รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 13, 2013 11:04 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556

Summary:

1. ธปท. ประเมินแนวโน้มธุรกิจไทย ไตรมาสแรก ปี 56 ขยายตัวต่อเนื่อง

2. รมช.เกษตรฯ พอใจโครงการรักษาเสถียรภาพราคาส่งผลราคายางสูงขึ้น

3. OECD มองเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว

Highlight:

1. ธปท. ประเมินแนวโน้มธุรกิจไทย ไตรมาสแรก ปี 56 ขยายตัวต่อเนื่อง
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานแนวโน้มธุรกิจว่า ในไตรมาสแรกของปี 56 ภาคธุรกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น สำหรับผู้ประกอบการประเมินว่าการใช้จ่ายในประเทศจะเติบโตได้ดี ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นทั้งผลทางตรงและทางอ้อมจากมาตรการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ที่ประกาศใช้ทั่วประเทศในเดือน ม.ค.56 ขณะที่ภาคธุรกิจลงทุนขยายกำลังการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 56 จะได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐที่เร่งตัวสูงขึ้น และการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ ขณะที่คาดว่า รายได้ภาคครัวเรือนจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ และโครงการรับจำนำข้าว โดย สศค. คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค.55 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 56 จะขยายตัวอยู่ในช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5 - 5.5 อย่างไรก็ตาม จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือน มี.ค. 56
2. รมช.เกษตรฯ พอใจโครงการรักษาเสถียรภาพราคาส่งผลราคายางสูงขึ้น
  • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการตรวจราชการโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง (โครงการฯ) ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา ว่าภายหลังจากการดำเนินโครงการฯ ราคายางพาราได้ขยับราคาขึ้นเกิน ก.ก.ละ 100 บาท ส่งผลให้ราคายางพาราในประเทศอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าจะขณะนี้จะมีผลกระทบบางส่วน จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาส่งออกยางส่งมอบล่วงหน้า 1 เดือน (ราคา FOB) เฉลี่ยเดือนกุมภาพันธ์ 2556 เท่ากับ 98.5 บาท/ก.ก. ลดลงร้อยละ -1.3 จากเดือนก่อนหน้า และลดลงร้อยละ -21.4 จากช่วงเดียวกัน ของปีก่อน อย่างไรก็ดี ราคายางพารามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามปริมาณความต้องการของตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น เช่น ความต้องการยางพาราจำนานมากของประเทศจีนมีจากการ ที่รัฐบาลจีนได้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และความต้องการยางพาราของประเทศญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ประกอบกับอุปสงค์ภายในประเทศที่ที่เพิ่มขึ้น ตามอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีส่วนช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกรให้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาคการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 2556 การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 3.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4 - 4.4)
3. OECD มองเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว
  • รายงานเศรษฐกิจล่าสุดของ OECD ชี้ว่าเศรษฐกิจประเทศหลักหลายประเทศกำลังฟื้นตัว สะท้อนจากดัชนีชี้นำรวม (Composite Index Indicator) ที่คำนวณจากตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกของกลุ่มรวม 33 ประเทศ ที่ปรับสูงขึ้นจาก 100.3 เป็น 100.4 ในเดือน ธ.ค. 55 ซึ่งเป็นการปรับดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม โดยสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นจาก 100.9 เป็น 101.1 สหราชอาณาจักรปรับสูงขึ้นจาก 100.6 เป็น 100.7 ยูโรโซนปรับสูงขึ้นเล็กน้อยจาก 99.5 เป็น 99.6 ขณะที่ ฝรั่งเศสปรับลดลงจาก 99.4 เป็น 99.3 นอกจากนี้ ญี่ปุ่น จีน และบราซิล ก็มีสัญญาณดีขึ้นเช่นกัน ขณะที่อินเดียและรัสเซีย ยังคงโตต่ำกว่าระดับปกติค่อนข้างชัดเจน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของหลายประเทศมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เช่น (1) เศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งปี 55 ขยายตัวร้อยละ 2.2 สำหรับเครื่องชี้ด้านการผลิตมีสัญญาณดีขึ้นสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM Mfg PMI) ในเดือน ม.ค. 56 อยู่ระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี ที่ระดับ 53.1 จุด ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (ISM Non-Mfg PMI) อยู่ที่ระดับ 55.2 จุด นอกจากนี้ การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm payrolls) ในปี 55 เพิ่มขึ้นกว่า 2.17 ล้านตำแหน่งจากปีก่อนหน้า และล่าสุดในเดือน ม.ค. 56 มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 157,000 ตำแหน่ง จากเดือนก่อนหน้า (2)เศรษฐกิจยูโรโซน ทั้งปี 55 หดตัวร้อยละ -0.4 สำหรับเครื่องชี้ด้านการผลิตมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยแม้ว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จุด สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยูโรโซนในเดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 48.6 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 47.2 จุด โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 47.9 และ 48.6 จุด ตามลำดับ (3)เศรษฐกิจจีน ทั้งปี 55 ขยายตัวร้อยละ 7.8 สำหรับเครื่องชี้ด้านการผลิตมีสัญญาณดีขึ้นสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการที่จัดทำโดย NBS และ HSBC ในเดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 56.2 จุดและระดับ 54.0 จุด ตามลำดับ สูงสุดในรอบ 4-5 เดือนจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่อยู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ 14 ประเทศคู่ค้าหลักของไทยในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 3.9 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 55)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ