รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 มีนาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 20, 2013 10:32 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 มีนาคม 2556

Summary:

1. ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

2. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. 56 อยู่ที่ 95.5 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า

3. ญี่ปุ่นสนใจเข้าลงทุนในเวียดนาม

Highlight:

1. ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
  • ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐา ซึ่งกระทรวงการคลังจะสามารถกู้เงินตราต่างประเทศ หรือเงินบาทเพื่อนำมาใช้ลงทุนในโครงการต่าง ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์และแผนงานที่กำหนดไว้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนโครงสร้างพื้อนฐานตามร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะกระทำภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าทางถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า (2) ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และ (3) ยุทธศาสตร์พัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อยกระดับความคล่องตัวซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ ลดการสูญเสียจากการใช้น้ำมัน และลดระยะเวลาการเดินทางและการขนส่งแล้ว นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นจากกรณีฐานเฉลี่ยในช่วงปี 2556 - 2563 ร้อยละ 1.0 ต่อปี และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 5 แสนตำแหน่ง โดยในช่วงแรกของการดำเนินโครงการอาจส่งผลให้เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากการนำเข้าสินค้าทุนและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ในระยะยาวจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังคงอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง
2. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. 56 อยู่ที่ 95.5 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (TISI) ในเดือน ก.พ 56 อยู่ที่ระดับ 95.5 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 97.3 เนื่องจากมีวันทำงานน้อยกว่าปกติและโรงงานบางส่วนหยุดดำเนินการในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยค่าดัชนีที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 103.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 101.5 ค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าดัชนี TISI ที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับที่ไม่ดีนักจากความกังวลในเรื่องต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เช่น ต้นทุนค่าจ้างแรงงานจากนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ราคาพลังงานและวัตถุดิบที่มีแนวโน้มสูงขึ้น แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะดัชนี TISI ของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนี TISI ในเดือน ก.พ. 56 อยู่ที่ระดับ 98.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 96.7 ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวและการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยล่าสุด มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ 18.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงปีก่อนหน้าที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ยังสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 5.3 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ได้แก่ สินค้ายานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งขยายตัวร้อยละ 40.3 29.8 และ 20.5 ตามลำดับ ทั้งนี้ แนวโน้มของภารส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องสะท้อนสัญญาณที่ดีของภาคการส่งออกของไทยที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 56
3. ญี่ปุ่นสนใจเข้าลงทุนในเวียดนาม
  • ผู้เชี่ยวชาญบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ เบรนเวิร์กส์ ในญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ในปี 56 ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของญี่ปุ่นเตรียมเข้าลงทุนในเวียดนามเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเล็งเห็นถึงศัยภาพการเติบโตของตลาดเวียดนาม ประกอบกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังไม่หลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด ส่งผลให้เอกชนจำนวนมากหนีไปลงทุนต่างประเทศแทน ทั้งนี้ ตลาดเวียดนามซึ่งเป็นตลาดใหม่และมีจำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวในระดับสูง โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ญี่ปุ่นสนใจลงทุนในเวียดนามมากที่สุด คือ การเอาต์ซอร์สและภาคบริการ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เวียดนามถือเป็นประเทศมีอัตราการเติบโตของ GDP เฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปีต่อเนื่องกันเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ประกอบกับนโยบายรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่น่าสนใจของนักลงทุน เนื่องจาก (1)มีระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ เปิดกว้างในด้านนโยบายการค้าการลงทุนและการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้การติดต่อค้าขายระหว่างประเทศสะดวกยิ่งขึ้น (2) ประชากรวัยแรงงานในระดับสูง เนื่องมาจากโครงสร้างประชากรที่กว่าร้อยละ 50 เป็นประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี อัตราการรู้หนังสือของประชาชน (Literacy Rate) อยู่ที่ร้อยละ 94 โดยเฉพาะทักษะภาษาต่างประเทศ ทำให้เพิ่มโอกาสในการได้รับงานจากนักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปลงทุน และ (3) สามารถขจัดอุปสรรคจากการเรียกร้องขอค่าจ้างในอัตราที่สูงมาก ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 56 เศรษฐกิจของเวียดนาม จะขยายตัวร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ