รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 เมษายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 24, 2013 13:51 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 เมษายน 2556

Summary:

1. ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกผลตอบแทนสูงสุดติด 1 ใน 5 ของโลก

2. ซีอีโอกังวลเศรษฐกิจในไตรมาส2ชะลอจากต้นทุนที่สูงขึ้น

3. เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัวจากข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ

Highlight:

1. ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกผลตอบแทนสูงสุดติด 1 ใน 5 ของโลก
  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดเผยว่า SET จะยังอยู่ในความสนใจของนักลงทุนต่อเนื่อง ช่วง 1 ปีข้างหน้า และเป็นประเทศที่นักลงทุน เลือกจะลงทุนระยะยาว ตราบใดที่ปัจจัยพื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลง เพราะแม้ว่าในปีนี้ผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะไม่สูงที่สุดในโลก แต่ยังเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 56 SET Index ปิดตลาดที่ระดับ 1,561.1 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 จากสิ้นปี55 และเพิ่มขึ้นร้อยละ1.3 เมื่อเทียบกับสิ้นเดือน ก.พ. 56 โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (Market capitalization) ที่ 13.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.3 จากสิ้นปี 55 ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของตลาดลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) อยู่ที่ 1.88 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 จากเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.7 จากสิ้นปี 55
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การที่ดัชนี SET Index ในไตรมาสที่ 1 ของปี 56 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเป็นจากเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากนโยบายผ่อนคลายทางเศรษฐกิจ (Quantitative Easing : QE) ของสหรัฐฯ สะท้อนได้จากในไตรมาสแรกของปี 56 นักลงทุนต่างประเทศมีสถานะซื้อสุทธิประมาณ 3,906 ล้านบาท โดยในเดือน มี.ค. 56 เพียงเดือนเดียวนักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิถึง 6,170 ล้านบาท นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 56 มีบริษัทจดทะเบียนระดมทุนในรูปตราสารทุนมูลค่า 19,828 ล้านบาท โดยเป็นการระดมทุนในตลาดแรก 3,917 ล้านบาท จากบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ 5 บริษัท และมีการระดมทุนในตลาดรอง 15,911 ล้านบาท และมีบริษัทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอเข้าจดทะเบียน SET อีกประมาณ 13 บริษัท และ mai 9 บริษัท เช่น บมจ. การบินกรุงเทพ และบมจ. สายการบิน นกแอร์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 2 ตลาด ในอนาคต
2. ซีอีโอกังวลเศรษฐกิจในไตรมาส2ชะลอจากต้นทุนที่สูงขึ้น
  • นสพ.กรุงเทพธุรกิจและศูนย์วิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ได้รายงานผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร CEO Sentiment Index ประจำเดือน มี.ค.- เม.ย. 56 ว่า นักธุรกิจส่วนใหญ่มองแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 น่าจะใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 1 และส่วนหนึ่งมองว่าเศรษฐกิจน่าจะแย่ลงกว่าไตรมาสที่ 1 จากต้นทุนที่สูงขึ้น โดยปัจจัยหลักที่กระทบต่อธุรกิจในไตรมาสที่ 2 5 อันดับแรก คือ ต้นทุนวัตถุดิบ (3.7 คะแนน) ต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น (3.5 คะแนน) สภาวะเศรษฐกิจของไทย การแข็งขึ้นของค่าเงินบาท และความต้องการของตลาดที่ลดลง (3.4 คะแนน) ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของธุรกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 56 จะต้องเผชิญกับต้นทุนในการทำธุรกิจที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น ต้นทุนแรงงานจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศเป็นวันละ 300 บาท ต้นทุนราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงในบางธุรกิจยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนราคาน้ำมันที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตและขนส่งสินค้าของไทย โดยล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 3 เดือนแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปี 56 ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศ โดยล่าสุด การบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคงที่ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 56 ยังคงสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งตามเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐที่มีแผนการลงทุนต่างๆ ชัดเจนขึ้น ได้แก่ แผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท และร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่มีแผนการลงทุนในช่วงปี 2556-2563 ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวถือเป็นยุทธศาสตร์การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ และจะส่งผลสำคัญต่อประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 5.3 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.8-5.8) (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 56)
3. เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัวจากข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ
  • เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว เนื่องจากข้อมูลเบื้องต้นของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของ HSBC ณ เดือน เมษายน อยู่ที่ระดับ 50.5 ลดลงจาก 51.6 ณ เดือน มีนาคมในปีเดียวกัน นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของยอดสั่งซื้อเพื่อส่งออกลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.6 ณ เดือน เมษายน ลดลงจาก 50.5 ณ เดือน มีนาคม โดยตัวเลขต่ำกว่า 50 ซึ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมภาคการผลิตของจีนในเริ่มหดตัว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า กรณีที่เศรษฐกิจของจีนเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัว โดยตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของเศรษฐกิจมีการเติบโตลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 เหลือเพียงร้อยละ 7.7 ในไตรมาสแรกปี 2556 แต่ไม่ใช่สถานการณ์ที่น่ากังวล เนื่องจากมองว่าส่วนหนึ่งเป็นความตั้งใจของรัฐบาลจีนเองที่ต้องการดูแลภาพรวมของเศรษฐกิจภายในประเทศไม่ให้มีความร้อนแรงเกินไปจากการขยายตัวที่ค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการเติบโตของจีดีพีในระดับร้อยละ 7.0 ก็ถือว่าเป็นอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ร้อยละ 8.2 ในปี 2556 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ