รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 มกราคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 21, 2013 11:16 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 มกราคม 2556

Summary:

1. ธปท. ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 56 โตที่ร้อยละ 4.9

2. พาณิชย์จับมือเอกชนรับมือสหรัฐฯเปิดไต่สวนใช้มาตรการ CVD กับสินค้ากุ้ง

3. ญี่ปุ่นใกล้บรรลุข้อตกลงเป้าหมายเงินเฟ้อ 2%

Highlight:

1 . ธปท. ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 56 โตที่ร้อยละ 4.9
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 55-56 เพิ่มขึ้น โดยปี 55 จะอยู่ที่ร้อยละ 5.9 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5.7 และปี 56 คาดว่าGDP จะอยู่ที่ร้อยละ 4.9 สูงจากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 4.6 เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายในประเทศที่ต่อเนื่องจากปี 55 ส่วนภาคการส่งออกคาดว่าจะทยอยฟื้นตัวจนกลับมามีบทบาทต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 56 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 55 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 5.7 จากปี 54 ที่ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 ตามการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ โดยได้รับอานิสงส์จากนโยบายภาครัฐเป็นสำคัญ ในขณะที่ปี 56 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5 - 5.5) โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับสูง จากทั้งรายจ่ายงบประมาณและรายจ่ายตามแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาทที่คาดว่าจะเริ่มทยอยลงทุนได้มากขึ้นในปี 56 ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงจากปี 55 ที่ร้อยละ 3.9 เนื่องจากปัจจัยฐานสูง นอกจากนี้ การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกทำให้คาดว่าจะมีส่วนสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกมากขึ้น โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 6.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.6 -7.6) คาดการณ์ ณ ธ.ค. 55
2. พาณิชย์จับมือเอกชนรับมือสหรัฐฯ เปิดไต่สวนใช้มาตรการ CVD กับสินค้ากุ้ง
  • อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวว่าการเปิดการไต่สวนมาตรการ CVD สินค้ากุ้งแช่แข็งของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้ต่อการส่งออกกุ้งของไทย ซึ่งกรมฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบดังกล่าวจึงจะร่วมมือกับหน่วยงานที่ถูกกล่าวหาและผู้ส่งออกกุ้งเพื่อต่อสู้ให้ไทยหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาดังกล่าว หรือหากไม่ก็จะพยายามให้มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมส่งออกกุ้งของไทยน้อยที่สุด โดยสหรัฐฯได้ประกาศเปิดการไต่สวนการอุดหนุนสินค้ากุ้งแช่แข็งจากไทย และประเทศต่างๆ รวม 7 ประเทศคือไทย จีน อินเดียมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และเอกวาดอร์
  • สศค.วิเคราะห์ว่า มาตรการ CVD คือมาตรการตอบโต้การอุดหนุน โดยจะมีการเก็บภาษีเพิ่ม เพื่อป้องกันสินค้านำเข้าที่มีราคาต่ำกว่าสินค้าในประเทศ ซึ่งทำความเสียหายต่ออุตสาหกรรมท้องถิ่น การใช้มาตรการดังกล่าวต้องมีการประกาศใช้ต่อประเทศผู้นำเข้าและมีการดำเนินการแก้ต่างของประเทศผู้ถูกกล่าวหา โดยหากไทยไม่สามารถแก้ต่างได้อาจจะทำให้สินค้ากุ้งแช่แข็งของไทยเสียความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งในประเทศได้ เนื่องจากการส่งออกสินค้ากุ้งแช่แข็งของไทยมีการพึ่งพาสหรัฐฯเป็นอย่างมาก โดยจากข้อมูลล่าสุดในปี 54 การส่งออกกุ้งแช่แข็งไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 21,809 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 41.9 ของการส่งออกกุ้งแช่แข็งทั้งหมด โดยมีประเทศญี่ปุ่นและแคนาดา เป็นตลาดรองลงมา
3. ญี่ปุ่นใกล้บรรลุข้อตกลงเป้าหมายเงินเฟ้อ 2%
  • นายอากิระ อามาริ รัฐมนตรีนโยบายเศรษฐกิจและการคลังของญี่ปุ่นกล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่น นำโดยนายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ใกล้บรรลุข้อตกลงในเรื่องเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2 ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านนโยบายเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินฝืดที่มีมาอย่างยาวนาน นายอามาริ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่นว่า ข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรคาดว่าจะเปิดเผยภายหลังการประชุมนโยบายของบีโอเจในวันจันทร์และอังคารนี้ โดยมีแนวโน้มที่จะเป็นการแถลงข่าวร่วมกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ญี่ปุ่นประสบกับภาวะเศรษฐกิจซบเซามาเป็นเวลานาน โดยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.5 ในช่วง 32 ปีที่ผ่านมา (ปี 2523 - 2555) และจากข้อมูลล่าสุดพบว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตเพียงร้อยละ 0.5 (yoy) ในไตรมาส 3 ปี 55 ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับต่ำดังกล่าวส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องประสบกับภาวะเงินฝืด ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นเดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ -0.2 ถือเป็นภาวะเงินฝืดติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 นับตั้งแต่ มิ.ย. 55 ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ร้อยละ 2 คาดว่าจะส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย เช่น ดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ หรือการพิมพ์เงินเยนอย่างไม่จำกัด ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้ปรับตัวดีขึ้น

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ