รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 พฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 16, 2013 15:35 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 พฤษภาคม 2556

Summary:

1. กระทรวงการคลังชี้แจงว่าแบงก์รัฐใช้เกณฑ์กำกับปล่อยกู้มาตรฐานเดียวกับแบงก์เอกชนยาก

2. เมย์แบงก์กิมเอ็งคาด GDP ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 4.5

3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน เม.ย. 56 ของญี่ปุ่น ปรับตัวเพิ่มขึ้น

Highlight:

1. กระทรวงการคลังชี้แจงว่าแบงก์รัฐใช้เกณฑ์กำกับปล่อยกู้มาตรฐานเดียวกับแบงก์เอกชนยาก
  • ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกล่าวว่า กระทรวงการคลังจะศึกษาข้อเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ประสงค์ที่จะลดความร้อนแรงในบางภาคธุรกิจ โดยการดำเนินการควบคุมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ซึ่งการออกมาตรการคุมสินเชื่อเฉพาะธนาคารพาณิชย์จะไม่ได้ผลเต็มที่ เพราะ SFIs ปล่อยสินเชื่อถึง 1 ใน 3 ของสินเชื่อทั้งหมด ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อของ SFIs ต่างจากธนาคารพาณิชย์ เพราะมีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากเป็นการปล่อยกู้รายย่อย การควบคุมสินเชื่อ SFIs คงจะใช้มาตรฐานมเดียวกับธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ ซึ่งกระทรวงการคลังขอศึกษาข้อเสนอของ ธปท. ให้ละเอียดอีกครั้งว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้กระทบกับการดำเนินการของ SFIs และการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อให้กับประชาชนและผู้ประกอบการผ่าน SFIs เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเสริมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ SFIs ยังมีบทบาทสำคัญด้านอื่นๆ เช่น มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและ SMEs ในการเพิ่มเครื่องมือในการค้ำประกันการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน การให้องค์ความรู้ทางการเงินและเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ รวมทั้งดำเนินมาตรการอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล โดยในปี 55 SFIs มียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 3.8 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลคิดเป็นร้อยละ 35.7 ของสินเชื่อรวม รองลงมา ได้แก่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเกษตรกรรมคิดเป็นร้อยละ 30.0 และ 16.6 ของสินเชื่อรวม และมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)จำนวน 159,349 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.6 ของสินเชื่อรวมซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย และเมื่อพิจารณาถึงความมั่นคงของ SFIs พบว่ายังสูงกว่าระดับที่ ธปท. กำหนด ซึ่งสามารถรองรับการขยายสินเชื่อได้ในอนาคต สะท้อนได้จาก BIS Ratio ของ SFIs เท่ากับร้อยละ 9.5 สูงกว่าเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนดที่ร้อยละ 8.5
2. เมย์แบงก์กิมเอ็งคาด GDP ปี 56 ขยายตัวร้อยละ4.5
  • บมจ. หลักทรัพย์ เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ BMKET กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 56 คาดว่าจะโตที่ระดับ 4.5 % เนื่องจากการส่งออกยังคงมีปัญหาต่อเนื่องจากเงินบาทแข็งค่า และมีความเสี่ยงค่อนข้างมากจากเงินทุนไหลเข้าพักฐานประเทศในระยะสั้น ในส่วนของการบริโภคในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอยู่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 56 สศค. คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.8 - 5.8) จากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐ ประกอบกับภาคการผลิตของอุตสาหกรรมหลายประเภทที่ฟื้นตัวเป็นปกติจากเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมายังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งยังเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนจากภาครัฐ เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ โครงการรับจำนำข้าวเปลือก และการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือร้อยละ 20 ในปี 2556 รวมถึงมาตรการภาครัฐในส่วนของมาตรการส่งเสริมการลงทุน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน เม.ย. 56 ของญี่ปุ่น ปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน เม.ย. 56 ของญี่ปุ่น อยู่ที่ระดับ 44.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 43.1 ทั้งนี้ ผลสำรวจข้อมูลดังกล่าวเน้นการสำรวจจากกลุ่มครัวเรือนทั่วไปและแสดงความเห็นเกี่ยวกับความเชื่อมั่นทางด้านรายได้และงานเป็นหลัก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคล่าสุดของญี่ปุ่นถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 31 เดือน และเป็นการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ซึ่งแสดงถึงมุมมองด้านบวกที่มีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายชิโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ซึ่งมีเป้าหมายต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง สะท้อนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือน มี.ค. 56 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่ร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA)ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่การใช้จ่ายจากรายได้ค่าจ้างที่ได้รับในเดือน มี.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ในส่วนของภาคการผลิตก็มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยล่าสุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในเดือน เม.ย. 56 ปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ที่ระดับ 51.1 จุด และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. 56 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.0 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 1.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ