาคม 2555 ขาดดุลอยู่ที่ -2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และทั้งไตรมาสที่ 4 ขาดดุล -6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

     ประเทศคู่ค้าหลักของไทย                                  2555
      (สัดส่วนการส่งออก)            Q1      Q2       Q3       Q4     พ.ย.    ธ.ค.   YTD
มูลค่าการส่งออกรวม (%yoy)         -1.4     2.0     -3.8     18.5    26.9    13.4    3.1
   %qoq_SA / %mom_SA           13.6     2.3      1.3      0.7     2.9    -1.8      -
1. จีน (11.8%)                   1.4    13.7    -11.8      9.9    32.1    10.1    2.5
2. ญี่ปุ่น (10.7%)                 -6.3    -1.3     -6.3      9.0    13.5     3.1   -1.6
3. สหรัฐฯ (9.8%)                 2.1     4.6     -1.2     14.3    22.0     4.6    4.6
4. สหภาพยุโรป (9.7%)           -16.9    -7.5    -19.2     13.4    30.9     2.9   -9.2
5. มาเลเซีย (5.6%)               4.7     0.8    -18.5     19.7    26.4    35.9    0.2
6. ฮ่องกง (5.4%)                -6.5    -8.4      9.8     59.2    85.2    40.9    9.6
7. ทวีปออสเตรเลีย (4.2%)         -6.6    21.9     21.1     62.7    73.0    71.7   22.1
8. อาเซียน-9 (24.3%)             9.2     7.2     -9.0     15.2    18.6    13.1    5.0

5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนธันวาคมและไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 พบว่า มีทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2555 ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยขยายตัวร้อยละ 23.4 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 82.6 แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -3.1 ต่อเดือน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ทำให้ไตรมาสที่ 4 ขยายตัว ร้อยละ 44.0 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -11.0 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (q-o-q SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อไตรมาส สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2555 อยู่ที่ระดับ 98.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 95.2 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยเป็นผลมาจากอุปสงค์ทั้งภายในและต่างประเทศที่มีต่อสินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.7 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 97.1 ในขณะที่การผลิตภาคการเกษตรขยายตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อพิจารณาเทียบกับช่วงก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล พบว่ามีสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนธันวาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 3.4 แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) ขยายตัวร้อยละ 0.1 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน ส่วนหนึ่งเนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการผลิต สอดคล้องกับผลผลิตหมวดปศุสัตว์ที่ขยายตัวต่อเนื่องเช่นกันที่ร้อยละ 5.7 ตามการเพิ่มขึ้นผลผลิตสุกรและไก่เนื้อเป็นสำคัญ ในขณะที่ผลผลิตข้าวและมันสำปะหลังลดลงเนื่องจากอยู่ในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ทำให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ขยายตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.7 แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (q-o-q SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อไตรมาส สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนธันวาคม 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.4 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 30.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 66.0 แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -3.7 ต่อเดือน โดยหากพิจารณาจาก Contributions to Growth พบว่าเป็นการขยายได้ดี 4 อันดับแรกจากประเทศจีน มาเลเซีย รัสเซีย และเกาหลีใต้ ทำให้ให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 39.3 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (q-o-q SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อไตรมาส

       เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน                                2555
                                     Q1       Q2       Q3       Q4     พ.ย.    ธ.ค.   YTD
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (%yoy)           -6.8     -1.5    -11.0     44.0    82.3    23.4    2.5
    %qoq_SA / %mom_SA              39.8      2.8     -2.2      4.5     7.9    -3.1      -
ดัชนีผลผลิตเกษตรกรรม (%yoy)            4.1      5.6     14.7      2.8     3.4     1.4    6.1
   %qoq_SA / %mom_SA                0.3      1.4      0.9      0.4    -1.7     0.1      -
นักท่องเที่ยวต่างชาติ (%yoy)              8.1      9.8      8.6     39.3    66.0    30.4   16.0
   %qoq_SA / %mom_SA               15.4     10.0      3.1      6.5     5.6    -3.7      -

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2555 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.7 และเมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคขยายตัวร้อยละ 0.4 โดยมีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าประเภทเนื้อเป็ดไก่ รวมถึงราคาผักสดที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะอากาศแปรปรวนในช่วงที่ผ่านมาเป็นสำคัญ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.2 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.1 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายน 2555 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานเท่ากับ 1.6 แสนคน สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2555 อยู่ที่ร้อยละ 43.5 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2555 อยู่ในระดับสูงที่ 181.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.1 เท่า

        เครื่องชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจ                                  2555
                                        Q1     Q2     Q3     Q4     พ.ย.    ธ.ค.    YTD
ภายในประเทศ
   เงินเฟ้อทั่วไป (%yoy)                   3.4    2.5    2.9    3.2     2.7     3.6     3.0
   เงินเฟ้อพื้นฐาน (%yoy)                  2.7    2.0    1.8    2.1     1.9     1.8     2.1
   อัตราการว่างงาน (yoy%)                0.7    0.9    0.6    n.a.    0.4     n.a.    0.7
   หนี้สาธารณะ/GDP                      41.5   43.5   43.9    n.a.   43.5     n.a.   43.5
ภายนอกประเทศ
   ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้าน $)              1.4   -2.3    2.7    n.a.    0.4     n.a.    2.0
   ทุนสำรองทางการ (พันล้าน $)           179.2  174.7  183.6  181.6   181.6   181.6   181.6
   ฐานะสุทธิ Forward (พันล้าน $)          29.2  30.7    24.8   24.1    24.8    24.1    24.1

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ