รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 8, 2013 15:55 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2556

Summary:

1. สศช.ชี้ค่าบาทแข็งยังไม่กระทบเป้าหมายเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.5-5.5%

2. กระทรวงพาณิชย์เรียกผู้ประกอบการอาหารหารือเพื่อตรึงราคาอาหารสำเร็จรูป

3. ดัชนี PMI ภาคบริการในเดือน เม.ย. 56 ของจีนลดลง

Highlight:

1. สศช.ชี้ค่าบาทแข็งยังไม่กระทบเป้าหมายเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.5-5.5%
  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจเดือนมี.ค.และแนวโน้มปี 2556 ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 พ.ค. โดยระบุว่า แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ ร้อยละ 4.5-5.5 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.5-3.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.9 ของ GDP
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุด ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.4 จากต้นปี ขณะที่ข้อมูล่าสุดจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยพบว่า เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยมีแรงสนับสนุนหลักการการบริโภคในประเทศ (Domestic demand) ทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน นอจากนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสที่ 1/56 ยังขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับช่วงของปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 4.5 ทั้งนี้ สศค.คาดการณ์เศรษฐกิจไทย (ณ เดือนมี.ค. 56) ในปี 56 จะขยายตัว โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.8 - 5.8) โดยคาดว่าการส่งอออกทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 9.0 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 8.0-10.0)
2. กระทรวงพาณิชย์เรียกผู้ประกอบการอาหารหารือเพื่อตรึงราคาราคาอาหารสำเร็จรูป
  • อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ในวันที่ 8 พฤษภาคม 56 จะเชิญผู้ประกอบการอาหารในห้างโมเดิร์นเทรด ผู้ประกอบการค้าปลีก เจ้าของสถานที่ ขอความร่วมมือในการตรึงราคาอาหารสำเร็จรูปภายหลังจากราคาก๊าซหุงต้มได้มีการปรับราคาขึ้น นอกจากนี้ กรมการค้าภายในจะขอความร่วมมือผู้ประกอบการห้างโมเดิร์นเทรดเพิ่มจุดจำหน่ายอาหารจานเดียวเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย สำหรับแนวโน้มราคาสินค้ามีการปรับขึ้น มีเพียงราคาไข่ไก่ ที่ทยอยปรับขึ้นพียงสัปดาห์ละ 10 สตางค์ ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดและตามมติของเอ้กบอร์ดโดยเป็นการปรับราคาขึ้นไม่สูงกว่าปีที่ผ่านมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันวิถีชีวิตของประชาชนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารสำเร็จรูปจำนวนมาก และในช่วงที่ผ่านมาสินค้าในหมวดอาหารสำเร็จรูปได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เช่น ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ตามความขาดแคลนเนื่องจากโรคระบาดหรือภัยแล้ง ราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดโลก โดยในเดือนเมษายน 56 สินค้าในหมวดอาหารสำเร็จรูปได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ริโภคในหมวดอาหารสำเร็จรูปในเดือนเมษายน 56 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยราคาอาหารสำเร็จรูปในบ้าน ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ราคาอาหารสำเร็จรูปนอกบ้านปรับเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว ราคาสินค้าในหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่างที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนเมษายน 56 เท่ากับร้อยละ 2.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 จะอยู่ทิ่ร้อยละ 3.0 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 56 )
3. ดัชนี PMI ภาคบริการในเดือน เม.ย. 56 ของจีนลดลง
  • HSBC รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการในเดือน เม.ย. 56 ของจีนอยู่ที่ระดับ 51.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 54.3 สะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น ซี่งสอดคล้องกับสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) ซึ่งได้รายงานไปก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี PMI ภาคบริการในเดือน เม.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 54.5 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 55.6 แสดงถึงภาคบริการยังคงมีการขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าแม้ว่าจะชะลอลงก็ตาม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI)ภาคบริการของจีนจะขยายตัวชะลอลง แต่ดัชนีฯ ที่ยังคงสามารถอยู่เหนือระดับ 50.0 จุด ก็บ่งชี้ว่าภาคบริการยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องเช่นเดียวกับดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม โดยล่าสุด ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย. 56 ที่จัดทำโดยทางการจีนอยู่ที่ระดับ 50.6 จุด ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.9 จุด จากผลของดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลงเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ที่ยังอยู่เหนือระดับ 50.0 จุด เป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันก็บ่งชี้ถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ขยายตัวสอดคล้องกับภาคการส่งออกของจีนที่ขยายตัวได้ดี โดยล่าสุด มูลค่าการส่งออกสินค้าในช่วง 3 เดือนแรกของปี 56 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 18.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากช่วง 3 เดือนแรกของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 สำหรับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 56 จะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกที่มีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของรัฐบาลโดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มกลับมาขยายตัว ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 8.2 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ