รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ของปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 29, 2013 14:48 —กระทรวงการคลัง

ฉบับที่ 10/2556

วันที่ 29 เมษายน 2556

“เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีสัญญาณแผ่วลงจากช่วงก่อนหน้า ทั้งจากการใช้จ่ายภายในประเทศของภาคเอกชน การส่งออก รวมทั้งด้านการผลิตโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร ขณะที่ภาคการคลังมีบทบาทในการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง”

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีสัญญาณแผ่วลงจากช่วงก่อนหน้า ทั้งจากการใช้จ่ายภายในประเทศ เช่น ยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 18.0 แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลหดตัวเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (q-o-q SA) และการส่งออกขยายตัวร้อยละ 4.3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่หดตัวลงร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (q-o-q SA) ขณะที่ภาคการคลังมีบทบาทสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ผ่านการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลที่ขยายตัวร้อยละ 8.1 ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 สำหรับในด้านการผลิต พบว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวร้อยละ 2.9 แต่หดตัวลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ -2.8 (q-o-q SA) เช่นเดียวกับการผลิตภาคการเกษตรขยายตัวร้อยละ 1.9 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหดตัวร้อยละ -4.0 (q-o-q SA) ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจไทยที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 1 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 และขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 1.7 (q-o-q SA) นอกจากนี้ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถรองรับความผันผวนจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกได้”

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 บ่งชี้ การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัว สะท้อนได้จากปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคไตรมาสที่ 1 ขยายตัวร้อยละ 5.1 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัวร้อยละ -4.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (q-o-q SA) ส่วนปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวระดับสูงอยู่ที่ร้อยละ 101.3 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการทยอยส่งมอบรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรก สำหรับการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงจากช่วงก่อนหน้าทั้งจากการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน (หักเครื่องบิน เรือ และรถไฟ) ในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่หดตัวร้อยละ -5.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (q-o-q SA) เช่นเดียวกับภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวร้อยละ 32.5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่หดตัวร้อยละ -5.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (q-o-q SA) ส่วนหนึ่งมาจากการเร่งทำธุรกรรมไปแล้วในช่วงปลายปี 2555 ในด้านการส่งออกยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลีย จีน และอาเซียน 9 ที่ขยายตัวร้อยละ 30.4 7.3 และ 5.9 ตามลำดับ

ในขณะที่เครื่องชี้ทางด้านการผลิตในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวได้ดี คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ แอร์พัดลม การปั่นการทอ และเครื่องประดับ สำหรับภาคการเกษตร ดัชนีผลผลิตยังคงขยายตัวได้เล็กน้อยแต่ราคาสินค้าเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องร้อยละ -4.0 ทำให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงหดตัวร้อยละ -5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย 3 อันดับแรกที่มีการขยายตัวได้ดีมาจากนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย และญี่ปุ่นที่ขยายตัวร้อยละ 93.5 26.0 และ 22.7 ตามลำดับ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่า อัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงาน เงินเฟ้อปรับลดลงเล็กน้อย และทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2556 อยู่ในระดับสูงที่ 177.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ”

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกล่าวสรุปว่า “เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 บ่งชี้เศรษฐกิจไทยที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่เริ่มมีสัญญาณที่แผ่วลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่ง สศค.จะได้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ นโยบายการคลังจะมีส่วนสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป”

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ