รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 มกราคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 15, 2013 11:39 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 มกราคม 2556

Summary:

1. พาณิชย์อนุมัติขึ้นราคาอาหารสัตว์ร้อยละ 3-10

2. คมนาคมจ่อขึ้นค่าทางด่วน 5 บาทดีเดย์1ก.ย. 56

3. ยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้น 15.8%

Highlight:

1. พาณิชย์อนุมัติขึ้นราคาอาหารสัตว์ร้อยละ 3-10
  • อธิบดีกรมการค้าภายในเปิดเผยว่า นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เห็นชอบให้ปรับขึ้นราคาอาหารสัตว์ มีผลตั้งแต่ปลายปี 55 หลังพบว่าต้นทุนผลิตอาหารสัตว์ปรับเพิ่มขึ้นจริง โดยการอนุมัติให้ขึ้นราคาอาหารสัตว์โคเนื้อ โคนม กุ้ง ไก่ เนื้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3-10 หรือปรับขึ้นเกินถุง (30 กก.) ละ 10 บาทขึ้นไปทั้งนี้ จะยกเว้นอาหารหมู อาหารไก่ไข่ เพื่อไม่ให้กระทบกับกลุ่มโปรตีนที่ประชาชนนิยมบริโภค
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ต้นทุนผลิตอาหารสัตว์ที่ปรับเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความแปรปรวนที่อาจส่งผลให้ราคาธัญพืชโลกปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาอาหารสัตว์บางชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งราคาอาหารสัตว์จะมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทางอ้อมทางผ่านหมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ ซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักในตะกร้าเงินเฟ้อร้อยละ 5.73 อย่างไรก็ดี หากมีการตรึงราคาอาหารหมูและอาหารไก่ไข่จะไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อมากนัก โดยข้อมูลล่าสุดเดือน ธ.ค. 55 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ทำให้ทั้งปี 55 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 56 จะอยู่ในระดับเดียวกับปี 55 ที่ระดับร้อยละ 3.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 - 3.5) (คาดการณ์ ณ ธ.ค.55)
2. คมนาคมจ่อขึ้นค่าทางด่วน 5 บาทดีเดย์1ก.ย. 56
  • ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงกรณีการปรับขึ้นค่าทางด่วนตามกำหนดสัมปทานระหว่าง กทพ. กับบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ต้องปรับขึ้นทุกๆ 5 ปี ของทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ว่า การปรับขึ้นราคาดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาโดยจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ กทพ. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง คาดว่าน่าจะมีการบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.ย 56 เป็นต้นไป ซึ่งหากมีการปรับขึ้นจริงคงเพิ่มอีก 5 บาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับขึ้นค่าทางด่วนทุกๆ 5 ปีเป็นไปตามข้อกำหนดในสัมปทาน โดยต้องคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อประกอบการพิจารณา ซึ่งจากข้อมูลพบว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 (ธ.ค.51-ธ.ค.55) เทียบกับการปรับขึ้นค่าทางด่วนครั้งนี้ที่ 5 บาทจะคิดเป็นการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 ทั้งนี้การขึ้นค่าทางด่วนอาจส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนให้สูงขึ้น โดยค่าทางด่วนเป็นบริการที่จัดอยู่ในหมวดพาหนะ และการขนส่งฯ ของตะกร้าเงินเฟ้อ มีน้ำหนักร้อยละ 0.05 ซึ่งจากแบบจำลองอัตราเงินเฟ้อพบว่าการปรับขึ้นค่าทางด่วน 5 บาทในช่วงเดือน ก.ย.56 จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ +0.03 จากกรณีฐานทีร้อยละ 3.0
3. ยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้น 15.8%
  • ยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้น 15.8 % สู่ระดับ 4.87 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากระดับ 4.20 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนตุลาคมอันเป็นผลมาจากยอดนำเข้าสินค้านอกกลุ่มปิโตรเลียมที่เพิ่มแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 5 ปี โดยยอดนำเข้าสินค้าของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.8 % สู่ระดับ 2.31 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ยอดนำเข้าโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ต่อพ่วงเพิ่มสูงกว่า 27 % ขณะที่ยอดนำเข้าสินค้าเวชภัณฑ์ขยายตัวเกือบ 20 %
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดนำเข้าสินค้าของสหรัฐที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าว สะท้อนแนวโน้มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯที่มีเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 4 ปี 55 ที่อยู่ที่ระดับ 69.9 จุด (ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 65.0 จุด) ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการบริโภคภาคเอกชน ขณะเดียวกัน ภาคการผลิตสหรัฐฯ ก็ได้รับอานิสงส์จากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM Mfg PMI) ของสหรัฐ เดือน ธ.ค. 55 กลับมาอยู่สูงกว่าระดับ 50 อีกครั้ง โดยแตะระดับ 50.7 จุด (จากระดับ 49.5 จุดในเดือนก่อนหน้า)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ