รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 22, 2013 10:58 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556

Summary:

1. หอการค้าเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 56 เป็นร้อยละ 5.0

2. เศรษฐกิจมาเลเซียไตรมาส 4 ปี 55 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยูโรโซน (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ก.พ. 56 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 47.3 จุด

Highlight:

1. หอการค้าเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 56 เป็นร้อยละ 5.0
  • ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 56 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.8 - 5.3 หรือเฉลี่ยร้อยละ 5.0 สูงกว่าที่เคยประมาณการไว้เดิมที่ร้อยละ 4.5 เพราะคาดว่า การอัดฉีดเม็ดเงินงบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งออกที่ฟื้นตัวจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้มากขึ้น โดยคาดว่า การส่งออกจะขยายตัวได้ร้อยละ 8.2 ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้จะอยู่ที่ 23.6 ล้านคน เงินเฟ้อเฉลี่ย ร้อยละ 3.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สศค. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 56 มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 5.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.5 - 5.5) โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐที่เร่งตัวสูงขึ้น และการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ ขณะที่อุปสงค์ภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลง หลังจากที่มีการเร่งการบริโภคและการลงทุนเพื่อฟื้นฟูจากวิกฤตอุทกภัยไปมากแล้วในปีก่อน อย่างไรก็ตาม รายได้ภาคครัวเรือนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จะช่วยส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนไม่ชะลอลงมากนัก ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 56 จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 - 3.5) โดยอุปทานน้ำมันในตลาดโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจส่งผลให้ราคาธัญพืชโลกปรับตัวสูงขึ้น
2. เศรษฐกิจมาเลเซียไตรมาส 4 ปี 55 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เศรษฐกิจมาเลเซียปี 55 ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อน สะท้อนจากผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4 ปี 55 ที่ขยายตัวเร่งขึ้นมากที่ร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ทำให้ทั้งปี 55 เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 5.6 เร่งขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.1
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจมาเลเซียที่ขยายตัวได้ดีในไตรมาสนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า ด้านอุปสงค์ เป็นผลจากการขยายตัวเร่งขึ้นมากของการลงทุนรวมในประเทศ กล่าวคือ การลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐขยายตัวร้อยละ 20.2 และร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ด้านอุปทาน ผลผลิตในทุกภาคส่วนขยายตัวได้ดี เห็นได้จากภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 6.3 ร้อยละ 5.8 และร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ บ่งชี้ว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางมาเลเซีย ภาคอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงแข็งแกร่ง รวมทั้งโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการเร่งใช้จ่ายก่อนจากเลือกตั้งของรัฐบาลมาเลเซียมีส่วนสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสนี้
  • ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.5 - 5.5 ในปี 56 เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐด้วยมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจและการคลัง ทำให้ภาคอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดี อีกทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินของโลกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 55
3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยูโรโซน (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ก.พ. 56 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 47.3 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยูโรโซน (Markit's Composite PMI) (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ก.พ. 56 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 47.3 จุด จากระดับ 48.6 จุดในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุด อย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 18 โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 47.8 และ 47.3 จุด ตามลำดับ บ่งชี้ถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจยูโรโซนที่หดตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 4 ปี 55 หดตัวร้อยละ -0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.1 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ส่งผลให้ทั้งปี 55 เศรษฐกิจยูโรโซนหดตัวเฉลี่ยร้อยละ -0.5 ผลจากปัญหาหนี้สาธารณะของบางประเทศในยูโรโซนที่ส่งผลกระทบลามไปยังประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่ในยูโรโซน อาทิ เยอรมนี และฝรั่งเศส เนื่องจากประเทศในกลุ่มยูโรโซนทำการค้าระหว่างกันในสัดส่วนที่สูง ทั้งนี้ ดัชนีที่ปรับตัวลดลงสะท้อนถึงภาคการผลิตและบริการในยูโรโซนที่ยังคงย่ำแย่ในไตรมาสแรกของปี 56 อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา จากปัญหาหนี้สาธารณะที่เริ่มคลี่คลายลง และการคงอัตราดอกเบี้ยในอัตราต่ำที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ของธนาคารกลางยุโรป จะเป็นปัจจัยเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ