รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 มีนาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 29, 2013 10:32 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 มีนาคม 2556

Summary:

1. มูลค่าส่งออกไทย เดือน ก.พ. 56 หดตัวร้อยละ -5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

2. มูลค่าส่งออกและนำเข้าของเวียดนามเดือนมี.ค. 56 กลับมาขยายตัวอีกครั้ง

3. เกาหลีใต้ออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ในเดือน เม.ย. 56 วงเงิน 14 ล้านล้านวอน

Highlight:

1. มูลค่าส่งออกไทย เดือน ก.พ. 56 หดตัวร้อยละ -5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขมูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 56 อยูที่ 17,928 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 5.3 ด้วยมูลค่า 19,185 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนเดียวกันขาดดุลอยู่ที่ -1,557 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ หากพิจารณารายสินค้าพบว่า การส่งออกสินค้าหมวดเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าหมวดอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ -13.5 และ -2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกของไทยที่หดตัวลงในเดือน ก.พ. 56 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐาน เนื่องจากเทศกาลตรุษจีนในปี 56 นี้ ตรงกับช่วงเดือน ก.พ. ในขณะที่เทศกาลตรุษจีนในปีก่อนหน้าอยู่ในช่วงเดือน ม.ค. จึงทำให้เดือน ก.พ. 56 มีวันทำการของประเทศคู่ค้าและของผู้ส่งออกไทยบางรายที่น้อยกว่าปีก่อนหน้า สะท้อนจากมูลค่าส่งออกไปยังจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย (สัดส่วนส่งออกของไทยไปยังจีนปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 11.7 ของมูลค่าส่งออกรวม) ชะลอลงมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อีกทั้งมูลค่าส่งออกไปยังอาเซียน 5 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีวันหยุดยาวช่วงเทศกาลตรุษจีนเช่นกัน หดตัวร้อยละ -3.4 จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าภาคส่งออกไทยเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว จึงควรติดตามตัวเลขการส่งออกในเดือนถัดไปอย่างใกล้ชิด
  • ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปี ภาคการส่งออกยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจยูโรโซนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของไทยที่ยังคงไม่แน่นอน จากทั้งปัญหาทางการเงินในไซปรัส และความไม่แน่นอนทางการเมืองอิตาลี อีกทั้งยังต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดในระยะต่อไป
2. มูลค่าส่งออกและนำเข้าของเวียดนาม เดือน มี.ค. 56 กลับมาขยายตัวอีกครั้ง
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนามประกาศมูลค่าการส่งออกของเวียดนาม เดือน มี.ค. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 16.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -13.9 ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน มี.ค. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 24.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -15.6 ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่น้อยกว่าการนำเข้า ส่งผลให้เวียดนามขาดดุลการค้า -0.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค.วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกเวียดนามในเดือนมี.ค.56 กลับมาขยายตัวเร่งขึ้น หลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า ผลส่วนหนึ่งจากเทศกาลตรุษจีน ทั้งนี้ หากพิจารณามิติสินค้า พบว่าการส่งออกสินค้าประเภทอัญมณีและโลหะมีค่า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 614.4 และ 44.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวสูงนั้น เป็นผลจากการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 50.1 และ 28.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ เป็นสำคัญ
3. เกาหลีใต้ออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ในเดือน เม.ย. 56 วงเงิน 14 ล้านล้านวอน
  • รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังริมทรัพย์ วงเงิน 14 ล้านล้านวอน (12.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของ GDP โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือน เม.ย. 56 นี้ อีกทั้งจะดำเนินมาตรการกระตุ้นภาคการจ้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 56 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ปรับลดประมาณการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ปี 56 จากเดิมร้อยละ 3.0 เหลือเพียงร้อยละ 2.3
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องออกมาประกาศมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว อาจเป็นเพราะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 54 โดยล่าสุด GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 55 ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 55 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.0 ทั้งนี้ การชะลอตัวดังกล่าวเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ คือ 1) การชะลอตัวของอุปสงค์โลกจากวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทำให้การส่งออกของเกาหลีใต้ขยายตัวในอัตราชะลอลง ทั้งนี้ เกาหลีใต้เป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกมากโดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 52.1 ของ GDP ปี 54 2) เงินเยนที่อ่อนค่าลง ทำให้สินค้าส่งออกของญี่ปุ่นได้เปรียบสินค้าเกาหลีใต้ในด้านราคา และส่งผลให้ขีดความสามารถในการส่งออกของเกาหลีใต้ลดลง
  • ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวน่าจะส่งผลให้มีการลงทุนในภาคการก่อสร้างมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพคล่องที่ล้นตลาดการเงินโลกในขณะนี้ จำเป็นต้องจับตาแนวโน้มภาคอสังหาริมทรัพย์เกาหลีใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องเตรียมมาตรการรองรับ หากราคาอสังหาริมทรัพย์ในเกาหลีใต้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากมาตรการกระตุ้นดังกล่าว

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ