รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 เมษายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 29, 2013 13:31 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 เมษายน 2556

Summary:

1. พาณิชย์เล็งเซ็น MOU มองโกเลียมุ่งกระชับสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

2. นายกรัฐมนตรี ระบุเชื่อมโยงอาเซียน จะช่วยพัฒนาการค้า และเศรษฐกิจไปด้วยกัน

3. GDP ไตรมาสแรกของสหรัฐฯ เติบโตต่ำกว่าคาด จากการตัดลดงบประมาณและการขึ้นภาษี

Highlight:

1. พาณิชย์เล็งเซ็น MOU มองโกเลียมุ่งกระชับสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
  • ในระหว่างวันที่ 27-29 เม.ย. 56 นายกรัฐมนตรีจะเยือนมองโกเลียอย่างเป็นทางการ และจะนำทีมผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าหารือกับรมว.พัฒนาเศรษฐกิจและ รมว.อุตสาหกรรมและเกษตรของมองโกเลียเพื่อจะดูงาน และสำรวจตลาดมองโกเลียในการหาช่องทางและโอกาสในการทำธุรกิจของไทยในมองโกเลียทั้งนี้มองโกเลียถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าได้อีกมากพร้อมที่จะรับสินค้าและบริการจากไทยทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ อาทิ ก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ เหมืองแร่ บริการรักษาพยาบาล อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป รวมถึงกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางของไทย อาทิ ร้านอาหาร สปา ด้วยเหตุนี้กระทรวงพาณิชย์จึงจะเสนอให้มีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกัน เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนและความร่วมมือของทั้งสองประเทศ
  • สศค.วิเคราะห์ว่า แม้ในปัจจุบันการส่งออกสินค้าของไทยไปยังมองโกเลียจะยังมีมูลค่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับการส่งออกไปยังตลาดหลักอื่นๆ (ในปี 55 มีมูลค่าส่งออก 13.2 ล้านเหรียญสหรัฐ) อย่างไรก็ดีมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังมองโกเลียมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยขยายตัวได้ร้อยละ 198.3 32.6 และ 3.9 ในปี 53 54 และ 55 ตามลำดับ นอกจากนี้มองโกเลียยังเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลของธนาคารโลก GDP ของมองโกเลียขยายตัวไม่เคยต่ำกว่าร้อยละ 6 ต่อปีตั้งแต่ปี 46 เป็นต้นมาโดยมีเพียงปี 52 เท่านั้นที่GDP หดตัวเนื่องจากวิกฤติการเงินของโลกและจากข้อมูลล่าสุดในปี 54 GDP ของมองโกเลียขยายตัวถึงร้อยละ 18 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของมองโกเลียในการเป็นตลาดส่งออกของไทยทดแทนความไม่แน่นอนของตลาดหลักในอนาคต
2. นายกรัฐมนตรี ระบุเชื่อมโยงอาเซียน จะช่วยพัฒนาการค้า และเศรษฐกิจไปด้วยกัน
  • นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ"รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน"หลังจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ณ ประเทศบรูไน ถึงความต้องการสร้างความเชื่อมโยงอาเซียนที่มีประชากร 600 ล้านคนด้วยกัน โดยเรื่องการพัฒนานั้นคือต้องการลดช่องว่างในการพัฒนาเศรษฐกิจโดย 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย พัฒนารับเบอร์ซิตี้ ในการพัฒนาเกษตร ยางพารา และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาไปร่วมกัน โดยการเชื่อมโยงไปกับแผนการพัฒนาของอาเซียน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเชื่อมโยงแผนการพัฒนาของอาเซียน จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจภายในภูมิภาค ทั้งในด้านการเพิ่มอำนาจการต่อรองกับเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ และเป็นการเปิดโอกาสให้มีการค้าขายระหว่างกันมากขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนการส่งออกไทยไปในอาเซียนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นร้อยละ 24.7 ของการส่งออกสินค้ารวมของไทยในปี 55 ส่วนเรื่องการร่วมกันพัฒนารับเบอร์ซิตี้ ระหว่าง 3 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกหลักของโลก)นั้นในระยะยาวแล้วจะเป็นประโยชน์อย่างสูงกับเกษตรกรทั้ง 3 ประเทศในการลดความผันผวนของราคายางพาราในตลาดโลก ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนแรกปี 56 ราคายางพาราในตลาดโลกหดตัวร้อยละ -18.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
3. GDP ไตรมาสแรกของสหรัฐฯ เติบโตต่ำกว่าคาด จากการตัดลดงบประมาณและการขึ้นภาษี
  • สหรัฐฯได้เปิดเผยตัวเลข GDP ล่าสุด เมื่อ 26 เม.ย. 56 ถึงตัวเลข GDP ในไตรมาสแรกของปีที่ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.5 ต่ำกว่าค่ากลางของการคาดการณ์จากหลายสำนักที่ร้อยละ 3.0 (รวบรวมโดยสำนักข่าว Bloomberg) แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วงเดือนก่อนหน้าจะแสดงสัญญาณในเชิงบวกจากหลายตัวชี้วัดบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็น ราคาบ้านที่เพิ่มขึ้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้นทำลายสถิติ การผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคก่อสร้าง รวมไปถึงการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ตัวเลขล่าสุดได้ชี้ให้เห็นว่าการฟื้นตัวดังกล่าวยังคงมีความเสี่ยงปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ การเริ่มตัดลดงบประมาณโดยเฉพาะงบประมาณกองทัพในเดือนมีนาคมการขึ้นภาษี Payroll tax ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อการบริโภคที่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวและอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ปัจจัยลบดังกล่าวส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวอเมริกันต่ออนาคตเศรษฐกิจของตน (The Thomson Reuters/University of Michigan Index of Consumer Sentiment) ปรับตัวลดลงในเดือนเมษายนมาอยู่ที่ระดับ 76.4จาก 78.6ในเดือนก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ทิศทางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะรักษาระดับไปได้นานเพียงใด จึงยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาใกล้ชิดหากสหรัฐฯสามารถปรับตัวและผ่านอุปสรรคภายในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ปัจจัยด้านการคลัง (การตัดงบประมาณและขึ้นภาษี) ปัจจัยด้านการว่างงาน และการฟื้นฟูเสถียรภาพของภาคการเงินไปได้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ พร้อมที่จะกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งมากขึ้น จากการที่มีความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนและทรัพยากรด้านพลังงานที่สูงเป็นพื้นฐานสำคัญ

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ