รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 29 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 3, 2013 11:23 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเม.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.2
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มี.ค. 56 เกินดุล 1,935.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนมี.ค. 56 กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สินเชื่อเดือน มี.ค. 56 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 13.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เงินฝากสถาบันการเงิน

ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 18.5

  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ เดือนมี.ค. 56 หดตัวร้อยละ -3.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 1 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ GDP ไต้หวัน ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.5
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 56 ที่จัดทำโดยทางการจีน อยู่ที่ระดับ 50.6 จุด
  • อัตราว่างงานสหภาพยุโรป เดือน มี.ค. 56 เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์มาอยู่ที่ร้อยละ 12.1 ของกำลังแรงงานรวม
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อญี่ปุ่น เดือน เม.ย. 56 ปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ที่ระดับ 51.1 จุด
Indicators next week
 Indicators                                    Forecast           Previous
 Apr : Motorcycle Sale (%YoY)                    5.0                0.04

โดยปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ ที่ได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล อย่างไรก็ดีรายได้ภาคครัวเรือนในภาคใต้ ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง ตามราคาสินค้าเกษตกรสำคัญ อาทิ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ลดลง ทำให้คาดว่ายอดขายรถจักรยานยนต์ในภาคใต้ลดลงเช่นกัน

Economic Indicators: This Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเม.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.7 โดยเป็นผลมาจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่มีการปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบโลก อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนเมษายน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ผลผลิตทางด้านการเกษตรได้รับผลกระทบเข้าสู่ตลาดน้อยลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.2 เทียบเท่ากับเดือนก่อนหน้า
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน เม.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. 56 พบว่าหดตัวร้อยละ -0.1 สำหรับดัชนีในหมวดที่ลดลง ได้แก่ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กลดลงร้อยละ -2.1 (เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย-ผิวเรียบเหล็กตัวเอช ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี) จากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาลดลงร้อยละ -1.1 (สายส่งกำลังไฟฟ้า NYY สายเคเบิล THW สายไฟฟ้า VAF) จากราคาวัตถุดิบเพื่อการผลิตเหล็กที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในช่วง 4 เดือนแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 1.3
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มี.ค. 56 เกินดุล 1,935.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 1,568.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากดุลการค้าที่เกินดุล 2,025.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมูลค่าส่งออกที่ปรับสูงขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้า ผลจากการส่งออกสินค้าหมวดยานยนต์ที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศที่ขยายตัวต่อเนื่องตามสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ขณะที่ดุลบริการรายได้และเงินโอนขาดดุลเล็กน้อยที่ -89.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งกลับกำไรและเงินปันผล ขณะที่รายรับการท่องเที่ยวยังคงอยู่ในระดับสูงตามภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในไตรมาส 1 ปี 56 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,267.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมี.ค. 56 กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้า (mom_sa) พบว่าขยายตัวเช่นดียวกันร้อยละ 4.1 เป็นผลมาจากอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับ และการปั่นการทอ ซึ่งสอดคล้องกับอัตรากำลังการผลิตในเดือน มี.ค. 56 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 70.3 ส่งผลให้ MPI ในไตรมาส 1/56 ขยายตัวร้อยละ 2.9 อย่างไรก็ดี มีบางอุตสาหกรรมที่ยังคงอยู่ในภาวะหดตัว ได้แก่ อุตสากรรมเครื่องแต่งกายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตที่มีการย้ายฐานการผลิต และอุตสากรรมอิเล็กทรอนิกส์ (HDD) เนื่องจากยอดคำสั้งซื้อจากต่างประเทศที่ลดลง และปัจจัยการเติบโตของ Smart Phone และ Tablet ที่เข้ามาทดแทน HDD เพิ่มขึ้น
  • สินเชื่อเดือน มี.ค. 56 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 13.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ตามผู้ให้สินเชื่อพบว่า สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจและสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อผู้บริโภค ซึ่งขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 1.4 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) สอดคล้องกับการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายรถคันแรก ทั้งนี้ อุปสงค์ในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ควรจับตามองปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต
  • เงินฝากสถาบันการเงินเดือน มี.ค. 56 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 18.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากการที่ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจระดมเงินฝาก เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในอนาคต รวมถึงการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์เพื่อรักษาฐานลูกค้า ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวดีต่อเนื่องปี 56 จะส่งผลให้สถาบันการเงินต่างๆจะระดมเงินฝากอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน เม.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 73.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 75.0 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 7 เดือนส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก 1. ความกังวลค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว จนส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม 2.ราคาพืชผลเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้รายได้ในภาคชนบทลดลง และ 3. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศในเดือนมี.ค. 56 หดตัวร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -3.6 ต่อเดือน โดยปริมาณการจำหน่ายเหล็กที่ลดลงได้แก่ เหล็กเส้นข้ออ้อย (น้ำหนักร้อยละ 62.4 ของปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม) หดตัวร้อยละ -1.8 ต่อปี เหล็กเส้นกลม (น้ำหนักร้อยละ 13.5) หดตัวร้อยละ -21.4 ต่อปี และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (น้ำหนักร้อยละ 14.5) หดตัวร้อยละ -8.9 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งซื้อขายมากในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ ในไตรมาสแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 8.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: Next Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนเม.ย. 56 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.04 โดยปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ ที่ได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล อย่างไรก็ดีรายได้ภาคครัวเรือนในภาคใต้ ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง ตามราคาสินค้าเกษตกรสำคัญ อาทิ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ลดลง ทำให้คาดว่ายอดขายรถจักรยานยนต์ในภาคใต้ลดลงเช่นกัน

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 1 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า หรือเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อนหน้า โดยการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.0 และ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -2.1 ผลจากการตัดลดงบประมาณรายจ่ายจากการแก้ปัญหาหน้าผาทางการคลัง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. 56 อยู่ระดับที่สูงสุดในรอบ 7 เดือน ที่ 68.1 จุด และ สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 61.9 จุด (ตัวเลขปรับปรุง) จากดัชนีสภาวะธุรกิจที่ดีขึ้นเป็นสำคัญ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM Mfg PMI) เดือน เม.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 50.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.3 จุด และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ผลจากดัชนีการจ้างงานลดลง ประกอบกับดัชนีสินค้าคงคลังหดตัว
Japan: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน เม.ย. 56 ปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ที่ระดับ 51.1 จุด สะท้อนภาคการผลิตญี่ปุ่นที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราว่างงาน เดือน มี.ค. 56 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ของกำลังแรงงานรวม อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 56 ยังคงลดลงต่อเนื่องที่ร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนภาวะเงินฝืดในญี่ปุ่นที่ยังเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 53 ที่ช่วงร้อยละ 0 - 0.1 เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศให้ฟื้นตัว
China: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 56 ที่จัดทำโดยทางการจีน อยู่ที่ระดับ 50.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.9 จุด เนื่อง จากดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลงเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ดัชนีฯ ยังอยู่เหนือระดับ 50.0 จุด บ่งชี้การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ขณะที่ดัชนีฯ ที่จัดทำโดย HSBC อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด ลดลงจาก 51.6 จุด เป็นผลจากดัชนีคำสั่งซื้อใหม่สินค้าส่งออกที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ดัชนีฯ ภาคบริการ ที่จัดทำโดยทางการจีนอยู่ที่ระดับ 54.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.6 จุด
Eurozone: worsening economic trend
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 3 ปี มาอยู่ที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาน้ำมันที่ยังคงลดลงต่อเนื่อง ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ ECB ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 0.50 ในวันที่ 2 พ.ค. 56 ขณะที่อัตราว่างงาน เดือน มี.ค. 56 เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์มาอยู่ที่ร้อยละ 12.1 ของกำลังแรงงานรวม โดยเฉพาะกรีซและสเปนมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 27.2 และร้อยละ 26.7 ของกำลังแรงงานรวม ตามลำดับ สะท้อนอุปสงค์ภายในภูมิภาคที่ยังคงเปราะบาง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 56 (ตัวเลขปรับปรุง) ลดลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 46.7 สะท้อนภาคการผลิตที่ส่งสัญญาณหดตัวต่อเนื่อง
Indonesia: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 56 หดตัวร้อยละ -13.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน มี.ค. 56 หดตัวร้อยละ -10.0 อย่างไรก็ตาม ดุลการค้าเกินดุลมูลค่า 304.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเกินดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 51.7 จุด สูงสุดในรอบ 6 เดือน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตและดัชนีการจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 2ปี จากราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.9
Singapore: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน เม.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 50.3 จุด ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่และคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกที่ปรับตัวลดลง อัตราว่างงาน ไตรมาสที่ 1 ปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน จากเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซาและมาตรการการควบคุมแรงงานต่างชาติของรัฐที่เข้มงวด
Vietnam: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวดี ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 19.4 จากการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวสูงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ดุลการค้าขาดดุล -1.0 พัน ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Hong Kong: mixed signal
  • ยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 56 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 9.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าหมวดอาหารและยาสูบที่กลับมาหดตัวอีกครั้ง เป็นสำคัญ
Taiwan: mixed signal
  • GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ส่งผลให้อุปสงค์นอกประเทศยังคงขยายตัวได้ในอัตราต่ำเป็นสำคัญ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 56 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.7 จุด จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ที่ลดลง
India: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 56 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 51.0 จุด อย่างไรก็ตามภาคการส่งออกยังคงขยายตัวต่อเนื่อง เอื้อต่อการขยายตัวภาคการผลิต
South Korea: mixed signal
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 56 หดตัวต่อเนื่องร้อยละ -3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลผลิตสินค้าอุปโภคและอุปโภคที่หดตัวชะลอลงเป็นสำคัญ และอัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 56 ปรับลดอยู่ที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากราคาสินค้าหมวดเครื่องดื่ม ยาสูบ และ เครื่องนุ่งห่มที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอันดับสำคัญที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -0.5 ส่งให้ดุลการค้าเกินดุล 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 56 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.6 จุด สะท้อนการฟื้นตัวของภาคการผลิต
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสุงขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าและมีความผันผวนสูง โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 2 พ.ค. 56 ปิดที่ 1,589.19 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 52,876.58 ล้านบาท ด้วยแรงซื้อจากนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนรายย่อยภายในประเทศ โดยนักลงทุนจับตามองประเด็นค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจับตามองว่าทางการจะมีมาตรการค่าเงินบาทหรือไม่ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 29 เม.ย. - 2 พ.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 111.77 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงในทุกช่วงอายุตราสาร ประมาณ 1-5 bps จากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ นักลงทุนในตลาดพันธบัตรยังคงจับตามองประเด็นค่าเงินบาทเป็นพิเศษ โดยระหว่างวันที่ 29 เม.ย. - 2 พ.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,623.3 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 2 พ.ค. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 29.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยอ่อนค่าลงร้อยละ -1.17 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางตรงข้ามกับค่าเงินส่วนใหญ่นอกจากเงินริงกิตมาเลเซีย จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงเล็กน้อย หลังจากรายงานผลการประชุม Fed ยังมีความไม่แน่นอนว่า Fed อาจทยอยลดการทำมาตรการ QE ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในอัตราที่มากกว่าค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ -1.57 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำค่อนข้างทรงตัว โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 2 พ.ค. 56 ปิดที่ 1,466.24 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ใกล้เคียงกับต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,475.79 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ