รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 มกราคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 22, 2013 11:11 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 มกราคม 2556

Summary:

1. ครม.อนุมัติต่ออายุปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลอีก 1 เดือน

2. ครม.ไฟเขียวกำหนดให้ผลปาล์มน้ำมันเป็นรายการสินค้า-บริการควบคุมปี 56

3. อินเดียขึ้นภาษีนำเข้าทอง หวังสกัดยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

Highlight:

1. ครม.อนุมัติต่ออายุปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลอีก 1 เดือน
  • โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพื่อเป็นการบรรเทาภาระให้กับประชาชนออกไปอีก 1 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 56 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์เนื่องจากน้ำมันดีเซลยังมีราคาสูงและรัฐบาลต้องการดูแลประชาชนไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้รัฐบาลชุดก่อนที่มีนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเหลือ 0.005 บาท/ลิตรจากเดิมที่ 5.31 บาท/ลิตร
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การต่ออายุปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีก ณ สถานียังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 30 บาท/ลิตร เช่น ที่สถานีน้ำมัน ปตท. ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 29.79บาท/ลิตร ซึ่งจะเป็นการช่วยลดผลกระทบจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ โดยเฉพาะภาคขนส่งที่มีการบริโภคน้ำมันเป็นสัดส่วนสูง และมีน้ำมันเป็นต้นทุนหลักในการให้บริการ การต่ออายุมาตรการดังกล่าวจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังอยู่ในช่วงที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ร้อยละ 2.5 ถึง 3.5 หรือมีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 3.0 (ประมาณการ ณ ธ.ค.55) อย่างไรก็ดี การต่ออายุดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 9 พันล้านบาท/เดือน
2. ครมไฟเขียวกำหนดให้ผลปาล์มน้ำมันเป็นรายการสินค้าบริการควบคุมปี-56
  • โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดรายการสินค้าและบริการควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 รวมทั้งหมด 43 รายการให้เป็นสินค้าและบริการควบคุมในปี 56 แบ่งเป็นสินค้า 40 รายการ และบริการ 3 รายการ ทั้งนี้ ได้มีการเพิ่มสินค้าผลปาล์มน้ำมันเข้ามาล่าสุด เนื่องจากปริมาณการผลิตผลปาล์มน้ำมันมีความผันผวนมาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะราคาอาหารที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม จากการที่ภาครัฐมีนโยบายกำหนดรายการสินค้าควบคุมดังกล่าว จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ในปี 56 ได้กำหนดให้เพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันเป็นรายการควมคุมอีก 1 รายการ ซึ่งการเพิ่มรายการควบคุมดังกล่าวจะช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ (ปาล์มน้ำมันหรือน้ำมันปาล์มจัดอยู่ในหมวดเครื่องประกอบอาหาร มีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อร้อยละ 1.95) โดยข้อมูลล่าสุดเดือน ธ.ค. 55 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ทำให้ทั้งปี 55 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 56 จะอยู่ในระดับเดียวกับปี 55 ที่ระดับร้อยละ 3.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 - 3.5 คาดการณ์ ณ ธ.ค.55)
3. อินเดียขึ้นภาษีนำเข้าทอง หวังสกัดยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
  • อินเดียประกาศขึ้นภาษีนำเข้าทองคำเพื่อควบคุมยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ รวมถึงจำกัดความต้องการโลหะมีค่าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา โดยภาษีนำเข้าทองคำและพลาตินัมจะเพิ่มขึ้นเป็น 6% จากปัจจุบันที่ 4% โดยมีผลบังคับใช้ในทันที และจะมีการทบทวนอัตราภาษีดังกล่าวอีกครั้งเมื่อการนำเข้าลดลง ทั้งนี้ ธนาคารกลางอินเดียเปิดเผยว่า ประมาณ 80% ของยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศมาจากการนำเข้าทองคำ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า วิเคราะห์ว่าในช่วงปี 55 ที่ผ่านมา มูลค่าการนำเข้าสินค้าของอินเดียขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.5 ต่อปี ขณะที่มูลค่าการส่งออกกลับติดลบเฉลี่ยที่ร้อยละ -4.1 ต่อปี ดังนั้น มาตรการการขึ้นภาษีดังกล่าวจะช่วยทำให้ความต้องการทองคำในอินเดียลดลง และลดอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าในปีนี้ ตลอดจนบรรเทาปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของอินเดีย (ที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 5.4 ของ GDP ในช่วงปลายปี 55) ท่ามกลางปัญหาการส่งออกที่ลดต่ำลง และการลงทุนใหม่ๆ ที่หยุดชะงัก เนื่องจากภาคธุรกิจขาดความมั่นใจในนโยบายการปฏิรูปของรัฐบาลในช่วงปีที่ผ่านมา

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ