รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 15, 2013 11:35 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556

Summary:

1. ธปท. ประกาศตัวเลขสินเชื่อส่วนบุคคล ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 17.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

2. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผยยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 56 ขยายตัวเล็กน้อย

3. เศรษฐกิจญี่ปุ่น ไตรมาส 4 ปี 55 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวในอัตราต่ำกว่าคาดการณ์

Highlight:

1. ธปท. ประกาศตัวเลขสินเชื่อส่วนบุคคล ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 17.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ธปท. ได้ประกาศตัวเลขสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับล่าสุดในเดือน ธ.ค. 55 โดยพบว่า ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 251,549 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 จาก ณ สิ้นปี 54 ทั้งนี้ หากพิจารณาในส่วนของการผิดนัดชำระหนี้พบว่า สนเชื่อส่วนบุคคลมียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loans: NPLs) หรือยอดหนี้ที่ผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไป ทั้งสิ้น 7,491 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 1,643 ล้านบาทจาก ณ สิ้นปี 54 (สูงขึ้นร้อยละ 28.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สินเชื่อส่วนบุคคลที่ขยายตัวเร่งขึ้นสูงดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวเร่งขึ้นของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามการดำเนินนโยบายรถคันแรกของภาครัฐ โดย ณ สิ้นปี 55 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.2 ของปริมาณยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคล ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 33.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ปริมาณยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มสูงขึ้น ถือว่ายังไม่สูงมากนัก กอปรกับธนาคารแห่งประเทศได้ดำเนินการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 ของยอดสินเชื่อส่วนบุคคลรวม หรือเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้คาดว่าสินเชื่อส่วนบุคคลน่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้อาจชะลอลงบ้างจากการที่นโยบายรถคันแรกได้สิ้นสุดลงในเดือน ธ.ค. 55
2. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผยยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 56 ขยายตัวเล็กน้อย
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผยยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 56 ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากระยะเวลาการลดอัตราภาษี payroll ร้อยละ 2 หมดลง อีกทั้งมีการปรับขึ้นอัตราภาษีเงินเดือนของประชาชนผู้มีรายได้สูง ผลจากการเจรจาแก้ปัญหาหน้าผาทางการคลังเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 56 ที่ผ่านมา และราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น บ่งชี้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลชัดเจนในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า โครงสร้างเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เน้นการขยายตัวของภาคอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 70.9 ของ GDP ในปี 54 ยอดค้าปลีกอันเป็นหนึ่งในเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนที่สำคัญที่ส่งสัญญาณขยายตัวชะลอลง ส่วนหนึ่งจากการขึ้นอัตราภาษี payroll ตามข้อตกลงการแก้ไขปัญหาหน้าผาทางการคลัง ประกอบกับอัตราการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือน ม.ค. 56 ที่เพิ่มขึ้นเพียง 157,000 ตำแหน่ง น้อยกว่าเดือนก่อนซึ่งเพิ่มขึ้น 196,000 ตำแหน่ง และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเดียวที่ลดลงมาอยู่ระดับ 58.6 จุด สะท้อนว่าการบริโภคภาคเอกชนของสหรัฐฯ ในเดือนนี้ชะลอลงชัดเจน อย่างไรก็ตาม มาตรการทางการเงินที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนหลักของการบริโภคภาคเอกชนสหรัฐฯ ในปีนี้
3. เศรษฐกิจญี่ปุ่น ไตรมาส 4 ปี 55 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวในอัตราต่ำกว่าคาดการณ์
  • ทางการญี่ปุ่นประกาศ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น ไตรมาส 4 ปี 55 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวในอัตราต่ำกว่าคาดการณ์ อยู่ที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือ หดตัวร้อยละ -0.1 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ส่งผลให้ทั้งปี 55 เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.9 สาเหตุสำคัญจาก ภาคการส่งออกที่หดตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนที่กลับมาหดตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ออกมาแย่กว่าคาด โดยเฉพาะการขยายตัวของ GDP ที่หดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 บ่งชี้ถึงเศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 55 จะกลับมาขยายตัวในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาก็ตาม ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในช่วงต้นปี 54 และปัญหาห่วงโซ่อุปทานจากอุทกภัยในไทยในช่วงปลายปี 54 ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสสุดท้ายปี 55 ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก การลงทุนภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ15.5 ของGDP (สัดส่วนปี 55) กลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ที่ร้อยละ -6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผนวกกับอุปสงค์นอกประเทศที่หดตัวลง โดยเฉพาะอุปสงค์จากจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น (สัดส่วนการส่งออกปี 54 ร้อยละ 19.7 ของมูลค่าการส่งออกรวม) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกรณีพิพาทประเด็นกรรมสิทธิ์หมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นผ่านช่องทางการค้า สะท้อนจาก ยอดการส่งออกญี่ปุ่น ปี 55 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ -2.8 อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตามคือ (1) นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่ จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้ฟื้นตัวและต่อสู้กับภาวะเงินฝืดที่มีมายาวนานกว่า 10 ปี (2) การเข้าร่วมประชุม G20 ในสุดสัปดาห์นี้ ประเด็นหารือการหลีกเลี่ยงสงครามค่าเงิน ซึ่งญี่ปุ่นอาจได้รับแรงกดดันจากประเทศสมาชิกให้หยุดใช้นโยบายการเงินที่มีอิทธิพลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ภายหลังจาก BOJ ประกาศจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ วงเงิน 13 ล้านล้านเยนต่อเดือน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเดือน ม.ค. 57 ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงมาก ซึ่งจำเป็นต้องจับตามองต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ