เอกสารแนบ: รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 29, 2013 15:12 —กระทรวงการคลัง

เอกสารแนบ

“เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีสัญญาณชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายภายในประเทศสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน ขณะที่การส่งออกหดตัวลง โดยส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยฐานสูงหลังจากการฟื้นตัวจากวิกฤติอุทกภัยในช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการผลิตมีสัญญาณชะลอตัวจากภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร ขณะที่ภาคบริการสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงขยายตัวได้ดี”

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 พบว่า ยังสามารถขยายตัวได้ แม้ว่าจะชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนได้จากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ขยายตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 16.9 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -0.1 ต่อเดือน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 หดตัว ร้อยละ -5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 22.7 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -14.0 ต่อเดือน สำหรับการบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ขยายตัวร้อยละ 92.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 108.6 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -0.3 ต่อเดือน อย่างไรก็ดี ยังคงขยายตัวในระดับสูงส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยบวกจากการทยอยส่งมอบรถยนต์จากโครงการรถยนต์คันแรกที่มียอดค้างอยู่ ประกอบกับการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามทิศทางของเศรษฐกิจโดยรวม และค่ายรถยนต์ต่างๆ มีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดมากขึ้น รวมถึงมีกิจกรรมส่งเสริมการขายที่เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 หดตัวร้อยละ -0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 19.7 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -1.5 ต่อเดือน ตามการหดตัวของยอดขายรถจักรยานยนต์ใน กทม.และในภูมิภาค ที่หดตัวร้อยละ -3.2 และร้อยละ -0.2 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 18.1 และร้อยละ 20.1 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังประสบปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 อยู่ที่ระดับ 74.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 72.1 และถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นจนส่งผลให้การบริโภค การลงทุน การส่งออก และการท่องเที่ยวอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น รวมทั้งความต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ส่งผลให้กำลังซื้อโดยรวมเพิ่มขึ้น

    เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน          2555   2555                      2556
                                             Q1     Q2     Q3     Q4     ม.ค.    ก.พ.    YTD
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (%yoy)         14.0   12.0    6.2   20.1   18.0    16.9     3.2    10.0
   %qoq_SA / %mom_SA                   -   10.3    2.3    4.9   -0.3     9.2    -0.1
มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (%yoy)    1.8    7.1   -1.9   -7.7   10.4    22.7    -5.4     8.5
   %qoq_SA / %mom_SA                   -    1.5   -5.4   -2.0   17.3    16.6   -14.0
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง (%yoy)           86.6   -5.4   77.0   78.6  268.7   108.6    92.1    99.8
    %qoq_SA / %mom_SA                  -   85.3   38.7   32.6    9.3     0.4    -0.3
ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (%yoy)     5.8   -0.6    4.4   -0.4   24.8    19.7    -0.9     8.5
   %qoq_SA / %mom_SA                   -   19.0    6.5   -2.0    0.9     8.4    -1.5
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค                  67.6   65.3   67.7   68.4   69.4    72.1    74.3    73.2

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 พบว่า ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าทั้งจากการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 หดตัวร้อยละ -2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 36.4 สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 36.6 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -9.0 ต่อเดือน ตามการขยายตัวในอัตราชะลอลงของรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 29.9 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการเร่งส่งมอบไปแล้วในช่วงก่อนหน้า สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างมีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน สะท้อนจากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ขยายตัวร้อยละ 14.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -2.1 ต่อเดือน เมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) สอดคล้องกับภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ขยายตัวร้อยละ 25.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 65.2 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่า หดตัวร้อยละ -5.7 ต่อเดือน ส่วนหนึ่งมีการเร่งทำธุรกรรมไปแล้วในช่วงก่อนหน้าตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี จากความต้องการที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงความต้องการที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัดโดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีแผนเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่อย่างต่อเนื่อง

    เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน            2555                 2555                   2556
                                               Q1     Q2     Q3     Q4     ม.ค.    ก.พ.    YTD
เครื่องชี้การลงทุนในเครื่องจักร
มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน (%yoy)            23.6    11.8   21.7   18.7   44.7    36.4    -2.3    15.8
   %qoq_SA / %mom_SA                    -    21.1    6.7    2.2   10.4     3.3   -17.0
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (%yoy)      76.2    33.5   62.3   53.5  231.9    36.6    14.0    24.2
   %qoq_SA / %mom_SA                    -   183.9    6.0   13.4   -1.4    17.9    -9.0
เครื่องชี้การลงทุนก่อสร้าง
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ (%yoy)  21.4     4.2   26.3    7.2   48.1    65.2    25.9    42.8
   %qoq_SA / %mom_SA                    -     2.9   21.4   -2.4   19.4    11.1    -5.7
ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ (%yoy)            10.6     5.4    5.2   12.1   20.6    16.9    14.3    15.6
   %qoq_SA / %mom_SA                    -     2.0    2.9   10.8    4.0     8.2    -2.1

3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยด้านการคลังในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 พบว่า รายได้รัฐบาลจัดเก็บได้สูงขึ้น โดยผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 158.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 21.4 สำหรับผลการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 มีจำนวน 152.1 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -41.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 38.3 โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 130.5 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -46.5 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 122.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -47.9 และ (2) รายจ่ายลงทุน 7.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -11.3 สำหรับรายจ่ายเหลื่อมปีเบิกจ่ายได้ 21.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ดุลเงินงบประมาณในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ขาดดุลจำนวน -17.0 พันล้านบาท

    เครื่องชี้ภาคการคลัง                           FY2555                   FY2556
                                                      Q1/FY56    ธ.ค.    ม.ค.    ก.พ.     YTD
รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.)      1,975.6    507.9  187.0   163.4   158.9    830.2
 (%y-o-y)                                        4.4     27.5   47.6    21.4    15.0     23.7
รายจ่ายรัฐบาลรวม                               2,295.3    785.9  173.9   208.1   152.1  1,146.1
(%y-o-y)                                         5.4     60.5    0.8    38.3   -41.3     27.4
ดุลเงินงบประมาณ                                 -314.7   -283.0   12.0   -38.2    17.0   -338.2

4. การส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน นับจากเดือนสิงหาคม 2554 โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยฐานสูงของปีก่อนหน้าที่เป็นช่วงการฟื้นตัวจากวิกฤติอุทกภัยจึงมีการเร่งการส่งออก โดยพบว่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 มีมูลค่า 17.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 16.1 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -6.7 ต่อเดือน นอกจากนี้ การส่งออกที่ชะลอลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ที่ปรับตัวลดลงมาก ได้แก่ สินค้าในหมวดทองคำ อัญมณีและเครื่องประดับ และสินค้าในหมวดเกษตร ที่หดตัวร้อยละ -88.0 -65.3 และ -15.0 ตามลำดับ ประกอบกับการส่งออกไปยังตลาดส่งออกหลักหดตัวลง โดยเฉพาะฮ่องกง มาเลเซีย และตะวันออกกลาง ที่หดตัวร้อยละ -27.8 -16.3 และ -7.3 เป็นสำคัญ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 พบว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 19.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 40.9 ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐทำให้ดุลการค้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ขาดดุลอยู่ที่ -1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ประเทศคู่ค้าหลักของไทย                           2555                     2556
      (สัดส่วนการส่งออก)        2555      Q1     Q2     Q3     Q4     ม.ค.    ก.พ.    YTD
มูลค่าการส่งออกรวม (%yoy)        3.1    -1.4    2.0   -3.8   18.5    16.1    -5.8     4.1
   %qoq_SA / %mom_SA            -    13.6    2.3    1.3    0.7     4.9    -6.7
1. จีน (11.7%)                 2.5     1.4   13.7  -11.8    9.9    19.4     3.7    10.9
2. ญี่ปุ่น (10.2%)               -1.6    -6.3   -1.3   -6.3    9.0     7.3    -1.1     2.9
3. สหรัฐฯ (9.9%)               4.6     2.1    4.6   -1.2   14.3    16.7    -0.9     7.2
4. สหภาพยุโรป (8.5%)          -9.2   -16.9   -7.5  -19.2   13.4    24.5    -0.8    10.7
5. ฮ่องกง (5.7%)               9.6    -6.5   -8.4    9.8   59.2    74.1   -27.8     3.6
6. มาเลเซีย (5.4%)             0.2     4.7    0.8  -18.5   19.7    14.1   -10.3    -2.7
7. ตะวันออกกลาง (5.0%)         6.6     0.2    1.2   -2.2   35.5     9.1    -7.3    -0.1
8. ทวีปออสเตรเลีย (4.9%)       22.1    -6.6   21.9   21.1   62.7    44.4    10.9    26.0
9. อาเซียน-9 (24.7%)           5.0     9.2    7.2   -9.0   15.2    18.0    -7.2     4.2

5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 พบว่า มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 หดตัวร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 10.2 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อเดือน โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่ยกเลิกการกลั่นน้ำมันเบนซินออกเทน 91 ตามประกาศยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 อย่างเป็นทางการของกระทรวงพลังงาน กลุ่มเครื่องแต่งกายตามทิศทางโครงสร้างของอุตสาหกรรมที่มีการย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า กลุ่มอาหาร และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่มที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ และเครื่องประดับ เป็นสำคัญ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 อยู่ที่ระดับ 95.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 97.3 สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับที่ไม่ดี โดยเป็นผลมาจากวันทำงานในเดือนกุมภาพันธ์ ที่น้อยกว่าปกติรวมทั้งอยู่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน โรงงานบางส่วนได้หยุดดำเนินการ อีกทั้งผู้ประกอบการยังมีความกังวลและได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของค่าจ้างแรงงาน ราคาพลังงาน และราคาวัตถุดิบ ในขณะที่การผลิตภาคการเกษตรหดตัวลดลงเล็กน้อย โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 หดตัวร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 ตามการหดตัวของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าวและ ข้าวโพด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอยู่ในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังและอ้อยที่ยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 4.6 และร้อยละ 1.1 ตามลำดับ ตามสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิต สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศพบว่ายังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.3 ล้านคน นับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 25.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.5 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 6.0 ต่อเดือน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี 3 อันดับแรกมาจากนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย และมาเลเซีย ที่ขยายตัวร้อยละ 162.8 31.9 และ 28.3 ตามลำดับ

     เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน       2555               2555                      2556
                                            Q1     Q2      Q3      Q4     ม.ค.    ก.พ.    YTD
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (%yoy)          2.5    -6.8    -1.5   -11.0    43.9    10.2    -1.2     4.3
    %qoq_SA / %mom_SA               -    39.8     2.8    -4.9     7.4    -1.1     1.2
ดัชนีผลผลิตเกษตรกรรม (%yoy)          5.3     4.0     4.6    13.0     2.3     0.7    -0.2     0.3
   %qoq_SA / %mom_SA                -     0.3     1.4     0.9     0.4    -4.6     0.7
นักท่องเที่ยวต่างชาติ (%yoy)           16.0     8.1     9.8     8.6    39.3    12.5    25.6    18.8
   %qoq_SA / %mom_SA                -    15.4    10.0     3.1     6.5    -3.1     6.0

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.4 จากการลดลงของราคาสินค้าจำพวกผักและผลไม้ เนื่องจากสภาพอากาศเหมาะสม ทำให้มีสินค้าเข้าสู่ตลาดมากขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.6 เทียบเท่ากับเดือนก่อนหน้า สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนมกราคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานเท่ากับ 3.2 แสนคน สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมกราคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 44.1 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556 อยู่ในระดับสูงที่ 179.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.1 เท่า

     เครื่องชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจ            2555                2555                2556
                                               Q1     Q2     Q3     Q4    ม.ค.   ก.พ.   YTD
ภายในประเทศ
   เงินเฟ้อทั่วไป (%yoy)                   3.0    3.4    2.5    2.9    3.2    3.4    3.2    3.3
   เงินเฟ้อพื้นฐาน (%yoy)                  2.1    2.7    2.0    1.8    2.1    1.6    1.6    1.6
   อัตราการว่างงาน (yoy%)                0.7    0.7    0.9    0.6    0.5    0.8    n.a.   0.8
   หนี้สาธารณะ/GDP                      44.0   41.5   43.5   43.9   44.0   44.1    n.a.  44.1
ภายนอกประเทศ
   ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้าน $)              2.7    1.4   -2.3    2.7    0.9   -2.2    n.a.  -2.2
   ทุนสำรองทางการ (พันล้าน $)           181.6  179.2  174.7  183.6  181.6  181.7  179.3  179.3
   ฐานะสุทธิ Forward  (พันล้าน $)         24.1   29.2   30.7   24.8   24.1   23.6   23.1   23.1

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ